แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๒/๒๕๔๙
วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๔๙
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑)
ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๔๘ กรุงเทพมหานคร โจทก์ได้ยื่นฟ้องนายพิสิษฐ์สืบมา ที่ ๑ นางอรพินทร์ สืบมา ที่ ๒ นายจเด็ด อินสว่าง ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๓๓๓๑/๒๕๔๘ ความว่า จำเลยที่ ๑ เคยรับราชการเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของโจทก์ ก่อนจำเลยที่ ๑ จะเกษียณอายุ เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๐ จำเลยที่ ๑ ดำรงตำแหน่งนักบริหาร ๑๐ (ที่ปรึกษาสำนักปลัดกรุงเทพมหานคร) รับเงินเดือนเดือนสุดท้ายจำนวน ๕๒,๓๑๐ บาท มีสิทธิได้รับบำนาญเดือนละ ๔๔,๒๑๗.๐๔ บาท แต่โจทก์ได้รับหนังสือร้องเรียนของนายสุรินทร์ สุดเดือน กับพวกรวม ๗ คน ลงวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๔๐ ว่าได้แจ้งความดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ ๑ อยู่ในขณะนั้น ขอให้ระงับการเบิกจ่ายเงินบำเหน็จหรือบำนาญให้จำเลยที่ ๑ ไว้ก่อนจนกว่าคดีจะแล้วเสร็จ โจทก์พิจารณาแล้วเห็นว่าการที่จำเลยที่ ๑ ถูกดำเนินคดีอาญาก่อนเกษียณอายุนั้นหากภายหลังจำเลยที่ ๑ ออกจากราชการด้วยเหตุเกษียณอายุโจทก์ก็ยังมีอำนาจดำเนินการทางวินัยแก่จำเลยที่ ๑ ต่อไปได้ตามมาตรา ๑๐๖ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ และหากผลปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ ถูกไล่ออกจากราชการ จำเลยที่ ๑ ก็จะไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จหรือบำนาญ โจทก์จึงให้จำเลยที่ ๑ รับบำนาญโดยมีบุคคลหรือทรัพย์สินมาค้ำประกัน โดยถือปฏิบัติตามแนวหนังสือกระทรวงการคลัง จำเลยที่ ๑ ได้รับบำนาญโดยทำสัญญาการใช้เงินคืนลงวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๔๑ และลงวันที่ ๑๒ มีนาคม๒๕๔๔ ไว้แก่โจทก์ โดยมีจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ และทรัพย์สินของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว ต่อมาโจทก์ตรวจสอบพบว่าระหว่างจำเลยที่ ๑ดำรงตำแหน่งนักบริหาร ๑๐ (ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกรุงเทพมหานคร) โจทก์ได้มีคำสั่ง ที่ ๓๐๓๔/๒๕๔๑ ลงวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๔๑ ตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยแก่ จำเลยที่ ๑ กรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยร้ายแรงในเรื่องร่วมกันใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่เรียกเงินจากบุคคลอื่นเพื่อประโยชน์ตอบแทนสำหรับตนเองหรือผู้อื่น และโจทก์ได้มีคำสั่ง ที่ ๘๑๕/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ ลงโทษทางวินัยไล่จำเลยที่ ๑ ออกจากราชการตั้งแต่วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๐ ซึ่งเป็นปีงบประมาณที่จำเลยที่ ๑ เกษียณอายุราชการ จำเลยที่ ๑ได้อุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย คณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานครพิจารณาอุทธรณ์แล้วให้ยกอุทธรณ์ โดยโจทก์ได้แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ให้จำเลยที่ ๑ ทราบแล้ว ตามหนังสือที่ กท ๐๓๐๖/๐๕ ลงวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๔๗ โจทก์มีหนังสือที่ กท ๗๐๐๐/๕๔๔๒ลงวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๔๕ แจ้งให้จำเลยที่ ๑ คืนเงินบำนาญที่ได้รับไปแล้วจำนวน๒,๓๔๓,๕๐๓.๑๒ บาท ภายใน ๓๐ วัน นับจากวันที่ได้รับแจ้ง และ แจ้งให้จำเลยที่ ๒ และที่๓ ในฐานะผู้ค้ำประกันทราบแล้วด้วย แต่จำเลยที่ ๑ เพิกเฉย จึงฟ้องจำเลยที่ ๑ ให้คืนเงินบำนาญที่ได้รับตามสัญญาการใช้เงินคืน และฟ้องจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้รับผิดตามสัญญา ค้ำประกัน ขอให้จำเลยที่ ๑ ชดใช้เงินคืนเป็นเงิน ๒,๘๕๔,๙๐๐.๔๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีของต้นเงิน ๒,๓๔๓,๕๐๓.๑๒ บาท ให้จำเลยที่ ๒ ร่วมกันหรือแทนกันกับจำเลยที่ ๑ ชำระเงิน ๑,๘๐๒,๙๖๔.๓๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน๑,๔๘๐,๐๐๐ บาท และให้จำเลยที่ ๓ ร่วมกันหรือแทนกันกับจำเลยที่ ๑ ชำระเงิน๙๑๕,๗๒๒.๗๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๗๕๑,๖๘๙.๖๘ บาทให้แก่โจทก์นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า นายสุรินทร์ สุดเดือน กับพวกรวม ๗ คน ได้ประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ ๑ โดยยื่นคำแถลงต่อศาลจังหวัดภูเก็ตว่า ผู้เสียหายทั้งหมดไม่ประสงค์จะดำเนินคดีกับจำเลยที่ ๑ เพราะได้รับชำระหนี้แล้ว จึงขอถอนคำร้องทุกข์ศาลจังหวัดภูเก็ตมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ โจทก์จะอาศัยเหตุดังกล่าวมาฟ้องจำเลยให้คืนบำนาญไม่ได้ ยอดเงินที่โจทก์ฟ้องให้คืนไม่ถูกต้อง จำเลยที่ ๑ ไม่ได้รับเงินบำนาญเต็มยอดเดือนละ ๔๔,๒๑๗.๐๔ บาท เพราะถูกหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นเงิน๓,๒๕๕.๐๔ บาท คงรับเงินจริงเดือนละ ๔๐,๙๖๒ บาท จำเลยที่ ๑ ต้องคืนเงินเท่าจำนวนที่รับไปจริงเท่านั้น จำเลยที่ ๑ ได้ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๔๗เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๓๖๙/๒๕๔๗ ขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดี ที่ กท ๐๓๐๖/๐๕ลงวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๔๗ และ ที่ กท ๘๑๕/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ ที่ให้ลงโทษทางวินัยแก่จำเลยที่ ๑ หากจำเลยที่ ๑ ชนะคดี จำเลยทั้งสามก็ไม่ต้องชำระเงินตามคำฟ้องให้แก่โจทก์ คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองฉบับดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธิที่เรียกให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสามกระทำการชำระเงินให้แก่โจทก์ กรณีจึงเป็นการฟ้องบังคับให้บุคคลกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙(๕) คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ทั้งจำเลยที่ ๑ ได้ฟ้องโจทก์ต่อศาลปกครองกลาง ขอให้ เพิกถอนคำสั่งลงโทษทางวินัยแล้วด้วย คดีอยู่ระหว่างพิจารณา หากจำเลยที่ ๑ ชนะคดี จำเลยทั้งสามก็ไม่ต้องชำระเงินตามคำฟ้องให้แก่โจทก์
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยที่ ๑ ทำหนังสือสัญญาการใช้เงินคืนกับโจทก์โดยตามสัญญาข้อ ๑. ระบุว่าหากปรากฏว่าในภายหลังว่าจำเลยที่ ๑ ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญ จำเลยที่ ๑ ยอมคืนเงินที่ได้รับให้แก่โจทก์ภายใน ๓๐ วัน นับจากวันที่ได้รับแจ้งจากโจทก์ สัญญาดังกล่าวมีลักษณะเป็นเอกเทศสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งมีผลผูกพันคู่สัญญาและสามารถบังคับได้ตามกฎหมาย โจทก์ฟ้องคดีโดยอาศัยมูลหนี้ตามสัญญามิใช่เป็นการฟ้องคดีที่มีกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฟ้องคดีต่อศาลเพื่อบังคับให้บุคคลต้องกระทำหรือละเว้นกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ตามมาตรา ๙วรรคหนึ่ง (๕) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้โจทก์จะอ้างว่าจำเลยทั้งสามผิดสัญญา ที่ให้ไว้แก่โจทก์ แต่ข้อเท็จจริงในคดีเป็นเรื่องเกี่ยวกับการที่โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นข้าราชการบำนาญ และในขณะเกิดเหตุเป็นข้าราชการในสังกัดโจทก์ ร่วมกับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาของจำเลยที่ ๑ ให้รับผิดชดใช้เงินบำนาญพร้อมดอกเบี้ยคืนให้แก่โจทก์ อันเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ ๑ กระทำผิดวินัยร้ายแรงในขณะรับราชการจนเป็นเหตุให้ถูกไล่ออกจากราชการ โจทก์จึงมีข้ออ้างว่าจำเลยที่ ๑ ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญ และมีหนังสือเรียกให้จำเลยที่ ๑ คืนเงินบำนาญที่ได้รับไปแล้ว แต่จำเลยที่ ๑ ไม่คืนให้ โดยโต้แย้งว่าคำสั่งไล่จำเลยที่ ๑ ออกจากราชการไม่ชอบด้วยกฎหมายและได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวแล้ว ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นการโต้แย้งกันในเรื่องสิทธิการได้รับเงินบำนาญของจำเลยที่ ๑ ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๑๖ ประกอบพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๐๐ ซึ่งมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า บุคคลที่ระบุไว้ต่อไปนี้ไม่มีสิทธิได้บำเหน็จบำนาญปกติตามพระราชบัญญัตินี้ (๑) ผู้ถูกไล่ออกจากราชการเพราะมีความผิด ดังนั้น เหตุแห่งการฟ้องคดีเป็นเรื่องสืบเนื่องมาจากการที่โจทก์ออกคำสั่งลงโทษทางวินัยไล่จำเลยที่ ๑ ออกจากราชการ ซึ่งการจะวินิจฉัยว่าจำเลยที่ ๑ จะต้องคืนเงินบำนาญที่ได้รับไปแล้วตามฟ้องของโจทก์หรือไม่ ศาลจำต้องพิจารณาคำสั่งของโจทก์ที่ไล่จำเลยที่ ๑ ออกจากราชการเสียก่อนว่าเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่และโดยที่คำสั่งของโจทก์ที่ไล่จำเลยที่ ๑ ออกจากราชการนั้นเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล จึงเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ เมื่อโจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ ๑ คืนเงินบำนาญให้แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ ๑ ไม่ยอมคืนให้ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทอันเนื่องมาจากคำสั่งทางปกครองของโจทก์ ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งจะต้องวินิจฉัยตามหลักกฎหมายปกครอง นอกจากนั้นแม้หากจะปรากฏในภายหลังว่าคำสั่งไล่จำเลยที่ ๑ ออกจากราชการเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจำเลยที่ ๑ อาจถูกบังคับให้ต้องคืนเงินบำนาญให้แก่โจทก์ ก็เป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดอย่างอื่นของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และเป็นคดีพิพาทที่มีมูลความแห่งคดีเกี่ยวเนื่องกับสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้ไว้แก่โจทก์ ซึ่งจำต้องอาศัยข้อวินิจฉัยในประเด็นหลักแห่งคดีนี้ในการพิจารณาความรับผิดของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ด้วย คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๒๗๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา ๙วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณา คดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้สรุปได้ว่า โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นอดีตข้าราชการอยู่ในสังกัดโจทก์ ความว่าก่อนจำเลยที่ ๑ จะเกษียณอายุราชการ และมีสิทธิที่จะได้รับบำเหน็จหรือบำนาญนั้น จำเลยที่๑ระงับการจ่ายเงินบำเหน็จหรือบำนาญไว้จนกว่าคดีจะแล้วเสร็จ โจทก์จึงให้จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาใช้เงินบำนาญคืนแก่โจทก์หากปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ ถูกไล่ออกจากราชการในภายหลังโดยมีจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นผู้ค้ำประกันและนำทรัพย์สินมาเป็นหลักประกันด้วย แล้วโจทก์ก็จ่ายเงินบำนาญให้แก่จำเลยที่ ๑ ไปพลางก่อน ต่อมาภายหลังจากที่จำเลยที่ ๑ เกษียณอายุไปแล้ว โจทก์ตั้งกรรมการสอบสวนและมีคำสั่งไล่จำเลยที่ ๑ ออกจากราชการ ตั้งแต่วันที่จำเลยที่ ๑ จะเกษียณอายุ จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์คำสั่ง แต่คณะกรรมการของโจทก์พิจารณาแล้วมีคำสั่งยกอุทธรณ์ โจทก์จึงมาฟ้องเรียกเงินบำนาญคืนตามสัญญาใช้เงินคืน โดยให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ผู้ค้ำประกันร่วมรับผิดด้วย ส่วนจำเลยที่ ๑ ให้การว่าไม่ต้องคืนเงิน ได้ยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของโจทก์ที่ให้ไล่จำเลยที่ ๑ ออกและคำสั่งยกอุทธรณ์ต่อศาลปกครองกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๓๖๙/๒๕๔๗ แล้ว เห็นว่า เมื่อกรุงเทพมหานคร โจทก์เป็นหน่วยงานราชการ ส่วนท้องถิ่นฟ้องอดีตข้าราชการที่อยู่ในสังกัดของตนเอง จึงเป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่นกับเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในบังคับบัญชา ทั้งเหตุแห่งการฟ้องคดีก็สืบเนื่องมาจากการที่โจทก์ ออกคำสั่งทางวินัยลงโทษไล่จำเลยที่ ๑ ออกจากราชการเป็นผลให้จำเลยที่ ๑ ไม่มีสิทธิได้รับบำนาญ ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๑๖ ประกอบพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๐๐ มาตรา ๑๑ (๑) คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ และแม้โจทก์กับจำเลยที่ ๑ จะทำข้อตกลงให้จำเลยที่ ๑ คืนเงินบำนาญหากจะต้องเสียสิทธิในการรับภายหลังเอาไว้ก่อนก็ตาม แต่ในการที่จะวินิจฉัยว่าจำเลยที่ ๑ จะต้องคืนเงินบำนาญให้แก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า คำสั่งทางวินัยของโจทก์ที่ให้ลงโทษไล่จำเลยที่ ๑ ออกจากราชการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเป็นลักษณะของคดีปกครอง ตามมาตรา๒๗๖ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยประกอบมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ทั้งจำเลยที่ ๑ ได้ฟ้องโจทก์ต่อศาลปกครองเพื่อให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวด้วยแล้ว ข้อพิพาท ในคดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดี ระหว่าง กรุงเทพมหานคร โจทก์ นายพิสิษฐ์ สืบมา ที่๑นางอรพินทร์ สืบมา ที่ ๒ นายจเด็ด อินสว่าง ที่ ๓ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) ชาญชัย ลิขิตจิตถะ (ลงชื่อ) วิชัย วิวิตเสวี
(นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ) (นายวิชัย วิวิตเสวี)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท สายัณห์ อรรถเกษม (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สายัณห์ อรรถเกษม) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
คมศิลล์ คัด/ทาน
๖