คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 367/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 61 เป็นบทบังคับให้ศาลพิพากษาให้จำเลยล้มละลายทันที เมื่อได้ดำเนินคดีมาตามขั้นตอนของมาตรานี้ครบถ้วนแล้ว การที่จำเลยยื่นคำขอให้พิจารณา ใหม่และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอของจำเลยแม้จำเลยอุทธรณ์คำสั่งและคดีอยู่ในระหว่างพิจารณา ของศาลอุทธรณ์ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอให้พิจารณา ใหม่ของจำเลยแล้ว คำสั่ง ศาลชั้นต้นให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดย่อมมีผลบังคับได้ต่อไปตาม ป.วิ.พ.มาตรา 145 ประกอบด้วย พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 153 จึงไม่กระทบกระเทือนในการที่ศาลชั้นต้นจะดำเนินคดีล้มละลายต่อไปตามขั้นตอนเนื่องจากคดีล้มละลายจะต้องกระทำโดยเร่งด่วนตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 13 และ 153 หากต่อมาคดีถึงที่สุดโดยให้พิจารณา ใหม่ คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก็เป็นอันเพิกถอนไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 209 ประกอบด้วย พ.ร.บ. ล้มละลายฯมาตรา 153 และคำพิพากษาให้จำเลยล้มละลายก็เป็นอันเพิกถอนไปด้วยตามบทบัญญัติดังกล่าว เพราะการล้มละลายเริ่มต้นมีผลตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 62.

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยให้ล้มละลาย จำเลยขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีไปฝ่ายเดียว แล้วมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด จำเลยยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลย จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานต่อศาลชั้นต้นว่า เจ้าหนี้ลงมติในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกว่า ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยล้มละลาย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ พ.ศ. 2483 มาตรา 61
จำเลยอุทธรณ์ว่า เหตุที่จำเลยไม่ขอประนอมหนี้ เพราะจำเลยมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน หากขอประนอมหนี้ก็จะเป็นการเอาเปรียบเจ้าหนี้และทำให้จำเลยเสียชื่อเสียงเกียรติยศ จำเลยเป็นหนี้โจทก์เพียง 48,488 บาท โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะฟ้องจำเลยให้ล้มละลายหนี้ของเจ้าหนี้รายที่ 4 ขาดอายุความแล้ว ส่วนหนี้ของเจ้าหนี้รายที่ 7 นั้นไม่เป็นความจริง สำหรับหนี้ของเจ้าหนี้รายที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกัน ทรัพย์สินที่จำนองเป็นหลักประกันคุ้มในวงเงิน3,000,000 บาท และหนี้ของเจ้าหนี้รายที่ 5 ก็อยู่ในระหว่างที่จำเลยผ่อนชำระให้
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยไว้เด็ดขาด จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง จำเลยอุทธรณ์ คดีที่เกี่ยวกับคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจึงยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานศาลชั้นต้นให้พิพากษาจำเลยล้มละลายเสียก่อนที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในปัญหาที่จำเลยอุทธรณ์ เป็นการกระทำข้ามขั้นตอนเกี่ยวกับวิธีพิจารณาความล้มละลาย พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาในชั้นฎีกาว่า เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดแล้ว จำเลยยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลย จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นจะมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยล้มละลายได้หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 61 บัญญัติว่า”เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานว่า เจ้าหนี้ได้ลงมติในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกหรือในคราวที่ได้เลื่อนไป ขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายก็ดีหรือไม่ลงมติประการใดก็ดี หรือไม่มีเจ้าหนี้ไปประชุมก็ดี หรือการประนอมหนี้ไม่ได้รับความเห็นชอบก็ดี ให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย…” บทบัญญัติดังกล่าวนี้เป็นบทบังคับให้ศาลพิพากษาให้จำเลยล้มละลายทันที เมื่อได้ดำเนินคดีมาตามขั้นตอนของมาตรานี้ครบถ้วนแล้ว ส่วนปัญหาที่จำเลยยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอให้พิจาณาใหม่ของจำเลย จำเลยอุทธรณ์คำสั่งและคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยแล้ว คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดย่อมมีผลบังคับได้ต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 จึงไม่กระทบกระเทือนในการที่ศาลชั้นต้นจะดำเนินคดีล้มละลายต่อไปตามขั้นตอน เนื่องจากคดีล้มละลายจะต้องกระทำโดยเร่งด่วนตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 13 และมาตรา 153 หากต่อมาคดีถึงที่สุดโดยให้พิจารณาใหม่ คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก็เป็นอันเพิกถอนไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 209 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 และคำพิพากษาให้จำเลยล้มละลายก็เป็นอันเพิกถอนไปด้วยตามบทบัญญัติดังกล่าว เพราะการล้มละลายเริ่มต้นมีผลตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 62 ข้อที่จำเลยกล่าวอ้างมาในอุทธรณ์ว่า จำเลยอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมด และมีเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลายนั้น เป็นข้อที่จะไปว่ากล่าวกันในชั้นที่เมื่อให้มีการพิจารณาใหม่แล้ว ไม่ใช่ข้อที่จะพิจารณาในชั้นนี้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้จำเลยล้มละลายตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share