แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 4 ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 87-3546 กรุงเทพมหานคร ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 3 เป็นผู้เอาประกันภัยไว้ จำเลยที่ 4 ให้การว่ามิได้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกสิบล้อคันดังกล่าวจากจำเลยที่ 3 แต่รับประกันภัยไว้จากบุคคลอื่น ดังนี้คำให้การของจำเลยที่ 4 เป็นการยอมรับว่าได้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ตามฟ้องจริง
จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อบรรทุกขุดตักดินไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วยความประมาทเลินเล่อทำให้หลังคาของรถขุดตักดินเกี่ยวสายเคเบิลโทรศัพท์ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยที่ขึงอยู่กับเสาไฟฟ้าของโจทก์ และดึงรั้งเอาเสาไฟฟ้าของโจทก์หักล้มได้รับความเสียหาย โดยจำเลยที่ 4 รับประกันค้ำจุนรถบรรทุกสิบล้อดังกล่าว เมื่อคดีนี้และคดีที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยฟ้องให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดเป็นเหตุละเมิดครั้งเดียวกันและตามกรมธรรม์ประกันภัยก็ระบุให้จำเลยที่ 4 รับผิดไม่เกิน 250,000 บาทต่ออุบัติเหตุหนึ่งครั้ง การที่คำพิพากษา 2 สำนวนในเหตุละเมิดครั้งเดียวกันจะบังคับให้จำเลยที่ 4 ต้องรับผิดเกินกว่าความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 4 มีสิทธิยกปัญหาข้อนี้ขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ เมื่อคดีที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเป็นโจทก์มียอดเงินค่าเสียหาย 51,247 บาท รวมกับยอดเงินค่าเสียหายคดีนี้260,017.24 บาท แล้วเป็นเงิน 311,264.24 บาท เกินวงเงินตามกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยที่ 4 จึงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายทั้งสองคดีในวงเงินตามกรมธรรม์ประกันภัยโดยเฉลี่ยตามส่วนความเสียหายแต่ละคดี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดและเป็นผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกสิบล้อยี่ห้อฮีโน่หมายเลขทะเบียน87-3546 กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 4 เป็นนิติบุคคล ประเภทบริษัทจำกัดมีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยทุกประเภท ขณะเกิดเหตุเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 87-3546กรุงเทพมหานคร ไว้จากจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2538 เวลาประมาณ10.30 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 87-3546กรุงเทพมหานคร บรรทุกรถขุดตักดิน (แบ็กโฮ) ไปในทางการที่จ้าง หรือด้วยความยินยอมของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไปตามถนนสุขาภิบาล 3 จากทางด้านรามคำแหงมุ่งหน้าไปสี่แยกร่มเกล้า จำเลยที่ 1 ได้เลี้ยวเข้าสถานีบริการน้ำมันเพิ่มเติมน้ำมัน ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้บรรทุกรถขุดตักดินมีความสูงกว่าปกติ ขณะขับรถยนต์บรรทุกออกจากสถานีบริการน้ำมันด้วยความประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้หลังคาของรถขุดตักดินเกี่ยวสายเคเบิลโทรศัพท์ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยที่ขึงติดอยู่บนเสาไฟฟ้าของโจทก์ทำให้สายเคเบิลโทรศัพท์ดึงรั้งเอาเสาไฟฟ้าของโจทก์หักล้มรวม 4 ต้น อุปกรณ์ไฟฟ้า หม้อแปลงไฟฟ้า และอุปกรณ์ประกอบอื่น ๆได้รับความเสียหาย รวมเป็นเงิน 260,017.24 บาท ซึ่งจำเลยทั้งสี่ต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันละเมิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 18,837.89 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 278,855.13 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน260,017.24 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ประกอบกิจการให้เช่าเครื่องมือกลและรับซ่อมเครื่องมือกลตลอดจนพาหนะทุกชนิด จำเลยที่ 1เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ควบคุมและขับเครื่องมือกลในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 นำรถขุดตักดินขึ้นรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2และให้คนขับรถยนต์บรรทุกนำรถขุดตักดินพร้อมจำเลยที่ 