แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 266 (3), 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (3), 341 ประกอบมาตรา 83 เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (3) ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 3 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยทั้งสามในความผิดฐานฉ้อโกง จ. โดยไม่ได้แก้โทษจำเลยที่ 1 จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย ส่วนกรณีของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ศาลอุทธรณ์พิพากษาลดโทษให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (3) คงจำคุกคนละ 1 ปี 3 เดือน จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์แก้โทษความผิดในบทที่มีโทษหนักที่สุดอันเป็นบทที่ศาลชั้นต้นลงโทษแม้จะยกฟ้องความผิดในบทที่เบากว่า ก็ต้องถือว่าเป็นการแก้ไขเล็กน้อย เมื่อศาลอุทธรณ์คงลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามไม่เกินห้าปี จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง
ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า พนักงานสอบสวนสอบคำให้การ จ. ไว้ในฐานะพยานในคดีความผิดฐานปลอม ใช้เอกสารปลอม และฉ้อโกง ที่โจทก์ร่วม ร. และ ส. แจ้งความร้องทุกข์ไว้เท่านั้น แต่ จ. ไม่ได้แจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสาม ข้อที่โจทก์ฎีกาว่า จ. ให้การต่อพนักงานสอบสวนประสงค์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 และบุคคลที่เกี่ยวข้องตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนแนบท้ายฎีกา ถือว่าคำให้การของ จ. เป็นการร้องทุกข์ในคำให้การภายในกำหนดอายุความตามกฎหมายแล้ว และโจทก์บรรยายฟ้องว่า ในความผิดอันยอมความได้ ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ตามกฎหมายภายในอายุความโดยชอบแล้ว เมื่อจำเลยทั้งสามไม่ต่อสู้คดี โจกท์จึงไม่ต้องนำสืบว่ามีการร้องทุกข์ภายในกำหนดอายุความอีก โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง จ. นั้น ฎีกาโจทก์ดังกล่าวเป็นการโต้แย้งการรับฟังข้อเท็จจริงของศาลอุทธรณ์เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ทั้งข้อเท็จจริงที่ว่า จ. ได้ร้องทุกข์ตามบันทึกคำให้การที่แนบท้ายฎีกานั้น ก็เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง เป็นฎีกาที่ไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ศาลสั่งรวมพิจารณาพิพากษาคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 เข้าด้วยกัน แม้ศาลชั้นต้นจะพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ให้การรับสารภาพไปก่อนที่จะพิพากษาคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 อีกสำนวนหนึ่งก็ตาม แต่ความผิดในคดีทั้งสองสำนวนนั้นเป็นความผิดที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันกระทำความผิด และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันแล้ว ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจพิพากษาเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นสำหรับความผิดในส่วนของจำเลยที่ 1 ที่เป็นอันยุติไปแล้วนั้นให้ถูกต้องได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เฉพาะในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง จ. เพราะ เหตุที่ไม่มีการร้องทุกข์ตามระเบียบโดยชอบ และโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง จ. อันเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี ศาลอุทธรณ์จึงชอบที่จะพิพากษายกฟ้องในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง จ. ให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 1 ที่ไม่ได้อุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213
ย่อยาว
คดีนี้ เดิมศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5629/2542 ของศาลชั้นต้น โดยให้เรียกจำเลยในคดีดังกล่าวว่าจำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยสำนวนนี้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ แต่คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 266, 268, 341, 83, 91 ริบใบหุ้นของกลาง และให้จำเลยทั้งสามคืนหรือชดใช้เงินจำนวน 4,770,000 บาท แก่ผู้เสียหาย และนับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2610/2539 ของศาลชั้นต้น คดีอาญาหมายเลขดำที่ 6398/2538 หมายเลขแดงที่ 5782/2539 ของศาลชั้นต้น และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5186/2541 ของศาลอาญาธนบุรี
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ แต่เมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว จำเลยที่ 1 ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2610/2539 ของศาลชั้นต้น และคดีอาญาหมายเลขดำที่ 6398/2538 หมายเลขแดงที่ 5782/2539 ของศาลชั้นต้นที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณา นายเพียว ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาเฉพาะจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 266 (3) ประกอบด้วยมาตรา 268 (ที่ถูกมาตรา 266 (3), 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (3)), 341, 91, 83, 33 ลงโทษฐานใช้ใบหุ้นปลอมตามมาตรา 268 (ที่ถูกมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (3)) อันเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 กรรมละ 3 ปี รวม 4 กรรม คงจำคุก 12 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพหลังจากการสืบพยานโจทก์ไปแล้ว มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 8 ปี ริบใบหุ้นของกลาง และให้จำเลยที่ 1 คืนหรือชดใช้เงิน จำนวน 4,770,000 บาท แก่ผู้เสียหาย กับให้นับโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5782/2539 ของศาลชั้นต้น และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3832/2542 ของศาลชั้นต้น และพิพากษาเฉพาะจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 266 (3), 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (3), 341 การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันฉ้อโกงโจทก์ร่วม จำคุกคนละ 3 ปี ฐานร่วมกันปลอมใบหุ้น รวม 4 กระทง ฐานร่วมกันฉ้อโกงและใช้เอกสารปลอม รวม 3 กระทง ฐานร่วมกันใช้เอกสารปลอม 1 กระทง จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ร่วมกันปลอมใบหุ้นและใช้ใบหุ้นดังกล่าว กับความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงและฐานร่วมกันใช้เอกสารปลอม รวม 3 กระทง เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานใช้เอกสารปลอมซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จึงลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (3) ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง รวม 4 กระทง จำคุกกระทงละ 3 ปี เป็นจำคุกคนละ 12 ปี รวมเป็นจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 15 ปี ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 คืนหรือชดใช้เงินจำนวน 4,770,000 บาท แก่ผู้เสียหาย ส่วนที่โจทก์ขอให้ริบใบหุ้นของกลางนั้น ปรากฏว่า ศาลมีคำสั่งริบใบหุ้นดังกล่าวแล้ว จึงให้ยกคำขอ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 266 (3), 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (3), 341 การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฉ้อโกงโจทก์ร่วมจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 1 ปี 3 เดือน ฐานปลอมใบหุ้นและฐานใช้ใบหุ้นปลอมต่อนางจิระพันธ์และนางสาวปนัดดา จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ปลอมใบหุ้นและใช้ใบหุ้นที่ตนเองเป็นผู้ปลอมให้ลงโทษฐานใช้ใบหุ้นปลอมตามมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (3) ตามมาตรา 268 วรรคสอง ในความผิดแต่ละครั้งที่ใช้รวม 2 ครั้ง จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 1 ปี 3 เดือน รวม 2 กระทง เป็นจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 2 ปี 6 เดือน ฐานปลอมใบหุ้นฐานใช้ใบหุ้นปลอมต่อนายราชปาลและนายสุรพล และฐานฉ้อโกงนายราชปาลและนายสุรพล เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานใช้ใบหุ้นปลอมซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ในความผิดแต่ละครั้งที่ใช้รวม 2 ครั้ง จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 1 ปี 3 เดือน รวม 2 กระทง เป็นจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 2 ปี 6 เดือน รวมโทษทุกกระทงเป็นจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 6 ปี 3 เดือน ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานฉ้อโกงนางจิระพันธ์ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันใช้เงินจำนวน 1,060,000 บาท แก่นายราชปาล และจำนวน 1,060,000 บาท แก่นายสุรพล นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงโจทก์ร่วม ความผิดฐานร่วมกันปลอมและร่วมกันใช้ใบหุ้นปลอมต่อนางจิระพันธ์และนางสาวปนัดดา ความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง ร่วมกันปลอมและร่วมกันใช้ใบหุ้นปลอมต่อนายราชปาล และนายสุรพล เป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสอง คดีคงมีปัญหาขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงนางจิระพันธ์ คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 266 (3), 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (3), 341 ประกอบมาตรา 83 เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (3) ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 3 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยทั้งสามในความผิดฐานฉ้อโกงนางจิระพันธ์ โดยไม่ได้แก้โทษของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย ส่วนกรณีของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ศาลอุทธรณ์พิพากษาลดโทษให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (3) คงจำคุกคนละ 1 ปี 3 เดือน จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์แก้โทษความผิดในบทที่มีโทษหนักที่สุดอันเป็นบทที่ศาลชั้นต้นลงโทษ แม้จะยกฟ้องความผิดในบทที่เบากว่า ก็ต้องถือว่าเป็นการแก้ไขเล็กน้อย เมื่อศาลอุทธรณ์คงให้ลงโทษจำเลยทั้งสามไม่เกินห้าปี จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง
ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า พนักงานสอบสวนได้สอบคำให้การนางจิระพันธ์ไว้ในฐานะพยานในคดีความผิดฐานปลอม ใช้เอกสารปลอม และฉ้อโกง ที่โจทก์ร่วม นายราชปาล และนายสุรพลได้แจ้งความร้องทุกข์ไว้เท่านั้น แต่นางจิระพันธ์ไม่ได้แจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสามไว้ ข้อที่โจทก์ฎีกาว่า นางจิระพันธ์ได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนประสงค์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 และบุคคลที่เกี่ยวข้องตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนที่แนบท้ายฎีกา ถือได้ว่าคำให้การของนางจิระพันธ์เป็นการร้องทุกข์ในคำให้การภายในกำหนดอายุความตามกฎหมายแล้ว และโจทก์บรรยายฟ้องว่าในความผิดอันยอมความได้ ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ตามกฎหมายภายในอายุความโดยชอบแล้ว เมื่อจำเลยทั้งสามไม่ต่อสู้คดี โจทก์จึงไม่ต้องนำสืบว่ามีการร้องทุกข์ภายในกำหนดอายุความอีก โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงนางจิระพันธ์นั้น เห็นว่า ฎีกาของโจทก์ดังกล่าวเป็นการโต้แย้งการรับฟังข้อเท็จจริงของศาลอุทธรณ์ ที่ว่านางจิระพันธ์ไม่ได้แจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสาม เพื่อให้ศาลฎีการับฟังข้อเท็จจริงใหม่ว่า นางจิระพันธ์ได้ร้องทุกข์ภายในกำหนดอายุความแล้วตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมา โดยโจทก์ไม่จักต้องนำสืบว่ามีการร้องทุกข์ภายในกำหนดอายุความอีก เป็นกรณีการโต้แย้งข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย จึงเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ทั้งข้อเท็จจริงที่ว่านางจิระพันธ์ได้ร้องทุกข์ตามบันทึกคำให้การที่แนบท้ายฎีกานั้น ก็เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองเป็นฎีกาที่ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีมีปัญหาตามที่โจทก์ฎีกาต่อไปว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 เสร็จเด็ดขาดแล้ว ไม่มีเหตุผลใดที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 1 ด้วยจึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า คดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นคดีหมายเลขดำที่ 2849/2538 และคดีหมายเลขดำที่ 4689/2538 ของศาลชั้นต้นนั้น เป็นคดีที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องทั้งสองสำนวนคดีและศาลได้มีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาคดีทั้งสองสำนวนเข้าด้วยกัน แม้ศาลชั้นต้นจะพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ให้การรับสารภาพไปก่อนที่จะพิพากษาคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 อีกสำนวนหนึ่งก็ตาม แต่ความผิดในคดีทั้งสองสำนวนนั้นเป็นความผิดที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันกระทำความผิด และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันแล้ว แม้ศาลชั้นต้นจะได้พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ไปก่อน ก็มีผลให้คดีในส่วนของจำเลยที่ 1 เป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเท่านั้น คดีหาได้ถึงที่สุดเสร็จเด็ดขาดไม่ เมื่อความผิดสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ขึ้นไปสู่การพิจารณาศาลอุทธรณ์โดยชอบ ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจพิพากษาเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นสำหรับความผิดในส่วนของจำเลยที่ 1 ที่เป็นอันยุติไปแล้วนั้นให้ถูกต้องได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เฉพาะในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงนางจิระพันธ์เพราะเหตุที่ไม่มีการร้องทุกข์ตามระเบียบโดยชอบ พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวน และโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงนางจิระพันธ์ อันเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี ศาลอุทธรณ์จึงชอบที่จะพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในความผิดร่วมกันฉ้อโกงนางจิระพันธ์ให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 1 ที่ไม่ได้อุทธรณ์ด้วยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน