คำวินิจฉัยที่ 10/2551

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๐/๒๕๕๑

วันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๑

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒)

ศาลจังหวัดอุบลราชธานี
ระหว่าง
ศาลปกครองนครราชสีมา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดอุบลราชธานีโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๐ นายเทียบ บรรจุแก้ว ที่ ๑ นางคำฟอง สุทธสนที่๒ นายภาดา ไหลประเสริฐ ที่ ๓ นายมงคล เทพสุวรรณวร ที่ ๔ นางสาวจันทร์เพ็ญ สายเมฆ ที่๕นายณรงค์ชัย นิมิตไชยาพงศ์ ที่ ๖ นางพรทิภา ธิวงศ์ ที่ ๗ โจทก์ยื่นฟ้องนายอภิชัย ศิริพาณิชย์เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี สาขาวารินชำราบ จำเลย ต่อศาลจังหวัดอุบลราชธานีเป็นคดี หมายเลขดำที่ ๖๗๘/๒๕๕๐ ความว่า โจทก์แต่ละคนเป็นผู้มีสิทธิครอบครองและผู้ถือครองที่ดินตามสำเนาภาพถ่ายแผนผังที่ดินท้ายฟ้อง โดยโจทก์ที่ ๑เป็นผู้ถือสิทธิครอบครองที่ดินมือเปล่า หมายเลขที่ ๒๐ โจทก์ที่ ๒ เป็นเจ้าของและถือครองที่ดินหมายเลข๑๒ โจทก์ที่ ๓ เป็นเจ้าของและ ถือครองที่ดิน หมายเลข ๒๙ โจทก์ที่ ๔ เป็นเจ้าของและถือครองที่ดิน หมายเลข๒๕โจทก์ที่ ๕ เป็นเจ้าของและถือครองที่ดิน หมายเลข ๒๗ โจทก์ที่ ๖ เป็นเจ้าของและถือครองที่ดินมือเปล่า หมายเลข๒๐/๑๖ และโจทก์ที่ ๗ เป็นเจ้าของและถือครองที่ดิน หมายเลข ๒๔ โดยถือครองต่อจากบิดาที่เสียชีวิต เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๔๒ โจทก์ทั้งเจ็ดยื่นคำร้องขอให้จำเลยในฐานะเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี สาขาวารินชำราบ ซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุมดูแลที่ดินว่างเปล่าและที่มีเอกสารสิทธิ รวมทั้งการทำเอกสารสิทธิและนิติกรรมให้แก่ประชาชนในเขตพื้นที่การปกครองอำเภอวารินชำราบโดยให้ออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ด จำเลยไปตรวจสอบรังวัดจนกระทั่งประกาศแจกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ด และประกาศการคัดค้าน ซึ่งหากมีผู้คัดค้านแล้วจำเลยก็จะต้องแจ้งให้โจทก์ทั้งเจ็ดทราบและต้องสอบสวนเปรียบเทียบและสั่งการหากปรากฏว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่พอใจก็จะต้องเสนอคดีต่อศาลภายใน ๖๐ วัน นับแต่วันที่มีการคัดค้าน แต่ในการประกาศแจกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ดนั้นไม่ปรากฏว่า มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน ดังนั้นจำเลยจึงต้องแจกเอกสารสิทธิโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ดตามระเบียบ โจทก์ทั้งเจ็ดได้ติดตามทวงถามให้จำเลยแจกโฉนดให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ดหลายครั้งแต่จำเลยเพิกเฉยไม่ยอมออกโฉนดที่ดินให้จนกระทั่งระยะเวลาล่วงเลยมาจนถึงปัจจุบัน ขอให้บังคับจำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ด
อนึ่ง ก่อนฟ้องคดีนี้ โจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๓ ได้ยื่นฟ้องเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี สาขาวารินชำราบต่อศาลปกครองนครราชสีมาในมูลพิพาทเดียวกัน เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๑๓/๒๕๔๙ ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ตามข้อ ๔๗ แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการใน ศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๓ เนื่องจากโจทก์ทั้งสามไม่ได้คัดค้านคำให้การและไม่แจ้งความประสงค์ให้ศาลพิจารณาคดีต่อไปภายในเวลาที่ศาลกำหนด
จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งเจ็ดไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์ทั้งเจ็ดมิได้เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองที่ดินและมิใช่ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามฟ้องที่ดินดังกล่าวอยู่ในที่ราชพัสดุแปลงที่สงวนหวงห้ามไว้ใช้ในราชการอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ การยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินของโจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๖ ช่างรังวัดไปรังวัดแล้วส่วนของโจทก์ที่ ๗ ไม่ปรากฏว่ามีการยื่นคำขอออกโฉนด ธนารักษ์พื้นที่อุบลราชธานีคัดค้านการออกโฉนดที่ดินตามคำขอของโจทก์ที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๖ อ้างว่า เป็นที่ราชพัสดุแปลงที่ ๒๙ ที่ได้ยื่นคำขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ไว้แล้ว ส่วนคำขอออกโฉนดที่ดินของโจทก์ที่ ๑ ที่๔และที่ ๕ ไม่มีหนังสือคัดค้าน แต่ผู้ปกครองท้องที่ผู้ร่วมระวังชี้แนวเขตที่ดินในขณะนั้นแจ้งว่าบริเวณดังกล่าว เป็นที่ดินที่ธนารักษ์จังหวัดอุบลราชธานีอ้างว่าเป็นที่ราชพัสดุแปลงที่ ๒๙ ธนารักษ์จังหวัดอุบลราชธานียื่นคำขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในที่ราชพัสดุแปลงหมายเลข๒๙ สำนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานีประกาศให้ผู้มีส่วนได้เสียคัดค้านเมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม๒๕๔๙ โจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ คัดค้านอ้างว่าได้ครอบครองและอาศัยอยู่ในที่ดินบริเวณดังกล่าวซึ่งแนวทางปฏิบัติในกรณีราษฎรขอออกหนังสือแสดงเอกสารสิทธิในที่ดินของรัฐนั้นให้จังหวัดนำเรื่องราวดังกล่าวเสนอต่อคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐประจำจังหวัด (กบรจังหวัด) เพื่อพิสูจน์สิทธิในที่ดินก่อน ตามหนังสือกรมที่ดิน ที่ มท ๐๗๑๙/๓๙๘๑๔ลงวันที่ ๒๓ธันวาคม ๒๕๔๐ ที่ มท ๐๕๑๖.