แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ป.ลูกจ้างจำเลยนำถังแก๊สไปตั้งและต่อเข้าเตาแก๊สจนกระทั่งแก๊สพุ่งออกจากถังไปติดเปลวไฟที่เตาถ่าน น.เจ้าของบ้านซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย การมีเตาถ่านที่กำลังต้มน้ำอยู่ห่างประมาณ 1 เมตรแต่ น. ไม่ได้บอกให้ ป. ระมัดระวัง ก็เพราะโดยปกติการเปิดฝาครอบถังแก๊สเพื่อต่อแก๊สเข้าเตานั้นแก๊สจะไม่พุ่งออกจากถัง และเตาถ่านก็อยู่ห่างพอควร ไม่มีอะไรที่จะเป็นเหตุให้ น. จะต้องระมัดระวัง การที่ ป. เปิดฝาครอบถังแก๊สแล้วแก๊สพุ่งออกซึ่งเป็นการผิดปกติธรรมดาอันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของ ป. ทำให้แก๊สพุ่งไปติดเปลวไฟที่เตาถ่านแล้วไฟลุกไหม้ขึ้น ไหม้บ้าน น. ทรัพย์สินที่ น.เอาประกันภัยไว้กับโจทก์เสียหาย น. จึงไม่มีส่วนประมาทด้วย จำเลยจึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ซึ่งได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้รับประโยชน์ไปแล้ว ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 64,766.67 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 120,650 บาท พร้อมดอกเบี้ย โจทก์จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “พิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์จำเลยโดยตลอดแล้วข้อยุติฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยเฟอร์นิเจอร์เครื่องตกแต่งและของใช้ต่าง ๆ ที่เก็บไว้ ณ บ้านเลขที่ 288/2-3 ถนนศรีจันทร์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นบ้านของนายนำ เหงี่ยน จำนวนเงินที่เอาประกันภัย 200,000 บาท นายนำ เหงี่ยน เป็นผู้เอาประกันภัยธนาคารกสิกรไทย จำกัด เป็นผู้รับประโยชน์ตามเอกสารหมาย จ.2 เมื่อวันที่22 พฤศจิกายน 2522 นายปอลูกจ้างของจำเลยกระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้เกิดไฟไหม้บ้านนายนำ เหงี่ยนทรัพย์สินในบ้าน 17 รายการเสียหายดังโจทก์นำสืบ จำเลยในฐานะนายจ้างจะต้องรับผิดร่วมกับนายปอในผลแห่งการละเมิดนั้น โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยตรวจสอบและประเมินค่าเสียหายแล้วเห็นว่าทรัพย์สินทั้ง 17 รายการเป็นทรัพย์ที่เอาประกันภัยรวมค่าเสียหายสามแสนกว่าบาท ซึ่งเกินจำนวนเงินที่เอาประกันภัยจึงจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ธนาคารกสิกรไทย จำกัด ผู้รับประกันภัยไปแล้ว 200,000 บาท โจทก์จึงเป็นผู้รับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880