1 ไปส่งให้แก่ผู้เช่า แต่ในวันดังกล่าวไม่มีรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2 จอดอยู่ จำเลยที่ 1จึงได้นำรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 87-3546 กรุงเทพมหานครของจำเลยที่ 3 ที่นำมาตรวจซ่อมที่อู่ของจำเลยที่ 2 บรรทุกรถขุดตักดินไปส่งให้แก่ผู้เช่า โดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 จำเลยที่ 2และที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิด ทั้งเหตุละเมิดเกิดจากการที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยขึงสายเคเบิลโทรศัพท์บนเสาไฟฟ้าของโจทก์ต่ำกว่ามาตรฐานจึงเป็นความประมาทเลินเล่อขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยฝ่ายเดียวหลังจากเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความยอมชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมดโดยมอบอำนาจให้จำเลยที่ 4 เป็นผู้ชดใช้แทน สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในมูลละเมิดเป็นอันระงับไปจำเลยที่ 2 และที่ 3จึงไม่จำต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 4 ไม่ได้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 87-3546 กรุงเทพมหานคร จากจำเลยที่ 3แต่รับประกันภัยจากบุคคลอื่น จำเลยที่ 1 มิได้มีนิติสัมพันธ์กับผู้เอาประกันภัยจำเลยที่ 1 บรรทุกรถขุดตักดินสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิด เหตุละเมิดเกิดจากการที่โจทก์ไม่ดูแลสายเคเบิลโทรศัพท์และสายไฟฟ้าขึงไว้นานแล้ว ประกอบกับเสาไฟฟ้าตั้งเอียงเป็นเหตุให้สายเคเบิลโทรศัพท์และสายไฟฟ้าหย่อนกว่าปกติ โจทก์จึงมีส่วนประมาทเลินเล่อด้วย โจทก์เสียหายไม่เกิน 30,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นเงิน261,017.24 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 8กุมภาพันธ์ 2538 จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดไม่เกินจำนวน 250,000 บาท
จำเลยที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แต่ให้แก้ไขจำนวนค่าเสียหายตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจากจำนวนเงิน 261,017.24 บาท เป็นจำนวน260,017.24 บาท ให้ถูกต้องตามคำวินิจฉัย
จำเลยที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า ตามวันและเวลาเกิดเหตุในฟ้อง จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อยี่ห้อฮีโน่หมายเลขตัวถังเอฟเอ็น 274 บี – 10106 ติดป้ายหมายเลขทะเบียน 87-3546 กรุงเทพมหานคร บรรทุกรถขุดตักดินไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วยความประมาทของจำเลยที่ 1ทำให้หลังคาของรถขุดตักดินเกี่ยวสายเคเบิลโทรศัพท์ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยที่ขึงอยู่กับเสาไฟฟ้าของโจทก์ และดึงรั้งเอาเสาไฟฟ้าของโจทก์หักล้มได้รับความเสียหาย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4 ประการแรกว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 4 รับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 87-3546 กรุงเทพมหานครซึ่งมิใช่รถยนต์บรรทุกหมายเลขตัวถังเอฟเอ็น 274 บี – 10106 ซึ่งจำเลยที่ 4รับประกันภัยไว้ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย ล.1 จำเลยที่ 4จึงไม่ต้องรับผิดเพราะรถยนต์บรรทุกคันที่โจทก์ฟ้องมิใช่รถยนต์บรรทุกตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย ล.1 นั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 4ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 87-3546กรุงเทพมหานคร ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 3เป็นผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวไว้กับจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 4 ให้การว่ามิได้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 87-3546กรุงเทพมหานคร ไว้จากจำเลยที่ 3 หากแต่รับประกันภัยไว้จากบุคคลอื่นเป็นการยอมรับว่าได้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ตามฟ้องจริงตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย ล.1 จำเลยที่ 4รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขตัวถังเอฟเอ็น 274 บี – 1106 โดยไม่ได้ระบุหมายเลขทะเบียนไว้ นายสมศักดิ์ มีเอี่ยม หัวหน้าส่วนอุบัติเหตุรถยนต์ของจำเลยที่ 4 เบิกความว่า การประกันภัยรถยนต์ของจำเลยที่ 4ถือเอาหมายเลขตัวถังเป็นหลัก และภายหลังเกิดเหตุละเมิดพนักงานของจำเลยที่ 4 ได้ตรวจสอบรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุก็ปรากฏว่ามีหมายเลขตัวถังตรงกับที่ระบุในกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย ล.1 ตามใบแจ้งวินาศภัยเอกสารหมาย ล.3 การที่รถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุซึ่งจำเลยที่ 4รับประกันภัยไว้ติดป้ายหมายเลขทะเบียน 87-3546 กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นหมายเลขทะเบียนของรถยนต์คันอื่น และโจทก์บรรยายฟ้องโดยระบุหมายเลขทะเบียนดังกล่าวไม่มีผลทำให้รถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุที่โจทก์ฟ้องไม่ใช่รถยนต์บรรทุกที่จำเลยที่ 4 รับประกันภัยไว้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 4 ฟังไม่ขึ้น
จำเลยที่ 4 ฎีกาประการสุดท้ายว่า ในเหตุละเมิดครั้งนี้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเป็นโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดียวกับเอกสารหมาย ล.1ตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 309/2539 หมายเลขแดงที่ 4052/2540 ของศาลชั้นต้น คดีดังกล่าวศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นจำเลยที่ 3 ในคดีดังกล่าวร่วมรับผิดใช้ค่าเสียหายจำนวน 55,090 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 51,247 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เอกสารท้ายฎีกาหมายเลข 1 จำเลยที่ 4 ได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีดังกล่าวให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยแล้วเป็นเงิน 73,399.50 บาท ตามใบเสร็จรับเงินเอกสารท้ายฎีกาหมายเลข 2 จึงเหลือค่าเสียหายที่ต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยไม่เกิน 176,600.50 บาท นั้น ในปัญหานี้ โจทก์ยื่นคำแก้ฎีกาว่า จำเลยที่ 4 มิได้ยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การจึงไม่ควรรับวินิจฉัยให้และหากจะฟังว่าจำเลยที่ 4 ได้ชำระค่าเสียหายแก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยแล้วก็ต้องคิดเฉพาะจำนวนเงินค่าเสียหายที่ศาลพิพากษาให้ดังนั้น จึงต้องฟังตามฎีกาของจำเลยที่ 4 ว่า คดีนี้และคดีที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยฟ้องให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยเป็นเหตุละเมิดครั้งเดียวกัน และตามกรมธรรม์ประกันภัยก็ระบุให้จำเลยที่ 4รับผิดไม่เกิน 250,000 บาท ต่ออุบัติเหตุหนึ่งครั้ง ปรากฏว่าคดีนี้และคดีที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ทงสองคดีในวันเดียวกัน คือ วันที่ 29 มีนาคม 2542 จำเลยที่ 4ย่อมไม่อาจให้การถึงความรับผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ต่อองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยในคำให้การคดีนี้ได้ และการที่คำพิพากษา 2 สำนวนในเหตุละเมิดครั้งเดียวกันจะบังคับให้จำเลยที่ 4 ต้องรับผิดเกินกว่าความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 4 มีสิทธิยกปัญหาข้อนี้ขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง ความรับผิดของจำเลยที่ 4 ในคดีที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเป็นโจทก์มียอดเงินค่าเสียหาย 51,247 บาท เมื่อรวมกับยอดเงินค่าเสียหายคดีนี้ 260,017.24 บาท แล้ว เป็นเงิน 311,264.24 บาท เกินวงเงินตามกรมธรรม์ประกันภัยที่จำกัดความรับผิดเพียง 250,000 บาท ฉะนั้น จำเลยที่ 4 ต้องร่วมรับผิดใช้ค่าเสียหายทั้งสองคดีในวงเงินตามกรมธรรม์ประกันภัยโดยเฉลี่ยตามส่วนความเสียหายแต่ละคดีจะนำเงินทั้งหมดที่จำเลยที่ 4 ชำระให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยตามใบเสร็จรับเงินเอกสารท้ายฎีกาหมายเลข 2 มาหักออกจากวงเงินตามกรมธรรม์ประกันภัยหาได้ไม่ ซึ่งเมื่อคิดเฉลี่ยตามส่วนความเสียหายแต่ละคดีแล้ว จำเลยที่ 4 ต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นเงิน 208,839.63 บาท ฎีกาของจำเลยที่ 4 ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดไม่เกิน 208,839.63 บาทนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์