๒/ ว ๑๙๔๗๓ ลงวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๔๗ประกอบหนังสือกระทรวงมหาดไทยที่ มท ๐๕๑๑.๔/ว ๒๔๓๔ ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๔๖ขณะนี้ยังไม่มีการนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการของ กบร.จังหวัดอุบลราชธานีแต่อย่างใด เนื่องจากปัญหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ราชพัสดุ แปลงที่ ๒๘ แปลงที่ ๒๙ และแปลงพิเศษ ที่กระทรวงการคลังโดยธนารักษ์จังหวัดอุบลราชธานีได้ยื่นคำขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงไว้แล้ว ตำแหน่งที่ดินอยู่บริเวณตำแหน่งเดียวกันกับที่โจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๖ ขอออกโฉนดที่ดิน และขณะนี้เรื่องราวอยู่ระหว่างดำเนินการซึ่งยังไม่ได้เป็นที่ยุติแต่อย่างใด จำเลยจึงไม่อาจออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ดได้และไม่มีโฉนดที่ดินที่จะส่งมอบให้กับโจทก์ทั้งเจ็ด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรอันเป็นคดีปกครอง ทั้งโจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๓ ได้นำมูลพิพาทในคดีนี้ไปฟ้องยังศาลปกครองนครราชสีมาเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๑๓/๒๕๔๙ คดีอยู่ระหว่างพิจารณา ข้อพิพาทในคดีนี้จึงอยู่อำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดอุบลราชธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ศาลจะมีคำขอบังคับให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ดได้นั้น จะต้องปรากฏข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่าโจทก์ทั้งเจ็ดมีสิทธิในที่ดินตามส่วนที่แต่ละคนกล่าวอ้างหรือไม่ ซึ่งข้อเท็จจริงนี้จำเลยยังโต้แย้งคัดค้านอยู่ข้ออ้างตามคำขอของโจทก์จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือเป็นการกระทำโดยไม่สุจริตหรือเป็นการใช้ดุลพินิจในการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยไม่ชอบ หรือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร และยังเป็นกรณีคดีพิพาทที่เกี่ยวกับวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองหรือคำสั่งทางปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ (๑) และ(๓) คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลปกครองนครราชสีมาพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้โจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๓ จะเคยนำมูลพิพาทในคดีนี้มาฟ้องต่อศาลปกครองนครราชสีมา เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๑๓/๒๕๔๙ แต่คดีดังกล่าวศาลสั่งจำหน่ายคดีเนื่องจากโจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๓ ไม่คัดค้านคำให้การภายในเวลาที่ศาลกำหนดก็ตามแต่ในคดีดังกล่าวปรากฏข้อเท็จจริงจากการไต่สวนของศาลปกครองนครราชสีมาในภายหลังว่าเหตุที่จำเลยไม่สามารถออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ดได้ ก็เพราะที่ดินแปลงพิพาทถูกคัดค้านจาก ธนารักษ์จังหวัดอุบลราชธานีว่าอยู่ในที่ราชพัสดุแปลงที่สงวนหวงห้ามไว้ใช้ในราชการอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะและในขณะเดียวกันโจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ได้ยื่นคำขอคัดค้านการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงของกระทรวงการคลัง โดยธนารักษ์จังหวัดอุบลราชธานี โดยอ้างว่าโจทก์ทั้งสามได้ครอบครองและอาศัยอยู่ในที่ดินดังกล่าว เพราะฉะนั้นแม้เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้จะสืบเนื่องมาจากการที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ดำเนินการออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ดตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ทั้งเจ็ดที่ฟ้องคดีต่อศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองและคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ทั้งเจ็ดเป็นสำคัญ ประกอบกับจำเลยให้การว่าที่ดินที่โจทก์ทั้งเจ็ดขอออกโฉนดที่ดินเป็นที่ดินบริเวณตำแหน่งเดียวกันกับที่ดินซึ่งกระทรวงการคลังโดยธนารักษ์จังหวัดอุบลราชธานียื่นคำขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ไว้แล้วเมื่อปี ๒๕๔๐ และดำเนินการรังวัดไปแล้วเมื่อวันที่๓๑ สิงหาคม ๒๕๔๗โดยจำเลยประกาศให้ผู้มีส่วนได้เสียคัดค้านตามระเบียบแล้ว ทั้งนี้ตามประกาศสำนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี สาขาวารินชำราบ เรื่องออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ประกาศ ณ วันที่๑๙ ธันวาคม ๒๕๔๙ ซึ่งก็ปรากฏว่าโจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ได้ยื่นคำร้องคัดค้านการออกหนังสือสำหรับที่หลวงโดยอ้างว่าได้ครอบครองและอาศัยอยู่ในบริเวณที่ดินดังกล่าว การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ทั้งเจ็ดโดยให้จำเลยดำเนินการออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ดได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ข้อเท็จจริงเสียก่อนว่า ที่พิพาท เป็นสิทธิของโจทก์ทั้งเจ็ดหรือไม่ กรณีโต้แย้งดังกล่าวจึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ทั้งนี้ เทียบเคียงได้กับคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ที่ ๖/๒๕๔๖

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้สรุปได้ว่า โจทก์ที่ ๑เป็นผู้ถือสิทธิครอบครองที่ดินมือเปล่า หมายเลขที่ ๒๐ โจทก์ที่ ๒ เป็นเจ้าของและถือครองที่ดินหมายเลข ๑๒ โจทก์ที่ ๓ เป็นเจ้าของและถือครองที่ดิน หมายเลข ๒๙ โจทก์ที่ ๔ เป็นเจ้าของและถือครองที่ดิน หมายเลข ๒๕ โจทก์ที่ ๕ เป็นเจ้าของและถือครองที่ดิน หมายเลข ๒๗ โจทก์ที่ ๖เป็นเจ้าของและถือครองที่ดินมือเปล่า หมายเลข ๒๐/๑๖ และโจทก์ที่ ๗ เป็นเจ้าของและถือครองที่ดิน หมายเลข ๒๔ โดยถือครองต่อจากบิดาที่เสียชีวิต ตามสำเนาภาพถ่ายแผนผังที่ดินท้ายฟ้องต่อมาปี ๒๕๔๒ โจทก์ทั้งเจ็ดยื่นคำร้องขอออกโฉนดที่ดินต่อจำเลย จำเลยตรวจสอบรังวัดจนกระทั่งประกาศแจกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ด และประกาศการคัดค้าน ซึ่งไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน จำเลยจึงต้องแจกเอกสารสิทธิโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ดตามระเบียบ แต่จำเลยเพิกเฉยไม่ยอมออกโฉนดที่ดินให้ ขอให้บังคับจำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ดจำเลยให้การว่า ที่ดินดังกล่าวอยู่ในที่ราชพัสดุแปลงที่สงวนหวงห้ามไว้ใช้ในราชการอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ การยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินของโจทก์ที่ ๑ถึงที่ ๖ ช่างรังวัดไปรังวัดแล้ว ส่วนของโจทก์ที่ ๗ ไม่ปรากฏว่ามีการยื่นคำขอออกโฉนด ธนารักษ์พื้นที่อุบลราชธานีคัดค้านการออกโฉนดที่ดินตามคำขอของโจทก์ที่ ๒ ที่ ๓ และที่๖ อ้างว่าเป็นที่ราชพัสดุแปลงที่ ๒๙ ที่ได้ยื่นคำขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ไว้แล้ว ส่วนคำขอออกโฉนดที่ดินของโจทก์ที่ ๑ ที่ ๔ และที่ ๕ ไม่มีหนังสือคัดค้าน แต่ผู้ปกครองท้องที่ผู้ร่วมระวังชี้แนวเขตที่ดินในขณะนั้นแจ้งว่าบริเวณดังกล่าวเป็นที่ดินที่ธนารักษ์จังหวัดอุบลราชธานีอ้างว่าเป็นที่ราชพัสดุแปลงที่ ๒๙ ธนารักษ์จังหวัดอุบลราชธานียื่นคำขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในที่ราชพัสดุแปลงหมายเลข ๒๙ และสำนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานีประกาศให้ผู้มีส่วนได้เสียคัดค้าน โจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ คัดค้านอ้างว่าได้ครอบครองและอาศัยอยู่ในที่ดินบริเวณดังกล่าว แนวทางปฏิบัติในกรณีราษฎรขอออกหนังสือแสดงเอกสารสิทธิในที่ดินของรัฐนั้นให้จังหวัดนำเรื่องราวดังกล่าวเสนอต่อคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐประจำจังหวัด (กบร.จังหวัด) เพื่อพิสูจน์สิทธิในที่ดินก่อนขณะนี้ยังไม่มีการนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการของ กบร.