คำวินิจฉัยที่ 31/2550

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓๑/๒๕๕๐

วันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๐

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดชลบุรี
ระหว่าง
ศาลปกครองระยอง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดชลบุรีโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๒ วรรคสอง ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลหนึ่งไม่รับฟ้อง เพราะเหตุว่าคดีอยู่ในอำนาจของอีกศาลหนึ่ง เมื่อมีการฟ้องคดีต่ออีกศาลหนึ่งแล้ว ศาลดังกล่าวเห็นว่าคดีนั้นไม่อยู่ในอำนาจเช่นกัน

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๔๙ นายธนาพงศ์ ใจการุณย์ ในฐานะผู้จัดการมรดกและทายาทโดยธรรมของร้อยโท พรหมมา ใจการุณย์ โจทก์ ยื่นฟ้อง กรมที่ดิน ที่ ๑ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี ที่ ๒ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาศรีราชา ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลจังหวัดชลบุรี เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๘๐๕/๒๕๔๙ ความว่า โจทก์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของร้อยโท พรหมมาฯ เจ้ามรดกซึ่งเดิมเป็นเจ้าของที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิตั้งอยู่ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี จำนวน ๕ แปลง เนื้อที่ ๓๒๑ ไร่เศษ ทำประโยชน์ในที่ดินมาตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ.๒๔๙๕ และตลอดมา จนเกิดเหตุคดีนี้ ในปี พ.ศ.๒๕๒๑ ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา และตำบลบางละมุง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี พ.ศ. ๒๕๒๑ เพื่อเวนคืนที่ดินในการสร้างท่าเรือน้ำลึกและกิจการอื่นซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการท่าเรือแห่งประเทศไทยปรากฏว่า ที่ดินพิพาทแปลงดังกล่าวของร้อยโท พรหมมาฯ อยู่ในเขตประกาศการเวนคืนดังกล่าว ซึ่งต่อมาการท่าเรือฯ ได้เข้าครอบครองที่พิพาทของร้อยโท พรหมมาฯ ทั้งห้าแปลง แต่ไม่จ่ายค่าชดเชยที่ดิน ค่าพืชผลและค่าสิ่งปลูกสร้าง ร้อยโท พรหมมาฯ จึงยื่นฟ้องการท่าเรือฯ ต่อศาลยุติธรรม ศาลยุติธรรม (ศาลฎีกา) มีคำพิพากษาที่ ๔๐๘๙/๒๕๓๒ ให้ร้อยโท พรหมมาฯ (โจทก์) เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินทั้งห้าแปลงดังกล่าวและให้การท่าเรือฯ จ่ายค่าทดแทนค่าพืชผลและค่าสิ่งปลูกสร้างให้ร้อยโท พรหมมาฯ การท่าเรือฯ จึงจ่ายค่าทดแทน ค่าพืชผลและค่าสิ่งปลูกสร้าง แต่มิได้จ่ายค่าชดเชยที่ดินพิพาทให้ เพราะร้อยโท พรหมมาฯ ยังไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดินแปลงดังกล่าว เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓ ร้อยโท พรหมมาฯ จึงยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินพิพาททั้งห้าแปลง ณ สำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาศรีราชา สำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาศรีราชา ส่งเรื่องการขอโฉนดที่ดินดังกล่าวไปยังคณะกรรมการประสานการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐส่วนจังหวัดชลบุรี (กบร.ส่วนจังหวัดชลบุรี) ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ พ.ศ. ๒๕๓๕ เนื่องจากเจ้าพนักงานที่ดินเห็นว่าที่ดินของร้อยโท พรหมมาฯ อยู่ในเกณฑ์ที่จะออกโฉนดได้ แต่ที่ดินตั้งอยู่ในเขตพระราชกฤษฎีกาสงวนหวงห้ามในท้องที่ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งต่อมา กบร.ส่วนจังหวัดชลบุรีมีมติในการประชุม ครั้งที่ ๒/๒๕๔๔ ว่า ร้อยโท พรหมมาฯ เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาก่อนการสงวนหวงห้ามเป็นที่ดินของรัฐจึงมีสิทธิขอออกโฉนดที่ดินได้ แต่จำเลยที่ ๓ กลับมีหนังสือแจ้งต่อ กบร.ส่วนจังหวัดชลบุรีว่า การครอบครองที่ดินของร้อยโท พรหมมาฯ เป็นการครอบครองภายหลังจากพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ ๖ ) พ.ศ. ๒๔๗๙ ใช้บังคับโดยมิได้ขอจับจอง ร้อยโท พรหมมาฯ จึงไม่ได้สิทธิในที่ดินและที่ดินแปลงดังกล่าวยังคงเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทที่รกร้างว่างเปล่าตามมาตรา ๑๓๐๔ (๑) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อมีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาสงวนหวงห้ามที่ดินของกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. ๒๔๙๗ ที่ดินดังกล่าวจึงกลายเป็นที่หวงห้าม การครอบครองที่ดินต่อมาไม่ทำให้เกิดสิทธิแต่ประการใด อีกทั้ง เมื่อประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ ร้อยโท พรหมมาฯ ก็มิได้แจ้งการครอบครอง (สค.