แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓๓/๒๕๕๐
วันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๐
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)
ศาลแขวงสุรินทร์
ระหว่าง
ศาลปกครองนครราชสีมา
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแขวงสุรินทร์โดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๒ วรรคสอง ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลหนึ่งไม่รับฟ้อง เพราะเห็นว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง เมื่อมีการฟ้องคดีต่ออีกศาลหนึ่งแล้วศาลดังกล่าวเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจเช่นกัน
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๔๙ นายนิคม ประดุจชนม์ ที่ ๑ นายประวิทย์ ลักขษร ที่ ๒ โจทก์ยื่นฟ้องเทศบาลตำบลสังขะ ที่ ๑ นางกิ่งกาญจน์ พัวไพฑูรย์ ในฐานะนายกเทศมนตรีตำบลสังขะ ที่ ๒ นางกิ่งกาญจน์ พัวไพฑูรย์ ในฐานะส่วนตัว ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลแขวงสุรินทร์ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๘๕๙/๒๕๔๙ ความว่า โจทก์ทั้งสองประกอบอาชีพค้าขายรองเท้า เสื้อผ้าสำเร็จรูปและกระเป๋าอุปกรณ์นักเรียนโดยได้รับอนุญาตให้จำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะในตลาดสดเทศบาลตำบลสังขะ อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ ขณะเกิดเหตุคดีนี้ใบอนุญาตของโจทก์ทั้งสองยังมีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ ๒๘ และ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๔๙ ตามลำดับ เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๔๘ จำเลยที่ ๒ สั่งการให้เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ปิดประกาศของจำเลยที่ ๑ ที่ตลาดสดเทศบาลตำบลสังขะให้โจทก์ทั้งสองและพ่อค้าแม่ค้ารายอื่น ๆ ย้ายแผงค้าขายออกไปค้าขายที่อื่นเนื่องจากจำเลยที่ ๑ จะก่อสร้างตลาดสด ๒ ชั้น ต่อมาวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๔๙ จำเลยที่ ๒ สั่งการให้เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ เก็บสินค้าและทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสองที่วางจำหน่ายอยู่ในแผงและรื้อถอนร้านค้าที่โจทก์ทั้งสองก่อสร้างทำให้ทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย จากนั้นจำเลยที่ ๒ กับพวกได้นำสินค้าของโจทก์ทั้งสองไปเก็บไว้ที่ทำการของจำเลยที่ ๑ ทำให้โจทก์ทั้งสองสูญเสียรายได้ขาดประโยชน์จากการค้าขาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ ๑ จำนวน ๒๘๕,๗๔๙.๗๖ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีของต้นเงิน ๒๖๗,๒๖๔ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ ๒ จำนวน ๒๖๖,๐๔๖.๐๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีของต้นเงิน ๒๔๘,๘๓๕ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การว่า มูลคดีเป็นเรื่องความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ โจทก์ทั้งสองจึงฟ้องจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ได้ การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการกระทำโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย โจทก์ทั้งสองใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เนื่องจากจำเลยที่ ๑ เคยฟ้องโจทก์ทั้งสองกับพวกเป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดสุรินทร์เป็นคดีแพ่ง หมายเลขดำที่ ๙๖๘/๒๕๔๘ และจำเลยที่ ๑ กับโจทก์ทั้งสองได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ โดยโจทก์ทั้งสองยอมออกจากที่พิพาทด้วยความสมัครใจ การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นไปตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ และพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. ๒๕๓๕ จำเลยทั้งสามจึงมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง ค่าเสียหายสูงเกินความจริง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องว่า ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ทั้งสองเคยยื่นฟ้องจำเลยที่ ๓ ต่อศาลจังหวัดสุรินทร์เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๘๖๔/๒๕๔๙ และ ๘๖๕/๒๕๔๙ ในข้อหาบุกรุก ทำให้เสียทรัพย์ อันเป็นการยื่นฟ้องโดยอาศัยมูลเหตุอย่างเดียวกันกับที่โจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้ ซึ่งเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความชั่วคราวเพื่อรอให้ศาลที่มีหน้าที่พิจารณาคดีส่วนอาญามีคำพิพากษาศาลมีคำสั่งให้ยกคำร้อง โดยเห็นว่า แม้โจทก์ทั้งสองจะฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้อันเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาก็ตาม แต่เนื่องจากนอกจากจำเลยที่ ๓ แล้ว โจทก์ยังต้องบังคับให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ซึ่งไม่ได้เป็นคู่ความในคดีอาญาดังกล่าวด้วย
อนึ่ง ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ทั้งสองกับพวกรวม ๑๗ คน เป็นผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องเทศบาลตำบลสังขะ ผู้ถูกฟ้องคดี (จำเลยที่ ๑) ต่อศาลปกครองนครราชสีมา เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๒๘/๒๕๔๘ ความว่า ผู้ถูกฟ้องคดี (จำเลยที่ ๑) ได้ทำการก่อสร้างตลาดเทศบาลหลังใหม่ ผู้ถูกฟ้องคดี (จำเลยที่ ๑) ไม่ได้สอบถามความต้องการของผู้ที่ค้าขายอยู่เดิมแต่อย่างใด ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดี (จำเลยที่ ๑) ได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทั้งหมดและพ่อค้าแม่ค้าย้ายสถานที่ขายของไปขายยังสถานที่ขายของชั่วคราว ผู้ฟ้องคดีและพ่อค้าแม่ค้าบางรายยังไม่ได้ย้ายไปขายของยังที่ขายของชั่วคราว ผู้ฟ้องคดีทั้งหมดได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดี (จำเลยที่ ๑) ก่อสร้างตลาดเทศบาลหลังใหม่และการที่ต้องย้ายไปขายของยังที่ขายของชั่วคราว ขอให้นางกิ่งกาญจน์ พัวไพฑูรย์ (จำเลยที่ ๒) พ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลสังขะ ให้ผู้ถูกฟ้องคดี (จำเลยที่ ๑) รับผิดชอบการกระทำของนางกิ่งกาญจน์ (จำเลยที่ ๒) โดยให้ชดใช้ค่าเสียหายและค่าขาดรายได้ให้กับผู้ฟ้องคดีทั้งหมด และให้ยกเลิกการก่อสร้างตลาดเทศบาลขนาด ๒ ชั้น ศาลปกครองนครราชสีมามีคำสั่งรับคำฟ้องไว้พิจารณา ต่อมาผู้ฟ้องคดีบางคน (โจทก์ทั้งสองกับผู้ฟ้องคดีอีก ๒ คน) ได้ยื่นคำฟ้องเพิ่มเติมว่าเมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๔๙ นางกิ่งกาญจน์ (จำเลยที่ ๒) ปลัดเทศบาล เทศมนตรี สมาชิกสภาเทศบาลบางคนพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ประมาณ ๓๐ คน รื้อถอนร้านค้าของพ่อค้าแม่ค้าที่ยังขายของอยู่ที่เดิมและนำสินค้าไปที่เทศบาล ทำให้สินค้าชำรุดเสียหายและผู้ฟ้องคดีบางคน (โจทก์ทั้งสองกับผู้ฟ้องคดีอีก ๒ คน) ขาดรายได้ โดยในส่วนของโจทก์ที่ ๑ ได้รับความเสียหาย รวม ๑๐๔,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๒ ได้รับความเสียหาย รวม ๘๒,๕๐๐ บาท ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดี (จำเลยที่ ๑) ชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงเดียวกันกับคดีนี้ ศาลปกครองนครราชสีมาไม่รับคำฟ้องเพิ่มเติมไว้พิจารณา
ศาลปกครองนครราชสีมาพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ผู้ฟ้องคดีบางคน (โจทก์ทั้งสองกับผู้ฟ้องคดีอีก ๒ คน) ได้ยื่นคำฟ้องเพิ่มเติมว่าเมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๔๙ นางกิ่งกาญจน์ (จำเลยที่ ๒)ปลัดเทศบาล เทศมนตรี สมาชิกสภาเทศบาลบางคนพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ประมาณ ๓๐ คน รื้อถอนร้านค้าของพ่อค้าแม่ค้าที่ยังขายของอยู่ที่เดิมเอาสินค้าไปที่เทศบาลทำให้ทรัพย์สินชำรุดเสียหาย และผู้ฟ้องคดีบางคน (โจทก์ทั้งสองกับผู้ฟ้องคดีอีก ๒ คน) หมดอาชีพขาดรายได้ โดยในส่วนของผู้ฟ้องคดีที่ ๕ (โจทก์ที่ ๑) ได้รับความเสียหาย รวม ๑๐๔,๐๐๐ บาท ผู้ฟ้องคดีที่ ๘ (โจทก์ที่ ๒ ) ได้รับความเสียหาย รวม ๘๒,๕๐๐ บาท ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดี (จำเลยที่ ๑) ชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวนั้น ความเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ (โจทก์ทั้งสองกับผู้ฟ้องคดีอีก ๒ คน) ได้รับนั้น เกิดจากการที่นายกเทศมนตรีตำบลสังขะ (จำเลยที่ ๒) ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นและปลัดเทศบาลตำบลสังขะซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้พิจารณาใช้อำนาจตามมาตรา ๓๙ มาตรา ๔๔ มาตรา ๔๕ มาตรา ๔๖ และมาตรา ๕๐ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว เข้าดำเนินการรื้อถอนร้านค้าหรือสินค้าของพ่อค้าแม่ค้ารวมทั้งผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ที่ ๕ (โจทก์ที่ ๑) ที่ ๖ และที่ ๘ (โจทก์ที่ ๒) ที่ตั้งวางอยู่ในที่สาธารณะโดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๓๙ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งหลังจากที่ได้ทำการรื้อถอนดังกล่าวแล้วนายกเทศมนตรีตำบลสังขะ (จำเลยที่ ๒)ได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ ๕ (โจทก์ที่ ๑ ) ที่ ๖ และที่ ๘ (โจทก์ที่ ๒) ไปรับการเปรียบเทียบปรับแต่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ (โจทก์ทั้งสองกับผู้ฟ้องคดีอีก ๒ คน) ไม่ยินยอมไปเปรียบเทียบปรับซึ่งนายกเทศมนตรีตำบลสังขะ (จำเลยที่ ๒) จะต้องดำเนินคดีเพื่อฟ้องร้องต่อไป ตามมาตรา ๔๘ วรรคหนึ่ง และวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว การกระทำของนายกเทศมนตรีตำบลสังขะ (จำเลยที่ ๒) และปลัดเทศบาลตำบลสังขะจึงเป็นการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา มิใช่การกระทำทางปกครองหรือเป็นการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจทางปกครอง คำฟ้องเพิ่มเติมของผู้ฟ้องคดีจึงมิใช่คดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลแขวงสุรินทร์พิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากการที่ จำเลยที่ ๑ จะทำการก่อสร้างตลาดสดหลังใหม่ ประกาศให้ผู้ขายขนย้ายสิ่งของและทำการรื้อถอนขนย้ายทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสองที่วางขายในตลาดสดเดิม เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย โจทก์ทั้งสองจึงยื่นฟ้องขอบังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าทรัพย์สินเสียหายและค่าสูญเสียรายได้จากการขาดประโยชน์จากการค้าขายที่โจทก์ทั้งสองไม่สามารถเข้าไปจำหน่ายสินค้าตามที่ได้รับอนุญาตได้ ซึ่งค่าเสียหายในส่วนค่าขาดประโยชน์จากการค้าขายนั้นเกิดขึ้นเนื่องมาจากเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ นำแผงไม้มาปิดกั้นมิให้โจทก์ทั้งสองเข้าไปขายสินค้าได้ คดีนี้จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองมีอำนาจหน้าที่ในการจัดให้มีและควบคุมตลาด ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ มาตรา ๔๘ เตรส , ๕๑ (๓) และพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๖ (๓) การที่จำเลยที่ ๑ ดำเนินการตามโครงการพิพาทด้วยการดำเนินการปิดประกาศให้ผู้ค้าขายในตลาดสดเดิมย้ายที่ค้าขายและเข้าทำการปิดกั้นมิให้โจทก์ทั้งสองเข้าไปขายสินค้าเพื่อก่อสร้างตลาดสดแห่งใหม่ ถือได้ว่าเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายในการจัดให้มีตลาดและควบคุมตลาดดังกล่าว ดังนั้น เมื่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) จึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง ในส่วนค่าเสียหายอันเนื่องมาจากทรัพย์สินของโจทก์ได้รับความเสียหายเนื่องจากเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ เข้าทำการเก็บสินค้าและรื้อถอนแผงล็อคของโจทก์ทั้งสองโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. ๒๕๓๕ นั้น แม้การกระทำดังกล่าวเป็นการดำเนินการโดยอ้างว่าโจทก์ทั้งสองฝ่าฝืนมาตรา ๓๙ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะและกระทำการดังกล่าวก็สืบเนื่องมาจากการที่จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสองดำเนินการย้ายแผงค้าขายเนื่องจากจำเลยที่ ๑ จะก่อสร้างตลาดสด ๒ ชั้น แต่โจทก์ทั้งสองไม่ยินยอม จึงเป็นมูลความผิดที่เกี่ยวเนื่องกัน ดังนั้นค่าเสียหายในส่วนนี้จึงอยู่ในอำนาจศาลปกครองที่จะพิจารณาเช่นเดียวกัน