จังหวัดอุบลราชธานีแต่อย่างใด เนื่องจากปัญหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ราชพัสดุ แปลงที่๒๘ แปลงที่ ๒๙ และแปลงพิเศษ ที่กระทรวงการคลังโดยธนารักษ์จังหวัดอุบลราชธานีได้ยื่น คำขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงไว้แล้ว ตำแหน่งที่ดินอยู่บริเวณตำแหน่งเดียวกันกับที่โจทก์ที่ ๑ถึงที่ ๖ ขอออกโฉนดที่ดิน และขณะนี้เรื่องราวอยู่ระหว่างดำเนินการซึ่งยังไม่ยุติแต่อย่างใด จำเลยจึงไม่อาจออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ดได้ และไม่มีโฉนดที่ดินที่จะส่งมอบให้กับโจทก์ทั้งเจ็ดเห็นว่า การที่โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องขอให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินให้อ้างว่า ที่ดินพิพาทที่โจทก์ทั้งเจ็ดขอออก โฉนดที่ดินนั้น ตนมีสิทธิครอบครอง ทั้งจำเลยก็ได้ดำเนินการตามขั้นตอนในการออกโฉนดให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ดแล้ว แต่จำเลยกลับเพิกเฉยไม่ยอมออกโฉนดที่ดินให้ส่วนจำเลยให้การว่าจำเลยไม่อาจออกโฉนดที่ดินและไม่มีโฉนดที่ดินที่จะส่งมอบให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ด เพราะที่ดินดังกล่าวธนารักษ์จังหวัดอุบลราชธานีคัดค้านอ้างว่า อยู่ในที่ราชพัสดุแปลงที่สงวนหวงห้ามไว้ใช้ในราชการอันเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน และขอออกโฉนดสำหรับที่หลวงไว้แล้วเช่นกันแต่โจทก์ที่ ๑ ที่ ๒และที่๔ คัดค้าน ทั้งยังไม่มีการนำเรื่องขอออกโฉนดที่ดินของโจทก์ทั้งเจ็ดซึ่งยื่นคำขอตั้งแต่ปี๒๕๔๒ เข้าสู่กระบวนการของ กบร.จังหวัดอุบลราชธานีเพื่อพิสูจน์สิทธิในที่ดินแต่อย่างใด จึงเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งเจ็ดกล่าวอ้างว่า จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่ในการควบคุมดูแลที่ดินว่างเปล่าและที่มีเอกสารสิทธิ รวมทั้งการทำเอกสารสิทธิและนิติกรรมให้แก่ประชาชนละเลยไม่ยอมออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ดอันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายเทียบ บรรจุแก้ว ที่ ๑ นางคำฟอง สุทธสน ที่๒นายภาดา ไหลประเสริฐ ที่ ๓ นายมงคล เทพสุวรรณวร ที่ ๔ นางสาวจันทร์เพ็ญ สายเมฆ ที่ ๕นายณรงค์ชัย นิมิตไชยาพงศ์ ที่ ๖ นางพรทิภา ธิวงศ์ ที่ ๗ โจทก์ นายอภิชัย ศิริพาณิชย์ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี สาขาวารินชำราบ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) วิรัช ลิ้มวิชัย (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายวิรัช ลิ้มวิชัย) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ดิเรกพล วัฒนะโชติ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ดิเรกพล วัฒนะโชติ) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

คมศิลล์ คัด/ทาน

Share