๑) ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ กรณีจึงต้องตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง ปัญหาการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์และการแจ้งการครอบครองที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา จังหวัดสตูล ที่วินิจฉัยว่าการครอบครองทำประโยชน์ภายหลังการใช้บังคับพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๔๗๙ โดยมิได้จับจอง ผู้ครอบครองไม่ได้ที่ดินนั้นตามประมวลกฎหมายที่ดิน การชี้แจงของจำเลยที่ ๓ ดังกล่าวทำให้ กบร.ส่วนจังหวัดชลบุรีเห็นชอบด้วย จำเลยที่ ๓ จึงมีหนังสือแจ้งร้อยโท พรหมมาฯ ว่าไม่สามารถออกโฉนดที่ดินให้แก่ร้อยโท พรหมมาฯ และมีคำสั่งยกเลิกคำขอออกโฉนดดังกล่าว ร้อยโท พรหมมาฯ จึงอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของจำเลยที่ ๓ และต่อมาจำเลยที่ ๒ มีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ โดยเห็นว่าการยกเลิกคำขอออกโฉนดที่ดินตามคำสั่งของจำเลยที่ ๓ ถูกต้องแล้ว ร้อยโท พรหมมาฯ จึงฟ้องจำเลยทั้งสามต่อศาลปกครองกลาง ศาลปกครองกลางมีคำสั่งโอนคดีไปยังศาลปกครองระยอง แต่ศาลปกครองระยองมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา โดยเห็นว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ระหว่างเตรียมการฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรม ร้อยโท พรหมมาฯ ถึงแก่กรรม โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกและทายาทโดยธรรมเห็นว่า คำสั่งยกเลิกคำขอออกโฉนดที่ดินของจำเลยที่ ๓ และคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นธรรม และเป็นการเลือกปฏิบัติ เนื่องจากที่ดินพิพาทสามารถออกโฉนดที่ดินได้ตามประมวลกฎหมายที่ดิน แต่ทางราชการมิได้เปิดโอกาสให้ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว ที่ดินพิพาทมิได้กลายเป็นที่รกร้างว่างเปล่าตามที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ วินิจฉัยไว้ การที่จำเลยทั้งสามปฏิเสธที่จะออกโฉนดที่ดินเป็นการโต้แย้งสิทธิของร้อยโท พรหมมาฯ ทำให้เสียสิทธิในที่ดินโดยไม่ได้รับค่าชดเชยจากการเวนคืนดังกล่าว ทั้งกรณีนี้จำเลยได้ออกโฉนดให้ราษฎรที่มีที่ดินอยู่ในเขตสงวนหวงห้ามของกระทรวงมหาดไทยตามพระราชกฤษฎีกาฯ ไปแล้วหลายราย จึงเป็นการเลือกปฏิบัติ และกรณีพิพาทนี้ร้อยโท พรหมมาฯ จำต้องขอออกโฉนดที่ดินเพื่อนำไปเป็นหลักฐานขอรับค่าชดเชยจากการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกและทายาทโดยธรรมของร้อยโท พรหมมาฯ จึงยื่นฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดชลบุรี ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันออกโฉนดที่ดินพิพาทจำนวน ๓๒๑ ไร่ ๕๒ ตารางวา ให้แก่ร้อยโท พรหมมาฯ
จำเลยทั้งสามให้การว่า ร้อยโท พรหมมาฯ ไม่ใช่เจ้าของและไม่ได้สิทธิครอบครอง ที่ดินทั้งห้าแปลงมีสภาพเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทที่รกร้างว่างเปล่าตามมาตรา ๑๓๐๔ (๑) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และปัจจุบันบริเวณดังกล่าวได้มีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา และตำบลบางละมุง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี พ.ศ. ๒๕๒๑ เพื่อประโยชน์ของรัฐ (การท่าเรือแห่งประเทศไทย) ในการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังและกิจการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับท่าเรือน้ำลึกดังกล่าว ซึ่งอยู่ในที่ราชพัสดุแปลงเลขที่ ๖๖๕ ตามบัญชีแนบท้ายพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ข้างต้น ที่ดินทั้งห้าแปลงจึงไม่อาจนำไปออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ใดได้ จำเลยทั้งสามในฐานะผู้มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
ได้กระทำตามอำนาจหน้าที่เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของรัฐตามกฎหมาย ที่ดินที่ร้อยโท พรหมมาฯ ขอออกโฉนดที่ดินเป็นที่สาธารณสมบัติแผ่นดิน รัฐสามารถเวนคืนได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าทดแทน กรณีไม่เป็นละเมิดต่อร้อยโท พรหมมาฯ และโจทก์ คดีขาดอายุความ
