แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓๔/๒๕๕๐
วันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๐
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลจังหวัดกระบี่
ระหว่าง
ศาลปกครองนครศรีธรรมราช
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดกระบี่โดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๒ วรรคสอง ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลหนึ่งไม่รับฟ้องเพราะเหตุว่าคดีอยู่ในอำนาจของอีกศาลหนึ่ง เมื่อมีการฟ้องคดีต่ออีกศาลหนึ่งแล้ว ศาลดังกล่าวเห็นว่าคดีนั้นไม่อยู่ในเขตอำนาจเช่นกัน
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๐ นายพงศ์พันธ์ สืบศิริวิริยะกุล โจทก์ ยื่นฟ้อง กรมที่ดิน ที่ ๑ อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๒ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ที่ ๓ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดกระบี่ ที่ ๔ จำเลย ต่อศาลจังหวัดกระบี่ เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๒๔๙/๒๕๕๐ ความว่า เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๓๘ โจทก์ทำสัญญาซื้อขายที่ดินมีแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค. ๑) เลขที่ ๑๒๘ หมู่ที่ ๗ ตำบลไสไทย อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ เนื้อที่ ๘ ไร่ จากนางหย้า หง้าฝา ซึ่งรับโอนมาจากนายทอง มีล่าม ผู้แจ้งการครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าว โดยโจทก์เข้าครอบครองและทำประโยชน์ตลอดมา เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๔๔ โจทก์ยื่นคำขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) ต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดกระบี่ เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัด สอบสวนและบันทึกถ้อยคำบุคคลที่เกี่ยวข้องแล้ว ปรากฏว่าสภาพและตำแหน่งที่ดินไม่ตรงตามหลักฐาน ส.ค. ๑ จำเลยที่ ๔ จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งต่อมามีการแก้ไขให้ถูกต้องเป็นที่ดิน ส.ค. ๑ เลขที่ ๑๒๘ ตั้งอยู่ที่หมู่ ๔ (๗) ตำบลคลองประสงค์ (ไสไทย) อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ และจำเลยที่ ๔ เสนอความเห็นต่อจำเลยที่ ๓ เห็นควรส่งเรื่องการออก น.ส. ๓ ก. ของโจทก์ให้คณะกรรมการตรวจพิสูจน์ที่ดินดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ คณะกรรมการตรวจพิสูจน์ที่ดินเห็นว่าสมควรออก น.ส. ๓ ก. ให้โจทก์ เนื่องจากตามหลักฐาน ส.ค. ๑ ระบุว่าที่ดินแปลงดังกล่าวได้มาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๕ โดยการสร้างเอง และพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ป่าคลองกระบี่ใหญ่และป่าคลองเหนือคลอง ในท้องที่ตำบลไสไทย ตำบลกระบี่ใหญ่ ตำบลกระบี่น้อย ตำบลคลองเขม้า อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ ให้เป็นป่าคุ้มครอง พ.ศ. ๒๔๙๕ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๔๙๕ (มีผลใช้บังคับภายหลังวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๔๙๖) จึงเป็นการครอบครองก่อนการกำหนดให้เป็นป่าคุ้มครอง และจากผลการแปลภาพถ่ายทางอากาศของผู้เชี่ยวชาญรับรอง ส.ค. ๑ เลขที่ ๑๒๘ ว่าถูกต้องตามทะเบียนการครอบครอง จึงไม่ทำให้เจ้าของที่ดินเสียสิทธิครอบครอง แต่นายสุกิจ มาศเมฆ กรรมการและเลขานุการตรวจพิสูจน์ที่ดินมีความเห็นแย้งว่าตามหลักฐาน ส.ค. ๑ ระบุการได้มาว่าสร้างเอง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการจับจองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๔๗๙ การแจ้ง ส.ค. ๑ ในเขตป่าคุ้มครองไม่ก่อให้เกิดสิทธิขึ้นใหม่แก่ผู้แจ้งและไม่สามารถนำ ส.ค. ๑ มาขอออก น.ส. ๓ ก. ได้ ตามความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมใหญ่) ในเรื่องหารือปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการออก น.