เบื้องแรกจะพิจารณาฎีกาของจำเลยก่อนว่า นายนำ เหงี่ยน ผู้เอาประกันภัยมีส่วนร่วมในความประมาทเลินเล่อกับนายปอหรือไม่ ในปัญหาดังกล่าวนายนำ เหงี่ยน เบิกความว่า เมื่อนายปอนำรถยนต์มาจอดที่หน้าบ้านเอาถังแก๊สลงจากรถยนต์ แล้วกลิ้งถังแก๊สแบบไม่ระมัดระวังทำให้ฝาครอบแก๊สหมุนเอียงไปเล็กน้อย นายปอกลิ้งถังแก๊สไปที่ครัวใกล้เตาแก๊สแล้วตั้งถังแก๊ส ขณะหมุนฝาครอบแก๊สเพื่อจะต่อกับสายเข้าเตาแก๊สวาวหมุนตามไปด้วยทำให้แก๊สพุ่งออกมา ขณะนั้นกำลังต้มน้ำที่เตาถ่านอยู่ห่างถังแก๊สประมาณ 1 เมตร ไอแก๊สพุ่งไปที่เตาถ่านทำให้เกิดไฟลุกขึ้นเป็นเหตุให้ไฟไหม้บ้านและทรัพย์สินเสียหายตามฟ้อง จำเลยมิได้นำสืบหักล้างความข้อนี้ ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าคำเบิกความของนายนำ เหงี่ยน มิได้ขัดกับเหตุผลแต่ประการใดเชื่อได้ว่าความจริงเป็นดังนายนำ เหงี่ยน เบิกความเห็นว่าการกระทำตั้งแต่นำถังแก๊สลงจากรถยนต์บรรทุกนำไปตั้งใกล้เตาแก๊สและดำเนินการต่อแก๊สเข้าเตาแก๊สจนกระทั่งแก๊สพุ่งออกมาจากถังไปติดเปลวไฟที่เตาถ่าน นายนำ เหงี่ยน ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเลย การที่มีเตาถ่านที่กำลังต้มน้ำอยู่ห่างประมาณ 1 เมตร แต่นายนำ เหงี่ยน ไม่ได้บอกให้นายปอระมัดระวังนั้น เห็นว่า โดยปกติธรรมดาการเปิดฝาครอบครองถังแก๊สเพื่อจะดำเนินการต่อแก๊สเข้าเตาแก๊สนั้นแก๊สจะไม่พุ่งออกจากถัง และเตาถ่านก็อยู่ห่างถังแก๊สประมาณ 1 เมตร ซึ่งเป็นระยะห่างพอควรไม่มีอะไรที่จะเป็นเหตุให้นายนำ เหงี่ยน จะต้องระมัดระวัง ฉะนั้นการที่นายปอลูกจ้างจำเลยเปิดฝาครอบถังแก๊สพุ่งออก ซึ่งเป็นการผิดปกติธรรมดาอันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของนายปอ ทำให้แก๊สพุ่งไปติดเปลวไฟที่เตาถ่านแล้วไปลุกไหม้ขึ้นเช่นนี้ นายนำ เหงี่ยน จึงไม่มีส่วนประมาทด้วย ฎีกาจำเลยขอนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อต่อไปนี้เรื่องค่าสินไหมค่าทดแทน ซึ่งโจทก์ฎีกาว่าศาลอุทธรณ์กำหนดให้น้อยกว่าค่าเสียหายที่โจทก์ประเมิน ฝ่ายจำเลยก็ฎีกาว่าศาลอุทธรณ์กำหนดค่าสินไหมทดแทนให้มากไป ที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ชอบแล้ว ในปัญหาข้อนี้โจทก์ฎีกาในข้อกฎหมายอ้างว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 877 วรรคสอง บัญญัติว่า จำนวนเงินที่เอาประกันภัยไว้นั้นสันนิษฐานไว้ก่อนเป็นหลักประมาณอันถูกต้องในการตีราคาจำนวนวินาศภัย ทั้งจำเลยไม่มีพยานหักล้างพยานโจทก์ในเรื่องค่าเสียหาย ต้องถือว่าการประเมินค่าเสียหายของโจทก์ชอบแล้วนั้น เห็นว่า บทกฎหมายที่โจทก์อ้างเป็นเพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้น มิใช่บทบังคับที่จะต้องถือตามว่าจำนวนเงินที่เอาประกันภัยเป็นการตีราคาจำนวนวินาศภัยอันถูกต้องเสมอไป ทั้งกรมธรรม์ประกันภัย เอกสารหมาย จ.2 ข้อ 11.1 ยังกำหนดไว้ว่า ค่าสินไหมทดแทนแม้ว่าในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จะมีความเป็นอย่างอื่นก็ตามให้ตกลงกันว่า จำนวนเงินเอาประกันภัยที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้คือขีดกำหนดค่าสินไหมทดแทน ซึ่งบริษัทประกันภัยรับผิดชอบและไม่จำเป็นต้องถือว่าเป็นราคาอันแท้จริงของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้ ฉะนั้น