ซึ่งแม้โจทก์ทั้งสองจะฟ้องขอบังคับให้จำเลยที่ ๓ ในฐานะส่วนตัวต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ด้วยก็ตาม แต่ก็เป็นการกระทำอันเนื่องมาจากจำเลยที่ ๓ กระทำในฐานะนายกเทศมนตรีตำบลสังขะและเป็นการกระทำอันเดียวกัน ดังนี้ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้สรุปได้ว่า โจทก์ทั้งสองได้รับอนุญาตให้จำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะในตลาดสดเทศบาลตำบลสังขะ จำเลยที่ ๒ สั่งการให้เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ปิดประกาศของจำเลยที่ ๑ ที่ตลาดสดเทศบาลตำบลสังขะให้โจทก์ทั้งสองและพ่อค้าแม่ค้ารายอื่น ๆ ย้ายแผงค้าขายออกไปค้าขายที่อื่นเนื่องจากจำเลยที่ ๑ จะก่อสร้างตลาดสด ๒ ชั้น ต่อมาจำเลยที่ ๒ สั่งการให้เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ เก็บสินค้าและทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสองที่วางจำหน่ายอยู่ในแผงและรื้อถอนร้านค้าที่โจทก์ทั้งสองก่อสร้างทำให้ทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย จากนั้นจำเลยที่ ๒ กับพวกได้นำสินค้าของโจทก์ทั้งสองไปเก็บไว้ที่ทำการของจำเลยที่ ๑ ทำให้โจทก์ทั้งสองขาดรายได้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสองพร้อมดอกเบี้ย จำเลยทั้งสามให้การว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นไปตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ และพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. ๒๕๓๕ เห็นว่า จำเลยที่ ๑ เป็นราชการส่วนท้องถิ่น มีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จำเลยที่ ๒ เป็นผู้แทนของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ กับเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นและพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. ๒๕๓๕ การที่จำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ ๑ สั่งการให้เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ปิดประกาศของจำเลยที่ ๑ ที่ตลาดสดให้โจทก์ทั้งสองและพ่อค้าแม่ค้ารายอื่น ๆ ย้ายแผงค้าขายออกไปค้าขายที่อื่นเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา ๓๙ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว แต่เมื่อโจทก์ทั้งสองกับผู้ค้ารายอื่นไม่ยอมย้ายออกไปค้าขายที่อื่น จำเลยที่ ๒ กับพวกจึงเก็บสินค้าและทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสองที่วางจำหน่ายอยู่ในแผงและรื้อถอนร้านค้าที่โจทก์ทั้งสองก่อสร้าง และมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทั้งสองและพ่อค้าแม่ค้ารายอื่นไปรับการเปรียบเทียบปรับ หากผู้กระทำผิดชำระค่าปรับตามที่เปรียบเทียบให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งเป็นไปตามที่มาตรา ๓๗ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดไว้ แต่หากไม่ชำระค่าปรับตามที่จำเลยที่ ๑ เปรียบเทียบให้ดำเนินคดีเพื่อฟ้องร้องผู้กระทำผิดต่อไป ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา ๔๔ วรรคหนึ่งและวรรคสอง เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้จึงเป็นการกระทำของจำเลยที่ ๒ กับพวก ซึ่งเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาประกอบพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. ๒๕๓๕ กำหนดอำนาจไว้ ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีนี้จึงไม่ใช่คดีปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายนิคม ประดุจชนม์ ที่ ๑ นายประวิทย์ ลักขษร ที่ ๒ โจทก์ เทศบาลตำบลสังขะ ที่ ๑ นางกิ่งกาญจน์ พัวไพฑูรย์ ในฐานะนายกเทศมนตรีตำบลสังขะ ที่ ๒ นางกิ่งกาญจน์ พัวไพฑูรย์ ในฐานะส่วนตัว ที่ ๓ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) วิรัช ลิ้มวิชัย (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายวิรัช ลิ้มวิชัย) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท ดิเรกพล วัฒนะโชติ ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ดิเรกพล วัฒนะโชติ) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
คมศิลล์ คัด/ทาน