ส. ๓ และการแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) ในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา จังหวัดสตูล เพื่อให้เกิดความรอบคอบและเป็นธรรมสมควรหารือกรมที่ดินก่อน จำเลยที่ ๔ มีความเห็นตามความเห็นดังกล่าวและเสนอความเห็นต่อจำเลยที่ ๓ แต่จำเลยที่ ๓ มีคำสั่งให้ดำเนินการออก น.ส. ๓ ก. ให้โจทก์ โดยสั่งการตามที่นายอำเภอเมืองกระบี่เสนอความเห็นว่า ข้อกฎหมายที่นายสุกิจฯ อ้างถูกยกเลิกแล้วโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ ทั้งการขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในเขตท้องที่อื่นๆ มีจำนวนมากราย ทุกแปลงไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานที่ดินยกข้อกฎหมายดังกล่าวขึ้นมาอ้างให้ผู้ขอเสียสิทธิ แต่จำเลยที่ ๔ มีคำสั่งให้ดำเนินการเพิ่มเติมในประเด็นที่ผลการอ่าน แปล ตีความและวิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศ ปรากฏว่าที่ดินที่ขอออก น.ส. ๓ ก. เป็นป่าชายเลนบางส่วน โจทก์เห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ ๔ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจึงร้องเรียนต่อจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ แต่จำเลยที่ ๒ มีคำสั่งว่าโจทก์ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทต่อเนื่องมาจากนายทองฯ จึงเป็นการครอบครองที่ดินโดยไม่มีสิทธิและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่อาจนำมาใช้เป็นหลักฐานในการออก น.ส. ๓ ก. ได้ และให้จำเลยที่ ๓ จำหน่าย ส.ค. ๑ เลขที่ ๑๒๘ ออกจากทะเบียน ต่อมาจำเลยที่ ๔ มีคำสั่งให้ยกเลิกคำขอออก น.ส. ๓ ก. ของโจทก์และให้จำหน่าย ส.ค. ๑ เลขที่ ๑๒๘ ออกจากทะเบียน โจทก์อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว จำเลยที่ ๓ ซึ่งมีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ มีคำสั่งให้จำหน่าย ส.ค. ๑ เลขที่ ๑๒๘ ซึ่งผู้แจ้งไม่มีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายออกจากทะเบียน โจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งจำเลยที่ ๓ ตามกฎหมาย แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ยังไม่มีคำสั่งใดๆ โจทก์จึงยื่นฟ้องจำเลยทั้งสี่ต่อศาลปกครองนครศรีธรรมราช ศาลปกครองนครศรีธรรมราชมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา เนื่องจากเห็นว่าคดีพิพาทเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม (คดีของศาลปกครองนครศรีธรรมราช หมายเลขดำที่ ๑๒/๒๕๕๐ หมายเลขแดงที่ ๒๕/๒๕๕๐)
ต่อมา โจทก์จึงฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดกระบี่เป็นคดีนี้ ขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๓ ที่ให้จำหน่าย ส.ค. ๑ ออกจากทะเบียนการครอบครองที่ดิน และคำสั่งของจำเลยที่ ๔ ที่ยกเลิกคำขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) และให้จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) ให้โจทก์ตามคำขอด้วย หากศาลพิพากษาไม่เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ดังกล่าว ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์จำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย เนื่องจากโจทก์เห็นว่านายทองฯ เข้าทำประโยชน์ในที่ดินในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ซึ่งตามพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๔๗๙ ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ถือว่าที่ดินที่นายทองฯ ครอบครองเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า และเป็นการครอบครองก่อนที่พระราชกฤษฎีกากำหนดป่าคลองกระบี่ใหญ่ – คลองเหนือคลองฯ จะมีผลใช้บังคับ ต่อมาเมื่อพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ ใช้บังคับ นายทองฯ ก็ได้แจ้งการครอบครองตามกฎหมาย ถือได้ว่านายทองฯ ครอบครองที่ดินรกร้างว่างเปล่าภายหลังพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ ๖)ฯ ใช้บังคับ แต่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ ใช้บังคับ และก่อนวันที่ทางราชการกำหนดให้ที่ดินบริเวณที่พิพาทนั้นเป็นป่าคุ้มครอง เพียงแต่นายทองฯ ไม่ได้ดำเนินการขอจับจองเพื่อรับใบเหยียบย่ำหรือตราจองที่เป็นใบอนุญาตให้ถูกต้อง ซึ่งตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๖ และกฎกระทรวงฉบับที่ ๑ (พ.