คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2675/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องความว่า ที่ดินตามโฉนดทั้งสามฉบับจะ ต้องตกได้แก่โจทก์ทั้งสามตามลำดับตามคำสั่งของนางผิวจำเลยขอยืมโฉนดที่ดินดังกล่าวไปจากนายเงินผู้จัดการมรดกเพื่อนำไปค้ำประกันเงินกู้ จำนอง และจำนำต่อธนาคารและเอกชนแล้วไม่คืนให้ดังนี้ ที่ดินตามโฉนดดังกล่าวเป็นมรดก ของนางผิวนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นทายาทกับ นายเงินซึ่งเป็นผู้จัดการมรดก มีความผูกพันกันในฐานะตัวการกับตัวแทน เมื่อนายเงินซึ่งเป็นตัวแทนให้จำเลยยืมโฉนดที่ดินไป แล้วไม่เรียกคืน โจทก์ซึ่งเป็นตัวการย่อมมีสิทธิติดตามและเอาโฉนดที่ดินคืนจากจำเลยได้โจทก์จึง มีอำนาจฟ้อง แม้ที่ดินที่นางผิวจดทะเบียนรับโอนมรดกจากนายเชยเป็น สินสมรสระหว่างนายเงินกับนางผิว แต่นางผิวได้สั่งด้วย วาจาแบ่งที่ดินให้บุตรทั้งแปดคนโดยกำหนดว่าที่ดินแปลงใดและตอนใดได้แก่บุตรคนใด โดยสั่งไว้ก่อนนางผิวถึงแก่กรรมกว่า 10 ปี โดยความเห็นชอบของนายเงินจาก นั้นบุตรทุกคนต่างเข้าครองที่ดินส่วนของตนตลอดมาโจทก์ทั้งสามจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนที่ได้รับแบ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 เมื่อที่ดินซึ่งโจทก์ทั้งสามครอบครองอยู่ตรงกับโฉนดเลขที่ 15338,15339และ 8104 ตามลำดับ นายเงินก็ไม่มีสิทธิโอนที่ดินตามโฉนดดังกล่าวให้แก่จำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสาม จำเลย นายประยุทธ นางทองใบ นางทองปลิว และนายณรงค์ เป็นบุตรนายเงินและนางผิว นางผิวถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2509 มีมรดกอันเป็นสินส่วนตัวซึ่งได้รับมาจากนายเชยและนางชุ่มผู้เป็นบิดามารดา เมื่อ พ.ศ. 2474 คือที่ดินโฉนด 3 แปลง รวมเนื้อที่ 15 ไร่13 ตารางวา ก่อนถึงแก่กรรม นางผิวได้มีคำสั่งให้จัดการแบ่งที่ดินดังกล่าวแก่บุตรทุกคน โดยระบุไว้ชัดเจนว่าที่ดินแปลงใด ตอนไหน ได้แก่บุตรคนใดเมื่อนางผิวถึงแก่กรรมศาลแพ่งได้มีคำสั่งเมื่อ พ.ศ. 2510 ตั้งให้นายเงินเป็นผู้จัดการมรดก นายเงินดำเนินการแบ่งที่ดินมรดกออกเป็นแปลงย่อย ๆตามแนวเขตและแผนผังที่นางผิวชี้และสั่งไว้ ที่ดินซึ่งโจทก์ทั้งสามครอบครองอยู่ตรงกับที่ดินโฉนดเลขที่ 15338, 15339 และ 8104 ตามลำดับ นายเงินยังไม่ได้โอนให้แก่โจทก์ทั้งสาม แต่เป็นที่รู้และยอมรับด้วยกันทุกคนว่าที่ดินดังกล่าวจะต้องตกได้แก่โจทก์ทั้งสาม ซึ่งโจทก์ทั้งสามได้เข้าครอบครองโดยสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเป็นเวลา 10 ปี และเก็บค่าเช่าตลอดมา ภายหลังจำเลยขอยืมโฉนดที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวจากนายเงิน เพื่อนำไปค้ำประกันเงินกู้ จำนอง และจำนำต่อธนาคารและเอกชน เพื่อเป็นเครดิตในทางการค้าของจำเลย โดยโอนใส่ชื่อจำเลยเป็นการชั่วคราว ทั้งนี้โจทก์มิได้ยินยอมและมิได้รู้เห็นเกี่ยวกับการกระทำของนายเงินกับจำเลย ประมาณเดือนมิถุนายน 2520 โจทก์ทราบการกระทำดังกล่าว จำเลยเซ็นชื่อในบันทึกลงวันที่ 18 มิถุนายน 2520 ยอมรับว่าได้ยืมโฉนดดังกล่าวเพื่อนำไปค้ำประกันการจำนองจริงและรับว่าจะคืนให้ แต่แล้วก็บ่ายเบี่ยงเรื่อยมา ขอให้จำเลยโอนชื่อและส่งมอบโฉนดเลขที่ 15338,15339 และ 8104 ให้แก่โจทก์ทั้งสามตามลำดับโดยปราศจากภารติดพัน

จำเลยให้การว่า ที่ดินทั้งหมดตามฟ้อง มิใช่สินส่วนตัวของนายผิวแต่เป็นสินสมรสระหว่างนายเงินกับนางผิว นางผิวไม่เคยมีคำสั่งให้จัดการแบ่งที่ดินแก่บุตรที่ดินดังกล่าวจึงเป็นมรดกของนางผิวเพียงหนึ่งในสามส่วนอีกสองในสามเป็นสินสมรส ส่วนของนายเงิน และนายเงินมีสิทธิได้รับมรดกของนางผิวในฐานะที่เป็นทายาทด้วย นายเงินจึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินรวมทั้ง 10 ไร่ 1 งาน 47 เศษ 17 ส่วน 27 ตารางวา ดังนั้น นายเงินจึงมีสิทธิยกที่ดิน 6 แปลง ซึ่งมีเนื้อที่ 8 ไร่ 1 งาน 84 ตารางวาให้จำเลยโดยเสน่หาได้ โจทก์หลอกลวงให้จำเลยเซ็นชื่อในบันทึกข้อตกลง โจทก์ทั้งสามไม่เคยเก็บค่าเช่าหรือเข้าครอบครองที่ดินตามที่โจทก์ฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยโอนโฉนดที่ดินเลขที่ 15338, 15339 และ 8104 ให้โจทก์ทั้งสามตามลำดับ โดยปราศจากการผูกพัน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาข้อแรกที่จำเลยฎีกาว่า คดีนี้โจทก์กล่าวหาว่านายเงินผู้จัดการมรดกกระทำผิดหน้าที่ โจทก์จึงชอบที่จะฟ้องนายเงิน การที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นการฟ้องผิดตัว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น โจทก์บรรยายฟ้องความว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 18338, 15339 และ 8104 จะต้องตกได้แก่โจทก์ทั้งสามตามลำดับตามคำสั่งของนางผิว จำเลยขอยืมโฉนดที่ดินดังกล่าวไปจากนายเงินผู้จัดการมรดกเพื่อนำไปค้ำประกันเงินกู้ จำนอง และจำนำต่อธนาคารและเอกชนแล้วไม่คืนให้ ศาลฎีกาเห็นว่าที่ดินตามโฉนดดังกล่าวเป็นมรดกของนางผิว นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นทายาทกับนายเงินซึ่งเป็นผู้จัดการมรดก มีความผูกพันกันในฐานะตัวการกับตัวแทน เมื่อนายเงินซึ่งเป็นตัวแทนให้จำเลยยืมโฉนดที่ดินไป แล้วไม่เรียกคืน โจทก์ซึ่งเป็นตัวการย่อมมีสิทธิติดตามเอาโฉนดที่ดินคืนจากจำเลยได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ปัญหาข้อต่อไปที่จำเลยฎีกาว่า ที่ดินที่นางผิวจดทะเบียนรับโอนมรดกจากนายเชยเป็นสินสมรสระหว่างนายเงินกับนางผิว ซึ่งต่างฝ่ายต่างไม่มีสินเดิมเมื่อแบ่งสินสมรสตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย และแบ่งสินสมรสส่วนของนางผิวซึ่งเป็นมรดกตกทอดให้แก่นายเงินกับบุตรอีก 8 คน ซึ่งเป็นทายาทแล้ว นายเงินจะได้ที่ดินรวม 10 ไร่ 1 งาน 47 เศษ 17 ส่วน 27 ตารางวา นายเงินโอนที่ดินให้แก่จำเลย 6 แปลง เป็นเนื้อที่รวม 8 ไร่ 1 งาน 87 ตารางวา น้อยกว่าสิทธิของนายเงิน นายเงินจึงมีสิทธิยกให้จำเลยนั้นข้อเท็จจริงเชื่อว่า ที่ดินที่นางผิวจดทะเบียนรับโอนมรดกจากนายเชยเป็นสินสมรสระหว่างนายเงินกับนางผิวแต่นางผิว ได้สั่งด้วยวาจาแบ่งที่ดินให้บุตรทั้งแปดคน โดยกำหนดว่าที่ดินแปลงใดและตอนใดได้แก่บุตรคนใด โดยสั่งไว้ก่อนนางผิวถึงแก่กรรมกว่า 10 ปี โดยความเห็นชอบของนายเงิน จากนั้นบุตรทุกคนต่างเข้าครอบครองที่ดินส่วนของตนตลอดมา โจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนที่ได้รับแบ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 เมื่อที่ดินซึ่งโจทก์ทั้งสามครอบครองอยู่ตรงกับโฉนดเลขที่ 15338, 15339 และ 8104 ตามลำดับนายเงินก็ไม่มีสิทธิโอนที่ดินตามโฉนดดังกล่าวให้แก่จำเลย

พิพากษายืน

Share