ระหว่างพิจารณา จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คำฟ้องของโจทก์เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยการออกคำสั่งหรือการกระทำอื่นใด ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดชลบุรีเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การปรากฏว่าได้มีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา และตำบลบางละมุง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี พ.ศ. ๒๕๒๑ และที่ดินพิพาทนี้อยู่ในเขตที่ดินในบริเวนที่ถูกเวนคืนดังกล่าว โจทก์ก็ฟ้องคดีนี้โดยอ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการกระทำของจำเลยทั้งสาม เนื่องจากร้อยโท พรหมมาฯ เจ้าของมรดก ยื่นคำร้องขอออกโฉนดที่ดินที่พิพาทเพื่อนำไปเป็นหลักฐานรับเงินค่าทดแทนการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ แต่ทางราชการปฏิเสธไม่ยอมออกโฉนดที่ดิน ทำให้ร้อยโท พรหมมาฯ เสียสิทธิในที่ดินของตนให้แก่การท่าเรือแห่งประเทศไทยโดยมิได้รับค่าตอบแทน ขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสามร่วมกันพิจารณาออกโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่ร้อยโท พรหมมาฯ กรณีเห็นได้ว่าเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว ถือเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลปกครองระยองเห็นว่า คดีนี้แม้โจทก์จะฟ้องและขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันออกโฉนดที่ดินให้แก่ร้อยโท พรหมมาฯ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการรับเงินทดแทนการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ แต่ประเด็นพิพาทแห่งคดีมิใช่กรณีที่โจทก์ไม่พอใจจำนวนเงินค่าทดแทนการเวนคืนหรือเห็นว่าการเวนคืนที่ดินไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยเหตุตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นประเด็นที่ว่าโจทก์มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินที่ถูกเวนคืนหรือไม่ ซึ่งนำมาสู่การยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินของโจทก์ในคดีนี้ ดังนั้น การที่ศาลจะวินิจฉัยหรือมีคำบังคับตามคำขอของโจทก์ อันเป็นประเด็นพิพาทในคดีนี้ได้นั้น ศาลจำเป็นต้องวินิจฉัยให้เป็นที่ยุติเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นสิทธิของร้อยโท พรหมมาฯ หรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน อันเป็นการพิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องกรมที่ดิน ที่ ๑ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี ที่ ๒ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาศรีราชา ที่ ๓ จำเลย ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องสรุปได้ว่า โจทก์อ้างว่า เดิมร้อยโท พรหมมาฯ เป็นเจ้าของที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิตั้งอยู่ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี จำนวน ๕ แปลง เนื้อที่ ๓๒๑ ไร่เศษ ทำประโยชน์ในที่ดินมาตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ.๒๔๙๕ ต่อมามีการประกาศใช้พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา และตำบลบางละมุง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี พ.ศ. ๒๕๒๑ ที่ดินแปลงดังกล่าวของร้อยโท พรหมมาฯ อยู่ในเขตประกาศการเวนคืนซึ่งการท่าเรือฯ ได้เข้าครอบครองที่ดินของร้อยโท พรหมมาฯ ทั้งห้าแปลง แต่ไม่จ่ายค่าชดเชยที่ดิน ค่าพืชผลและค่าสิ่งปลูกสร้าง ร้อยโท พรหมมาฯ จึงยื่นฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรม ศาลยุติธรรม (ศาลฎีกา) มีคำพิพากษาที่ ๔๐๘๙/๒๕๓๒ ให้ร้อยโท พรหมมาฯ (โจทก์) เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินทั้งห้าแปลงและให้การท่าเรือฯ จ่ายค่าทดแทนค่าพืชผลและค่าสิ่งปลูกสร้างให้ร้อยโท พรหมมาฯ การท่าเรือฯ จึงจ่ายค่าทดแทน ค่าพืชผลและค่าสิ่งปลูกสร้าง แต่มิได้จ่ายค่าชดเชยที่ดิน เนื่องจากเป็นที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ร้อยโท พรหมมาฯ จึงยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินพิพาททั้งห้าแปลง ณ สำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาศรีราชา สำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาศรีราชา ส่งเรื่องการขอโฉนดที่ดินดังกล่าวไปยังคณะกรรมการประสานการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐส่วนจังหวัดชลบุรี (กบร.ส่วนจังหวัดชลบุรี) ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ พ.ศ. ๒๕๓๕ แต่จำเลยที่ ๓ มีหนังสือแจ้ง กบร.ส่วนจังหวัดชลบุรีว่า การครอบครองที่ดินของร้อยโท พรหมมาฯ เป็นการครอบครองภายหลังจากพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ ๖ ) พ.ศ. ๒๔๗๙ ใช้บังคับโดยมิได้ขอจับจอง ร้อยโท พรหมมาฯ จึงไม่ได้สิทธิในที่ดินและที่ดินแปลงดังกล่าวยังคงเป็นที่สาธารณสมบัติแผ่นดินประเภทที่รกร้างว่างเปล่าตามมาตรา ๑๓๐๔ (๑) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อมีประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาสงวนหวงห้ามที่ดินของกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. ๒๔๙๗ ที่ดินดังกล่าวจึงกลายเป็นที่หวงห้าม การครอบครองที่ดินต่อมาไม่ทำให้เกิดสิทธิแต่ประการใด ทั้งเมื่อประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ ร้อยโท พรหมมาฯ ก็มิได้แจ้งการครอบครอง (สค.๑) ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ ผู้ครอบครองไม่ได้ที่ดินนั้นตามประมวลกฎหมายที่ดิน การชี้แจงของจำเลยที่ ๓ ทำให้ กบร.ส่วนจังหวัดชลบุรีเห็นชอบด้วย และจำเลยที่ ๓ มีหนังสือแจ้งร้อยโท พรหมมาฯ ว่าไม่สามารถออกโฉนดที่ดินให้แก่ร้อยโท พรหมมาฯ และมีคำสั่งยกเลิกคำขอออกโฉนดดังกล่าว ร้อยโท พรหมมาฯ อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของจำเลยที่ ๓ ซึ่งต่อมาจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์มีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ โดยเห็นว่าการยกเลิกคำขอออกโฉนดที่ดินตามคำสั่งของจำเลยที่ ๓ ถูกต้องแล้ว ระหว่างเตรียมการฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรม (ศาลจังหวัดชลบุรี) ร้อยโท พรหมมาฯ ถึงแก่กรรม โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกและทายาทโดยธรรมของร้อยโท พรหมมาฯ เห็นว่า คำสั่งยกเลิกคำขอออกโฉนดที่ดินของจำเลยที่ ๓ และคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นธรรม และเป็นการเลือกปฏิบัติ ที่ดินพิพาทสามารถออกโฉนดที่ดินได้ตามประมวลกฎหมายที่ดิน แต่ทางราชการมิได้เปิดโอกาสให้ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว ที่ดินพิพาทมิได้กลายเป็นที่รกร้างว่างเปล่าตามที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ วินิจฉัยไว้ การที่จำเลยทั้งสามปฏิเสธที่จะออกโฉนดที่ดินเป็นการโต้แย้งสิทธิของร้อยโท พรหมมาฯ ทำให้เสียสิทธิในที่ดินโดยไม่ได้รับค่าชดเชยจากการเวนคืนดังกล่าว ทั้งกรณีนี้ได้มีการออกโฉนดให้ราษฎรที่มีที่ดินอยู่ในเขตสงวนหวงห้ามของกระทรวงมหาดไทยตามพระราชกฤษฎีกาฯ ไปแล้วหลายรายจึงเป็นการเลือกปฏิบัติ และกรณีพิพาทนี้ร้อยโท พรหมมาฯ จำต้องขอออกโฉนดที่ดินเพื่อนำไปเป็นหลักฐานขอรับค่าชดเชยจากการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันออกโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่ร้อยโท พรหมมาฯ ส่วนจำเลยทั้งสามให้การว่า ร้อยโท พรหมมาฯ ไม่ใช่เจ้าของและไม่ได้สิทธิครอบครอง ที่ดินพิพาทมีสภาพเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน เห็นว่า แม้เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากคำสั่งของฝ่ายปกครองที่ปฏิเสธไม่ออกโฉนดที่ดินให้แก่ร้อยโท พรหมมาฯ ซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้จำเลยทั้งสามร่วมกันออกโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่ร้อยโท พรหมมาฯ ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของร้อยโท พรหมมาฯ หรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินตามที่จำเลยทั้งสามโต้แย้งเป็นสำคัญ ทั้งมิใช่กรณีที่โจทก์ฟ้องคดีโดยอ้างว่าการเวนคืนที่ดินไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่พอใจจำนวนเงินค่าทดแทนพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๐ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายธนาพงศ์ ใจการุณย์ ในฐานะผู้จัดการมรดกและทายาทโดยธรรมของร้อยโท พรหมมา ใจการุณย์ โจทก์ กรมที่ดิน ที่ ๑ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี ที่ ๒ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาศรีราชา ที่ ๓ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วิรัช ลิ้มวิชัย (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายวิรัช ลิ้มวิชัย) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ดิเรกพล วัฒนะโชติ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ดิเรกพล วัฒนะโชติ) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
??

??

??

??

Share