ศ.๒๔๙๗) ข้อ ๑ นายทองฯ มีสิทธิขอรับโฉนดที่ดินได้ เมื่อมีการโอนการครอบครองต่อมาแก่โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธินำ ส.ค. ๑ เลขที่ ๑๒๘ ยื่นคำขอออก น.ส. ๓ ก. ได้ การที่จำเลยที่ ๓ มีคำสั่งจำหน่าย ส.ค. ๑ เลขที่ ๑๒๘ ออกจากทะเบียน และจำเลยที่ ๔ มีคำสั่งไม่ออก น.ส. ๓ ก. ให้แก่โจทก์ โดยให้ยกเลิกคำขอของโจทก์และให้จำหน่าย ส.ค. ๑ เลขที่ ๑๒๘ ออกจากทะเบียนตามคำสั่งของจำเลยที่ ๒ นั้น เป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ทำให้โจทก์เสียสิทธิในที่ดินแปลงดังกล่าว
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า โจทก์ครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำสั่งจำหน่าย ส.ค. ๑ ที่อยู่ในความครอบครองของโจทก์เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว จากการตรวจสอบที่ดินพิพาทอยู่ในเขตป่าคุ้มครองตามพระราชกฤษฎีกากำหนดป่าคลองกระบี่ใหญ่ – คลองเหนือคลอง ในท้องที่ตำบลไสไทย ตำบลกระบี่ใหญ่ ตำบลกระบี่น้อย ตำบลคลองเขม้า อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ ให้เป็นป่าคุ้มครอง พ.ศ. ๒๔๙๕ ซึ่งต่อมามีกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๓๕ (พ.ศ. ๒๕๑๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ กำหนดให้ท้องที่ดังกล่าวเป็นป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าคลองกระบี่ใหญ่ – คลองเหนือคลอง” ทั้งแปลง ซึ่งตามหลักฐาน ส.ค. ๑ เลขที่ ๑๒๘ ระบุว่านายทองฯ ผู้แจ้งการครอบครองเข้าครอบครองที่ดินตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๕ จึงเป็นการครอบครองทำประโยชน์ภายหลังวันที่พระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๔๗๙ ใช้บังคับ โดยไม่ปรากฏว่านายทองฯ ได้ขออนุญาตจับจองโดยมีหลักฐานตราจองหรือใบเหยียบย่ำให้ถูกต้องตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๔๗๙ นายทองฯ จึงไม่มีสิทธิในที่ดินดังกล่าวตามกฎหมาย ซึ่งจำเลยทั้งสี่ได้ปฏิบัติตามหนังสือของอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ลงวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๔๘ ตามแนวทางปฏิบัติในการตรวจสอบและพิจารณาที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเคยเป็นป่าคุ้มครองมาก่อน ตามข้อ ๒๒.๒ ระบุว่าถ้าได้มีการเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินภายหลังการใช้บังคับพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๔๗๙ โดยมิได้ขอจับจองตามมาตรา ๕ และมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ผู้ครอบครองไม่ได้ที่ดินนั้นตามประมวลกฎหมายที่ดิน และเมื่อได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ป่าคลองกระบี่ใหญ่ – คลองเหนือคลองฯ พ.ศ. ๒๔๙๕ ให้เป็นป่าคุ้มครอง ที่ดินบริเวณดังกล่าวจึงเป็นที่ดินที่ทางราชการสงวนไว้เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติย่อมเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินตามมาตรา ๑๓๐๔ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การครอบครองที่ดินที่มีประกาศให้เป็นป่าคุ้มครองของนายทองฯ ย่อมไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่นายทองฯ และเป็นการครอบครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้นายทองฯ จะแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิขึ้นใหม่แก่ผู้แจ้งการครอบครอง ตามมาตรา ๕ วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ ตามนัยความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ นร ๐๖๐๑/๒๒๓ ลงวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ การที่โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทต่อจากนายทองฯ จึงเป็นครอบครองที่ดินโดยไม่มีสิทธิและไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่อาจนำหลักฐาน ส.ค.๑ เลขที่ ๑๒๘ มาขอออก น.ส. ๓ ก. ได้ การปฏิบัติการของจำเลยทั้งสี่เป็นการสั่งการตามอำนาจหน้าที่และชอบด้วยกฎหมาย มิได้เป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์และไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ นอกจากนั้น โจทก์อุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ขณะนี้รัฐมนตรีฯ มีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ และแจ้งคำสั่งให้โจทก์ไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองนครศรีธรรมราชภายใน ๙๐ วัน นับแต่วันรับแจ้งหรือทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจศาลปกครอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสี่ต่อศาลยุติธรรม
ศาลจังหวัดกระบี่เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏทั้งจากเอกสารในสำนวนคดีและคำแถลงยอมรับของคู่ความทั้งสองฝ่ายตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลจังหวัดกระบี่ ฉบับลงวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๕๐ ในคดีแพ่งของศาลจังหวัดกระบี่ หมายเลขดำที่ ๒๔๙/๒๕๕๐ ว่าโจทก์ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) เลขที่ ๑๒๘ และ ส.ค. ๑ เลขที่ ๑๒๘ ดังกล่าว ถูกต้องตามทะเบียนการครอบครองที่ดิน ทั้งมีร่องรอยการทำประโยชน์ในที่ดินทางด้านทิศเหนือเป็นร่องรอยการทำนา ดังนั้น ข้อพิจารณาว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองในที่ดินหรือไม่จึงไม่เป็นประเด็นที่โต้แย้งกัน หากแต่ต้องพิจารณาประเด็นเกี่ยวกับการที่จำเลยทั้งสี่มีคำสั่งจำหน่าย ส.ค.๑ เลขที่ ๑๒๘ ของโจทก์ออกจากทะเบียน โดยอ้างเหตุผลซึ่งเป็นการตีความกฎหมายของจำเลยให้นำมาปรับใช้กับการขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินของโจทก์ ทั้งเป็นการนำกฎหมายที่ถูกยกเลิกแล้วมาใช้กับโจทก์เพียงรายเดียว โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๔ เคยนำมาเป็นเหตุผลดังกล่าวเพื่อยกคำขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในรายอื่นๆ ที่อยู่ข้างเคียงด้วย เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จึงเป็นข้อโต้เถียงว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินมีแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค. ๑) เลขที่ ๑๒๘ หมู่ที่ ๗ ตำบลไสไทย อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ โดยซื้อมาจากนางหย้า หง้าฝา ซึ่งรับโอนมาจากนายทอง มีล่าม ผู้แจ้งการครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าว โจทก์เห็นว่านายทองฯ ครอบครองที่ดินรกร้างว่างเปล่าภายหลังพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ ๖)ฯ ใช้บังคับ แต่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ ใช้บังคับ และก่อนวันที่ทางราชการกำหนดให้ที่ดินบริเวณที่พิพาทนั้นเป็นป่าคุ้มครอง โดยนายทองฯ ได้แจ้งการครอบครองตามกฎหมาย เพียงแต่ไม่ได้ดำเนินการขอจับจองเพื่อรับใบเหยียบย่ำหรือตราจองที่เป็นใบอนุญาตให้ถูกต้อง ซึ่งเป็นกรณีที่นายทองฯ มีสิทธิขอรับโฉนดที่ดินได้ตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๖ และกฎกระทรวงฉบับที่ ๑ (พ.ศ.๒๔๙๗) ข้อ ๑ เมื่อมีการโอนการครอบครองต่อมาจนถึงโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธินำ ส.ค. ๑ เลขที่ ๑๒๘ ดังกล่าว มายื่นคำขอออก น.ส. ๓ ก. ได้ โจทก์ยื่นคำขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) ต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดกระบี่ แต่จำเลยที่ ๒ ไม่ยอมออก น.ส. ๓ ก. ให้โดยมีคำสั่งว่าโจทก์ครอบครองที่ดินต่อเนื่องมาจากนายทองฯ จึงเป็นการครอบครองที่ดินโดยไม่มีสิทธิและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่อาจนำมาใช้เป็นหลักฐานในการออก น.ส. ๓ ก. ได้ และให้จำเลยที่ ๓ จำหน่าย ส.ค. ๑ เลขที่ ๑๒๘ ออกจากทะเบียน ต่อมาจำเลยที่ ๔ มีคำสั่งให้ยกเลิกคำขอออก น.