เมื่อมีกรณีพิพาทเกิดขึ้นศาลมีอำนาจและหน้าที่ที่จะพิจารณาหาจำนวนวินาศภัยอันแท้จริงที่ผู้รับประกันภัยจะต้องชดใช้ค่าสินไหมแทนแก่ผู้เอาประกันภัยได้เงื่อนไขไม่เกินวงเงินที่เอาประกันภัย ทั้งศาลยังมีอำนาจกำหนดค่าสินไหมให้ตามราคาแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 ด้วย สำหรับค่าเสียหายรายการที่ 1 ตามฟ้องระบุว่าค่าผ้าชนิดต่าง ๆ ราคา 114,600 บาท นายนำ เหงี่ยน ผู้เอาประกันภัยเบิกความว่าอยู่บ้านที่เกิดเพลิงไหม้มา 4 ปี และเปิดเป็นร้านตัดเสื้อก่อนเกิดเหตุ 2 เดือน และเบิกความอธิบายเรื่องผ้าว่าเป็นผ้าหลายสิบพับรวมทั้งผ้าที่ลูกค้านำมาสั่งตัดด้วย ผ้ามีหลายชนิดเช่นผ้าจอร์เจีย รวมราคา 100,000 บาท นางสาวเยาวนุชก็เบิกความทำนองเดียวกัน เห็นว่าจากคำเบิกความของพยานทั้งสองปากนี้ไม่ปรากฏเลยว่าผ้าหลายสิบพันนั้นเป็นผ้าจอรจ์เจียกี่พับราคาพับละเท่าไร ผ้าอื่น ๆ เป็นชนิดอะไรบ้าง ราคาพับละเท่าไรเพราะผ้าแต่ละชนิดย่อมจะมีราคาแตกต่างกันไปตามคุณภาพของผ้านั้น ๆ จึงไม่สามารถพิจารณาค่าเสียหายที่แท้จริงจากคำเบิกความของพยานดังยกขึ้นกล่าวได้ แต่เชื่อว่าได้ถูกไฟไหม้เสียหายจริง เห็นสมควรกำหนดค่าสินไหมทดแทนรายการที่ 1 ให้เท่าที่ศาลชั้นต้นกำหนดคือ 30,000 บาท ส่วนค่าเสียหายรายการอื่น ๆ จากคำเบิกความของนายอาวุธ ร้อยตำรวจเอกพรหม นายดาบตำรวจจรูญ ซึ่งต่างก็ไปตรวจความเสียหายภายหลังจากเพลิงไหม้แล้ว แต่ไม่เคยเห็นทรัพย์สินที่เอาประกันภัยก่อนเพลิงไหม้ จึงไม่ทราบสภาพของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยมาก่อนว่ามีสภาพเก่าใหม่อย่างไร คุณภาพของทรัพย์สินเหล่านั้นเป็นอย่างไร การประเมินค่าเสียหายของพยานดังกล่าวจึงฟังเป็นยุติยังไม่ได้ จากคำเบิกความของนายนำ เหงี่ยน ปรากฏว่าทรัพย์สินที่เสียหายเหล่านั้นเป็นของเก่าก็มี ใหม่ก็มี ราคาทรัพย์สินเสียหายคิดขณะที่ซื้อมาเป็นเงินสด ซึ่งก็มิได้เบิกความให้ชัดแจ้งว่าทรัพย์สินรายการไหนเป็นของเก่ารายการไหนเป็นของใหม่ ใช้มานานเท่าไร แต่เมื่อพิจารณาคำเบิกความของนายนำ เหงี่ยน ที่ว่าอยู่บ้านที่เกิดเพลิงไหม้มา 4 ปีแล้วและเพิ่งเปิดร้านตัดเสื้อผ้าก่อนเกิดเพลิงไหม้ 2 เดือน ประกอบรายการทรัพย์สินที่เสียหายตามฟ้องทุกรายการเว้นแต่รายการที่ 5 โต๊ะสำหรับรองตัดเสื้อผ้า 2 โต๊ะแล้ว เป็นเครื่องเฟอร์นิเจอร์และของใช้ต่าง ๆ ในบ้านเรือนทั้งสิ้น ซึ่งพอประมาณเอาได้ว่าเป็นของที่ใช้มาแล้วประมาณ 4 ปี คือนายนำ เหงี่ยน ซื้อมาพร้อมกับเข้ามาอยู่ในบ้านนี้เป็นธรรมดาของที่ใช้แล้วเช่นนี้ ย่อมจะมีความว่า การชำรุดการเสื่อมราคาไปตามกาลเวลาที่ใช้ เห็นว่า ศาลอุทธรณ์พิจารณากำหนดค่าเสียหายทรัพย์สินที่เอาประกันภัยรายการอื่น ๆ ตามฟ้อง นอกจากรายการที่ 1 เหมาะสมกับราคาขณะเพลิงไหม้แล้ว
พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ รวมเป็นเงิน100,650 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 6 มกราคม 2523 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ”