แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้ โจทก์บรรยายฟ้องความผิดตาม ป.อ. มาตรา 138 ว่า หลังจากจำเลยกับพวกร่วมกันกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์แล้ว ผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจออกตรวจที่เกิดเหตุเห็นเหตุการณ์จึงเข้าระงับเหตุ จำเลยกับพวกจึงร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายโดยใช้ลูกระเบิดขว้างใส่ผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 โดยเจตนาฆ่า แต่ลูกระเบิดไม่ระเบิด ผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ถึงแก่ความตาย ซึ่งถ้อยคำที่โจทก์บรรยายฟ้องในตอนนี้มีความหมายชัดแจ้งอยู่ในตัวแล้วว่า จำเลยกับพวกรู้แล้วว่า ผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจกำลังจะมาจับกุมจำเลยกับพวกจากการที่จำเลยกับพวกได้ร่วมกันชิงทรัพย์ของผู้เสียหายที่ 1 การที่จำเลยกับพวกร่วมกันใช้ลูกระเบิดขว้างใส่ผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นการต่อสู้และขัดขวางมิให้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมตนได้ โจทก์ไม่ต้องบรรยายถ้อยคำว่า “ต่อสู้” หรือ “ขัดขวาง” ที่มีความหมายอย่างเดียวกันซ้ำในคำฟ้องอีก คำฟ้องของโจทก์ในข้อหาร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ตาม ป.อ. มาตรา 138 จึงครบองค์ประกอบความผิดและเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 80, 83, 91, 138, 288, 289, 339, 340 ตรี, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 4, 7, 55, 78 ริบสนับมือ 1 อัน อาวุธมีด 1 เล่ม ลูกระเบิด 1 ลูก หมวกคลุมหน้า 2 ใบ และไขควง 1 อัน ของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาร่วมกันชิงทรัพย์โดยมีอาวุธมีดและพาอาวุธมีดติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคแรก, 289 (2) ประกอบมาตรา 80, 339 วรรคแรก, 340 ตรี, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 55, 78 วรรคหนึ่งและวรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันต่อสู้และขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ และฐานร่วมกันพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 52 (1), 80 ฐานร่วมกันชิงทรัพย์โดยใช้ลูกระเบิดและยานพาหนะเพื่อกระทำผิดหรือพาทรัพย์นั้นไป จำคุก 12 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธมีดติดตัวไปในเมืองหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร จำคุก 1 ปี ฐานร่วมกันมีเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้โดยนำไปใช้ในการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์และพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่จำคุกตลอดชีวิต รวมโทษทุกกระทงแล้ว คงลงโทษจำคุกจำเลยตลอดชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) ริบสนับมือ 1 อัน อาวุธมีด 1 เล่ม ลูกระเบิด 1 ลูก หมวกคลุมหน้า 2 ใบ และไขควง 1 อัน ของกลาง
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง ประกอบมาตรา 340 ตรี, 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 55, 78 วรรคหนึ่งและวรรคสาม ความผิดฐานร่วมกันมีเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ ฐานร่วมกันใช้เครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ในการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ และฐานร่วมกันชิงทรัพย์ เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานร่วมกันใช้เครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ในการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกตลอดชีวิตความผิดฐานพาอาวุธมีดไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับ 100 บาท รวมจำคุกตลอดชีวิต และปรับ 100 บาท หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 และข้อหาพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (2) ประกอบมาตรา 80, 83 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตาม คำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง จำเลยและนายนิสิทธิ์ ร่วมกันชิงทรัพย์เงิน 6,319.25 บาท บัตรเติมเงิน 350 ใบ ราคา 44,230 บาท และเครื่องดื่มวีต้า 1 ห่อ ราคา 360 บาท รวมราคาทรัพย์ 50,909.25 บาท ในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น สาขาตรอกวังหลัง ของผู้เสียหายที่ 1 โดยจำเลยถืออาวุธมีดหัวตัดในมือขวาและถือลูกระเบิดขว้างสังหารแบบเอ็ม 67 ในมือซ้ายไว้ขู่บังคับพนักงานในร้าน ส่วนนายนิสิทธิ์เป็นคนเก็บทรัพย์สินดังกล่าวใส่ถุงผ้าที่เตรียมมา เมื่อจำเลยและนายนิสิทธิ์ออกมาที่หน้าร้านพบผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจสายตรวจรถจักรยานยนต์ของสถานีตำรวจนครบาลบางกอกน้อยกำลังออกตรวจพื้นที่มาพบเหตุการณ์ นายนิสิทธิ์เอาลูกระเบิดไปจากมือจำเลยแล้วขว้างออกไป แต่ลูกระเบิดไม่ระเบิดและนายนิสิทธิ์ถูกผู้เสียหายที่ 2 ใช้อาวุธปืนพกยิงสวนถึงแก่ความตาย
มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามคำแก้ฎีกาของจำเลยต่อไปว่า ฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดฐานต่อสู้และขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 เป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิด ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) หรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์จะไม่ได้บรรยายในคำฟ้องข้อหาความผิดนี้โดยใช้ถ้อยคำว่า จำเลยกับพวกได้ต่อสู้หรือขัดขวางจ่าสิบตำรวจอภิรักษ์ ผู้เสียหายที่ 2 และสิบตำรวจโทเกรียงศักดิ์ ผู้เสียหายที่ 3 ในการปฏิบัติการตามหน้าที่ตามกฎหมายตามที่จำเลยยกขึ้นอ้างในคำแก้ฎีกาก็ตาม แต่โจทก์ได้บรรยายในคำฟ้องแล้วว่า หลังจากจำเลยกับพวกร่วมกันกระทำผิดฐานชิงทรัพย์แล้ว ผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจออกตรวจที่เกิดเหตุเห็นเหตุการณ์จึงเข้าระงับเหตุ จำเลยกับพวกจึงร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายโดยใช้ลูกระเบิดขว้างใส่ผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 โดยเจตนาฆ่า แต่ลูกระเบิดไม่ระเบิด ผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ถึงแก่ความตาย ซึ่งถ้อยคำที่โจทก์บรรยายในคำฟ้องตอนนี้มีความหมายชัดแจ้งอยู่ในตัวแล้วว่า จำเลยกับพวกรู้แล้วว่า ผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจกำลังจะมาจับกุมจำเลยกับพวกจากการที่จำเลยกับพวกได้ร่วมกันชิงทรัพย์ของผู้เสียหายที่ 1 การที่จำเลยกับพวกร่วมกันใช้ลูกระเบิดขว้างใส่ผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นการต่อสู้และขัดขวางมิให้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมตนได้ โจทก์ไม่จำต้องบรรยายถ้อยคำว่า “ต่อสู้” หรือ “ขัดขวาง” ที่มีความหมายอย่างเดียวกันซ้ำในคำฟ้องอีก คำฟ้องของโจทก์ในข้อหาความผิดฐานร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 จึงครบองค์ประกอบความผิดและเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้ว ข้ออ้างตามคำแก้ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการสุดท้ายว่า มีเหตุสมควรลดมาตราส่วนโทษและลดโทษให้จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 และ 78 หรือไม่ เห็นว่า ขณะจำเลยกระทำผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ตามฟ้องนั้น จำเลยอายุ 19 ปี และเป็นนักศึกษา จำเลยย่อมมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีแล้ว ตามพฤติการณ์แห่งคดีไม่มีเหตุสมควรลดมาตราส่วนโทษให้จำเลย ส่วนในเรื่องการลดโทษนั้น แม้โจทก์จะมีพยานซึ่งเป็นพนักงานในร้านของผู้เสียหายที่ 1 เบิกความว่า จำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธมีดและลูกระเบิดขู่พนักงานในร้านขณะชิงทรัพย์และหลังเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจวิ่งไล่ตามจับจำเลยได้หลังเกิดเหตุเล็กน้อยก็ตาม แต่หลังเกิดเหตุจำเลยได้ให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงานตำรวจฝ่ายสืบสวนโดยนำเจ้าพนักงานตำรวจไปค้นห้องพักของจำเลยจนพบแผ่นป้ายทะเบียนของรถจักรยานยนต์ที่จำเลยกับนายนิสิทธิ์ใช้ก่อเหตุ ซึ่งจำเลยกับนายนิสิทธิ์ถอดเก็บแผ่นป้ายทะเบียนดังกล่าวไว้ ตลอดจนนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพให้พนักงานสอบสวนถ่ายรูปและทำแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุจนสำนวนการสอบสวนมีความสมบูรณ์ อีกทั้งจำเลยยังเบิกความเป็นพยานในชั้นศาลซึ่งคำเบิกความของจำเลยเป็นการให้ความรู้แก่ศาลโดยจำเลยรู้สึกความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิด จึงมีเหตุสมควรลดโทษให้จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 สำหรับความผิดฐานใช้เครื่องกระสุนปืน (ลูกระเบิด) ที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ในการร่วมกันกระทำผิดฐานชิงทรัพย์ลงหนึ่งในสาม ส่วนความผิดฐานพาอาวุธมีดไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรนั้น จำเลยให้การรับสารภาพเต็มตามฟ้องตั้งแต่ศาลชั้นต้นสอบคำให้การจำเลยแล้วจึงสมควรลดโทษให้จำเลยในความผิดฐานนี้กึ่งหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ไม่ลดโทษในความผิดฐานนี้ให้แก่จำเลย ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า เมื่อลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 โดยเปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุก 50 ปี แล้ว สำหรับความผิดฐานใช้เครื่องกระสุนปืน (ลูกระเบิด) ที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ในการร่วมกันกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 คงจำคุกจำเลยในความผิดฐานนี้มีกำหนด 33 ปี 4 เดือน ส่วนความผิดฐานพาอาวุธมีดไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับจำเลย 50 บาท รวมแล้วคงจำคุกจำเลย 33 ปี 4 เดือน และปรับ 50 บาท หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์