ส. ๓ ก. ของโจทก์และให้จำหน่าย ส.ค. ๑ เลขที่ ๑๒๘ ออกจากทะเบียน การกระทำของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ดังกล่าวเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ทำให้โจทก์เสียสิทธิในที่ดิน ทั้งในการออกคำสั่งของจำเลยที่ ๒ ได้ยกข้อกฎหมายที่ไม่เคยใช้กับผู้ขอรายอื่นขึ้นอ้าง เป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมหรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบ ขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งที่ให้จำหน่าย ส.ค. ๑ ออกจากทะเบียน และคำสั่งยกเลิกคำขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) และให้จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) ให้แก่โจทก์ หากศาลพิพากษาไม่เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ดังกล่าว ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย พร้อมดอกเบี้ย จำเลยทั้งสี่ให้การว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตป่าคุ้มครอง ซึ่งต่อมามีกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๓๕ (พ.ศ. ๒๕๑๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ กำหนดให้ท้องที่ดังกล่าวเป็นป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าคลองกระบี่ใหญ่ – คลองเหนือคลอง” ทั้งแปลง นายทองฯ เข้าครอบครองที่ดินพิพาทภายหลังวันที่พระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๔๗๙ ใช้บังคับ โดยไม่ได้ขออนุญาตจับจองโดยมีหลักฐานตราจองหรือใบเหยียบย่ำให้ถูกต้องจึงไม่มีสิทธิในที่ดินดังกล่าวตามกฎหมาย ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินที่ทางราชการสงวนไว้เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติย่อมเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน การครอบครองที่ดินที่มีประกาศให้เป็นป่าคุ้มครองของนายทองฯ ย่อมไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่นายทองฯ และเป็นการครอบครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้นายทองฯ จะแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิขึ้นใหม่แก่ผู้แจ้งการครอบครอง การที่โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทต่อจากนายทองฯ จึงเป็นครอบครองที่ดินโดยไม่มีสิทธิและไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่อาจนำหลักฐาน ส.ค.๑ เลขที่ ๑๒๘ มาขอออก น.ส. ๓ ก. ได้ การปฏิบัติการของจำเลยทั้งสี่เป็นการสั่งการตามอำนาจหน้าที่และชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น การที่โจทก์อ้างว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทโดยชอบ แต่จำเลยทั้งสี่โต้แย้งว่าโจทก์ครอบครองที่ดินโดยไม่มีสิทธิและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตป่าคุ้มครอง จึงเป็นการโต้แย้งกันในเรื่องสิทธิในที่ดิน แม้เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้จะสืบเนื่องมาจากคำสั่งของฝ่ายปกครองที่ให้จำหน่าย ส.ค. ๑ ออกจากทะเบียน และยกเลิกคำขอออก น.ส. ๓ ก. ของโจทก์ แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ และให้จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ร่วมกันออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) แก่โจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทหรือไม่เป็นสำคัญ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายพงศ์พันธ์ สืบศิริวิริยะกุล โจทก์ กรมที่ดิน ที่ ๑ อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๒ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ที่ ๓ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดกระบี่ ที่ ๔ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(นายวิรัช ลิ้มวิชัย) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(พลโท ดิเรกพล วัฒนะโชติ) (พลโท อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
??
??
??
??
๖