แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 27 ตรี ใช้บังคับกับผู้ที่ถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่าย และนำส่งแล้วเป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษี รวมถึงบุคคลที่ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากรด้วย โจทก์อ้างว่าเป็นผู้ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากร แต่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับปีภาษี 2535 ถึงปีภาษี 2539 ว่ามีเงินได้ประเภทดอกเบี้ยเงินกู้ยืมพร้อมนำส่งภาษีแก่จำเลย โจทก์จึงต้องยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรภายในสามปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษี โจทก์ยื่นคำร้องเมื่อพ้นกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนดตามมาตรา 27 ตรี (2) กรณีผู้มีสิทธิขอคืนอุทธรณ์การประเมินตามหมวดนี้ หรือเป็นคดีในศาลให้ผู้มีสิทธิขอคืนยื่นคำร้องขอคืนภายในสามปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์การประเมินเป็นหนังสือหรือนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด แล้วแต่กรณีนั้น คำว่า เป็นคดีในศาล หมายถึง คดีฟ้องเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลตาม ป.รัษฎากร มาตรา 30 (2) หรือฟ้องคดีโดยเป็นคู่ความกับกรมสรรพากรอ้างว่าตนไม่มีหน้าที่เสียภาษี มิใช่เป็นการฟ้องคดีแพ่งทั่วไประหว่างตนกับบุคคลอื่น แล้วนำผลคดีมาอ้างขยายเวลาขอคืนภาษี การที่โจทก์ฟ้อง จ. แล้วศาลจังหวัดสมุทรสาครมีคำพิพากษาว่า จ. ไม่ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยแก่โจทก์นั้นเป็นการฟ้องคดีแพ่งทั่วไปไม่อยู่ในบังคับ ป.รัษฎากร มาตรา 27 ตรี (2) โจทก์จึงไม่มีอำนาจนำคดีมาฟ้องต่อศาลได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 7 (3) ประกอบมาตรา 9
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 392,953.10 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 252,500 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลาง พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 392,953.10 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 252,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรสำหรับปีภาษี 2535 ถึง 2540 รวมเป็นเงิน 304,500 บาท วันที่ 4 ตุลาคม 2550 จำเลยมีหนังสือแจ้งไม่คืนเงินภาษีอากรแก่โจทก์ วันที่ 7 พฤศจิกายน 2550 โจทก์อุทธรณ์หนังสือแจ้งไม่คืนเงินภาษีอากร และวันที่ 12 มีนาคม 2551 จำเลยได้รับหนังสือเรื่อง การโต้แย้งการขอคืนเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 โดยระบุว่า จำเลยยอมคืนเงินภาษีอากรแก่โจทก์เฉพาะปีภาษี 2540 ส่วนปีภาษี 2535 ถึง 2539 ไม่คืนภาษีอากรให้ เพราะโจทก์ยื่นคำร้องเกินกว่าสามปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามที่กฎหมายกำหนด โจทก์ไม่เห็นด้วยจึงนำคดีมาฟ้อง
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า จำเลยต้องคืนเงินค่าภาษีอากรสำหรับปีภาษี 2535 ถึง 2539 พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า เมื่อโจทก์เป็นผู้ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากรแต่ได้ชำระภาษีอากรและได้นำส่งไว้แล้ว โจทก์ต้องยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรดังกล่าวภายในสามปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามที่กฎหมายกำหนด แต่โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2543 จึงเป็นเหตุทำให้การขอคืนเงินภาษีอากรสำหรับปีภาษีดังกล่าวเกินกว่าระยะเวลาสามปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามที่กฎหมายกำหนด การที่จำเลยไม่คืนเงินภาษีอากรสำหรับปีภาษีดังกล่าวจึงชอบแล้ว และกรณีของโจทก์ไม่อาจนำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 มาใช้บังคับได้นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 27 ตรี บัญญัติว่า เว้นแต่จะมีบทบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น การขอคืนภาษีอากรและภาษีที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่าย และนำส่งแล้วเป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษี หรือไม่มีหน้าที่ต้องเสีย ให้ผู้มีสิทธิขอคืนยื่นคำร้องขอคืนภายในสามปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามที่กฎหมายกำหนด เว้นแต่… (2) ในกรณีผู้มีสิทธิขอคืนอุทธรณ์การประเมินตามหมวดนี้ หรือเป็นคดีในศาล ให้ผู้มีสิทธิขอคืนยื่นคำร้องขอคืนภายในสามปี นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์การประเมินเป็นหนังสือหรือนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด แล้วแต่กรณี ตามบทบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับกับผู้ที่ถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่าย และนำส่งแล้วเป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษี รวมถึงบุคคลที่ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากรด้วย เมื่อโจทก์อ้างว่าเป็นผู้ที่ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากร แต่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับปีภาษี 2535 ถึงปีภาษี 2539 ว่ามีเงินได้ประเภทดอกเบี้ยเงินกู้ยืม และได้ชำระภาษีรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 252,500 บาท โจทก์จึงต้องยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรภายในสามปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 27 ตรี การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรในวันที่ 20 ธันวาคม 2543 สำหรับปีภาษีดังกล่าวจึงเป็นการยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรเมื่อพ้นกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ สำหรับกรณีผู้มีสิทธิขอคืนอุทธรณ์การประเมินตามหมวดนี้หรือเป็นคดีในศาล ให้ผู้มีสิทธิขอคืนยื่นคำร้องขอคืนภายในสามปี นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์การประเมินเป็นหนังสือหรือนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด แล้วแต่กรณี ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 27 ตรี (2) นั้น คำว่า เป็นคดีในศาล หมายถึง คดีฟ้องเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 (2) หรือฟ้องร้องคดีโดยเป็นคู่ความกับกรมสรรพากร อ้างว่าตนไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษี มิใช่เป็นการฟ้องคดีแพ่งทั่วไประหว่างตนกับบุคคลอื่น แล้วนำผลของคดีมาอ้างขยายเวลาขอคืนภาษีและกรณีของโจทก์มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการขอคืนเงินภาษีอากรไว้เป็นการเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจนำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 มาใช้บังคับกับกรณีของโจทก์ได้ เมื่อโจทก์อ้างว่าโจทก์ไม่ได้รับชำระดอกเบี้ยจึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษี หากเป็นจริงดังที่โจทก์อ้างก็ไม่มีเหตุผลที่โจทก์ต้องเสียภาษีไปก่อนหลายปีภาษีโดยไม่ฟ้องเรียกร้องจากลูกหนี้ และยังไม่ขอคืนเสียภายในเวลาสามปีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 27 ตรี โจทก์จึงไม่อาจนำคดีมาฟ้องต่อศาลได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 7 (3) ประกอบมาตรา 9 ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 27 ตรี ใช้บังคับกับผู้เสียภาษีอากรหรือผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรหรือผู้มีหน้าที่ยื่นรายการในกรณีโดยทั่วไปในการขอคืนภาษีอากร เนื่องจากถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายเกินไปจากจำนวนที่ต้องเสียจริง หรือชำระค่าภาษีมากกว่าจำนวนที่ต้องเสียจริงอันเกิดจากการคำนวณผิดพลาดไป หรือกรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมีสิทธิขอคืนได้ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ผู้มีสิทธิขอคืนเหล่านั้นต้องยื่นคำร้องตามบทบัญญัติดังกล่าว แต่กรณีของโจทก์ไม่มีรายได้จากดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่ต้องเสียภาษีตามกฎหมาย จำเลยไม่มีอำนาจเรียกเก็บภาษีอากรจากโจทก์ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ต้องเสียภาษีอากรหรือผู้ต้องยื่นรายการตามที่บังคับไว้ในประมวลรัษฎากร การที่จำเลยไม่ยอมคืนเงินภาษีอากรตั้งแต่ปีภาษี 2535 ถึง 2539 เท่ากับเป็นการเรียกเก็บภาษีอากรจากโจทก์ผู้ซึ่งไม่ต้องเสียภาษีอากรหรือเป็นผู้ไม่ต้องยื่นรายการ จึงเป็นการเรียกเก็บภาษีอากรไว้โดยไม่มีอำนาจตามกฎหมาย เป็นการยึดเงินของโจทก์ไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์เป็นเจ้าของเงินจำนวน 252,500 บาท จึงมีสิทธิติดตามเอาคืนซึ่งเงินของตนจากจำเลยผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