แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓๒/๒๕๕๐
วันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๐
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)
ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๔๘ นายพงศ์สินธ์ วรวัฒนปรีชา โจทก์ ยื่นฟ้องนายณรงค์ จิตต์แก้ว ที่ ๑ นายสุรชัย บินสุมาลี ที่ ๒ นางสาวอนัญพร สนิทม่วง ที่ ๓ กรมการขนส่งทางบก ที่ ๔ นางสุธีวรรณ ศรีสุข ที่ ๕ นายนราวุธ ภิรมย์เชย ที่ ๖ นายปิยะนันท์ จิรวงศ์ ที่ ๗ จำเลย ต่อศาลแพ่งเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๙๑๒/๒๕๔๘ ความว่า โจทก์ประกอบอาชีพซื้อขายรถยนต์มือสอง จำเลยที่ ๕ ถึงที่ ๗ เป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๔ จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ต้องการขายรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์ รุ่นเอส ๓๒๐ แอล ซึ่งไม่มีใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ให้โจทก์ โดยจำเลยที่ ๑ ปลอมหมายเลขตัวถัง หมายเลขเครื่องยนต์ และหมายเลขทะเบียนของรถยนต์คันดังกล่าวให้เหมือนกับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ฐย ๔๘๒๔ กรุงเทพมหานคร ซึ่งมียี่ห้อ รุ่น และสีเดียวกัน มีใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์เป็นชื่อของจำเลยที่ ๑ และจดทะเบียนไว้กับจำเลยที่ ๔ โดยถูกต้องตามกฎหมาย แล้วจำเลยที่ ๑ มอบอำนาจให้จำเลยที่ ๒ แจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจและดำเนินการขอคัดใบแทนคู่มือจดทะเบียนเล่มใหม่กับจำเลยที่ ๔ โดยอ้างว่าใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์คันที่จดทะเบียนไว้ถูกต้องสูญหาย เพื่อจะนำไปใช้เป็นใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์คันที่จะขายให้โจทก์ เมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๔๗ นายทะเบียนขนส่งกรุงเทพมหานครมีหนังสือสอบถามจำเลยที่ ๑ ว่ามอบอำนาจให้จำเลยที่ ๒ ขอคัดใบแทนคู่มือจดทะเบียนรถยนต์และได้รับใบแทนดังกล่าวแล้วหรือไม่ แต่จำเลยที่ ๑ ไม่ได้แจ้งให้นายทะเบียนขนส่งกรุงเทพมหานครทราบ ต่อมาวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๔๗ จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ สมคบกันยื่นเรื่องขอโอนชื่อในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์คันที่จะขายให้โจทก์เป็นชื่อของจำเลยที่ ๓ การรับจดทะเบียนรถยนต์คันดังกล่าวจำเลยที่ ๕ ถึงที่ ๗ สมคบกับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ โดยมิได้ปฏิบัติตามระเบียบเกี่ยวกับการโอนและการตรวจสภาพรถยนต์ของจำเลยที่ ๔ จำเลยที่ ๕ ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลการดำเนินการเกี่ยวกับการโอนทะเบียนรถยนต์อนุมัติการโอน โดยมิได้ตรวจสอบเรื่องการสอบถามเกี่ยวกับใบแทนคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ของนายทะเบียนขนส่งกรุงเทพมหานคร ส่วนจำเลยที่ ๖ และที่ ๗ ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสภาพรถยนต์มิได้ตรวจสอบรถยนต์ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในระเบียบของจำเลยที่ ๔ และจำเลยที่ ๗ อนุมัติให้รถยนต์ผ่านการตรวจสอบโดยไม่ตรงกับความเป็นจริง ต่อมาวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๔๗ จำเลยที่ ๓ ให้นายหน้านำรถยนต์คันดังกล่าวไปขายให้โจทก์ โจทก์ตรวจสอบกับกองทะเบียนของจำเลยที่ ๔ แล้วว่ารถยนต์คันดังกล่าวถูกต้องตามเล่มใบแทนคู่มือจดทะเบียนรถยนต์จึงหลงเชื่อว่าเป็นรถยนต์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย และรับซื้อไว้จากจำเลยที่ ๓ แต่ในช่วงบ่ายวันเดียวกันจำเลยที่ ๑ แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๔ ว่ามิได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ ๒ ไปขอออกใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์แทนเล่มเดิมที่สูญหายไปและแจ้งอายัดการโอนรถยนต์คันที่โจทก์รับซื้อไว้ ต่อมาวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๔๗ โจทก์นำรถยนต์คันที่รับซื้อไว้จากจำเลยที่ ๓ ไปโอนทางทะเบียนเป็นชื่อของโจทก์ แต่โอนไม่ได้เนื่องจากจำเลยที่ ๑ แจ้งอายัดไว้ โจทก์จึงร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่าจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ร่วมกันฉ้อโกงทรัพย์ พนักงานสอบสวนยึดรถยนต์คันที่โจทก์ซื้อจากจำเลยที่ ๓ ไปตรวจพิสูจน์พบว่าบริเวณหมายเลขตัวถังและหมายเลขเครื่องยนต์มีการแก้ไขและมีการพ่นสีใหม่ การกระทำของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ ๕ ถึงที่ ๗ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๔ ปฏิบัติหน้าที่เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ ๔ จึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ด้วย ขอให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ไม่เคยรู้จักจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ มาก่อน จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของรถยนต์ ยี่ห้อเบนซ์ คันหมายเลขทะเบียน ฐย ๔๘๒๔ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๔๗ จำเลยที่ ๑ ไปพบเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๔ จึงทราบว่าจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ปลอมลายมือชื่อของจำเลยที่ ๑ ในหนังสือมอบอำนาจ สำเนาประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านเพื่อนำไปดำเนินการขอออกใบแทนคู่มือจดทะเบียนรถยนต์และโอนทะเบียนรถยนต์ โดยจำเลยที่ ๑ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง จำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ ให้การว่า จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ ๕ ถึงที่ ๗ ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตตามระเบียบของจำเลยที่ ๔ โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ความเสียหายที่โจทก์ได้รับมิได้เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๕ ถึงที่ ๗ ให้รับผิดจากการกระทำประมาทไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามระเบียบของจำเลยที่ ๔ จำเลยที่ ๔ ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดจึงต้องร่วมรับผิดด้วย เป็นการฟ้องคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
โจทก์ยื่นคำชี้แจงว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดร่วมกับบุคคลภายนอก คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลแพ่งเห็นว่า มูลคดีพิพาทเกี่ยวกับคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๕ ถึงที่ ๗ ซึ่งเป็นข้าราชการในหน่วยงานของจำเลยที่ ๔ กระทำละเมิดเนื่องจากการใช้อำนาจตามกฎหมายเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงเป็นการฟ้องคดีพิพาทเกี่ยวกับการทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลปกครองกลางเห็นว่า แม้โจทก์จะฟ้องว่าจำเลยที่ ๕ ถึงที่ ๗ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดจากการใช้โอกาสที่ตนเองมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการออกใบแทนคู่มือจดทะเบียนและ
จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์คันพิพาทโดยมิได้ปฏิบัติตามระเบียบของจำเลยที่ ๔ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายก็ตาม แต่เนื้อหาแห่งประเด็นพิพาทเป็นเรื่องที่สืบเนื่องมาจากการกระทำของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ที่โจทก์อ้างว่าได้ดำเนินการปลอมหมายเลขตัวถังและหมายเลขเครื่องยนต์ของรถยนต์คันที่ซื้อขายมาตั้งแต่แรก และมีลักษณะเป็นการสมคบกันระหว่างจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๗ คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๗ จึงเป็นกรณีพิพาทที่มีมูลความแห่งคดีเดียวกัน ซึ่งในการวินิจฉัยถึงความรับผิดของจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ ว่าได้กระทำละเมิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือไม่ ศาลจำต้องพิจารณาถึงการกระทำของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ก่อนแล้วจึงจะพิจารณาถึงการกระทำของจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ เนื่องจากเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกัน ประกอบกับเมื่อพิจารณาถึงความเสียหายที่โจทก์ได้รับรวมถึงความประสงค์ที่จะได้รับการเยียวยาตามคำขอท้ายฟ้อง เห็นได้ว่าโจทก์มีความมุ่งหมายใช้สิทธิทางศาลเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย โดยไม่ได้มีประเด็นโต้แย้งเกี่ยวกับการขอให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าหน้าที่ของรัฐ คดีนี้จึงมีลักษณะเป็นเพียงการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการถูกกระทำละเมิดซึ่งในการพิจารณาถึงความรับผิดของจำเลยแต่ละคนสมควรต้องพิจารณาไปในคราวเดียวกัน คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกัน จำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและจำเลยที่ ๕ ถึงที่ ๗ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๔ ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องสรุปได้ว่า จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ร่วมกันปลอมหมายเลขตัวถังและหมายเลขเครื่องยนต์ของรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์ของจำเลยที่ ๑ คันหนึ่งให้ตรงกับหมายเลขตัวถังและหมายเลขเครื่องยนต์ของรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์อีกคันหนึ่งของจำเลยที่ ๑ และสมคบกันยื่นขอโอนทะเบียนรถยนต์คันที่จะขายให้โจทก์ให้แก่จำเลยที่ ๓ โดยจำเลยที่ ๑ มอบอำนาจให้จำเลยที่ ๒ แจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจและดำเนินการขอคัดใบแทนคู่มือจดทะเบียนเล่มใหม่กับจำเลยที่ ๔ เพื่อจะนำไปใช้เป็นคู่มือจดทะเบียนรถยนต์คันที่จะขายโดยอ้างว่าคู่มือจดทะเบียนรถยนต์คันที่จดทะเบียนไว้ถูกต้องสูญหาย การรับจดทะเบียนรถยนต์คันดังกล่าวจำเลยที่ ๕ ถึงที่ ๗ สมคบกับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ โดยมิได้ปฏิบัติตามระเบียบเกี่ยวกับการโอนและการตรวจสภาพรถยนต์ของจำเลยที่ ๔ ทำให้จำเลยที่ ๓ นำรถยนต์คันที่ไม่มีใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ไปขายให้โจทก์ โจทก์ไม่สามารถโอนชื่อในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์เป็นชื่อโจทก์ได้เนื่องจากจำเลยที่ ๑ แจ้งอายัดไว้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ไม่มีส่วนรู้เห็นการหลอกลวงขายรถยนต์คันที่ไม่มีใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ให้โจทก์ จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ ให้การว่า จำเลยที่ ๕ ถึงที่ ๗ ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตตามระเบียบของจำเลยที่ ๔ โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้เกิดจากการที่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ร่วมกันปลอมหมายเลขเครื่องยนต์และหมายเลขตัวถังแล้วหลอกลวงขายรถยนต์คันที่ไม่มีใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ให้โจทก์ คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ จึงเป็นกรณีพิพาทระหว่างเอกชนด้วยกันซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ส่วนคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ แม้โจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยที่ ๕ ถึงที่ ๗ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ ๕ ถึงที่ ๗ สมคบกับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ โดยการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์จากจำเลยที่ ๑ เป็นจำเลยที่ ๓ เป็นการกระทำที่สืบเนื่องจากการปลอมหมายเลขเครื่องยนต์และหมายเลขตัวถังรถยนต์คันที่ไม่มีใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์แล้วขายให้โจทก์ของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ มูลความแห่งคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ จึงเป็นกรณีที่มีมูลความแห่งคดีเดียวกันกับคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ กรณีจึงชอบที่จะได้ดำเนินกระบวนพิจารณาที่ศาลเดียวกัน เพื่อให้คำพิพากษาเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ดังนั้น คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมเช่นเดียวกัน
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายพงศ์สินธ์ วรวัฒนปรีชา โจทก์ นายณรงค์ จิตต์แก้ว ที่ ๑ นายสุรชัย บินสุมาลี ที่ ๒ นางสาวอนัญพร สนิทม่วง ที่ ๓ กรมการขนส่งทางบก ที่ ๔ นางสุธีวรรณ ศรีสุข ที่ ๕ นายนราวุธ ภิรมย์เชย ที่ ๖ นายปิยะนันท์ จิรวงศ์ ที่ ๗ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) วิรัช ลิ้มวิชัย (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายวิรัช ลิ้มวิชัย) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท ดิเรกพล วัฒนะโชติ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ดิเรกพล วัฒนะโชติ) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
??
??
??
??
๕