คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 972/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์เคยยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลาง (ศาลจังหวัดนครสวรรค์)เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2531 เรียกค่าเสียหายที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ ศาลนัดพิจารณาวันที่ 23 มิถุนายน 2531 ไว้แล้ว ต่อมาวันที่ 10 มิถุนายน 2531 โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางเป็นคดีนี้เรียกค่าเสียหายกับเรียกค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า บำเหน็จ ค่าเล่าเรียนบุตร จำเลยให้การต่อสู้คดีและฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ที่ค้างชำระเข้ามาด้วย ครั้นวันที่ 23 มิถุนายน 2531 ซึ่งเป็นวันนัดพิจารณาคดีเดิม โจทก์ไม่ไปศาลตามกำหนด ศาลแรงงานกลาง(ศาลจังหวัดนครสวรรค์) จึงมีคำสั่งจำหน่ายคดี เมื่อมูลคดีของคดีเดิมและคดีนี้เนื่องมาจากโจทก์ขับรถยนต์บรรทุกสินค้าของจำเลยตกเขา อันเป็นมูลคดีเดียวกัน โจทก์มาฟ้องคดีนี้จึงเป็นการยื่นฟ้องในเรื่องเดียวกันเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 ตั้งแต่วันยื่นคำฟ้องแล้ว โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าคดีเดิมศาลแรงงานกลาง (ศาลจังหวัดนครสวรรค์) จะได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีก่อนที่ศาลแรงงานกลางจะมีคำพิพากษาคดีนี้ศาลแรงงานกลางจึงพิพากษายกฟ้องโจทก์ และเมื่อศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องฟ้องแย้งของจำเลยก็ย่อมตกไป เพราะไม่มีฟ้องเดิมและไม่มีตัวโจทก์เดิมที่จะเป็นจำเลยอยู่ต่อไป.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ หน้าที่เป็นพนักงานขับรถยนต์เงินเดือนเดือนละ 3,985 บาท ค่าครองชีพเดือนละ300 บาท ค่าช่วยเหลือบุตร 2 คน คนละ 50 บาท ต่อมาวันที่ 16 ธันวาคม2530 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ฐานประพฤติผิดวินัยอย่างร้ายแรง โดยจำเลยไม่จ่ายเงินบำเหน็จ ค่าเสียหาย ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ทั้งยังให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 390,719.77 บาทแก่จำเลย ความจริงแล้วโจทก์มิได้ขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยโดยประมาทเลินเล่อ หรือจงใจทำให้จำเลยเสียหาย แต่ความเสียหายดังกล่าวเกิดจากเหตุสุดวิสัยซึ่งโจทก์ไม่อาจป้องกันได้แม้ว่าโจทก์ได้ระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะเช่นนั้น จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด จึงต้องชำระค่าชดเชยจำนวน 25,710 บาทสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 4,285 บาท เงินบำเหน็จจำนวน73,202.09 บาท ค่าเล่าเรียนบุตรที่ค้างชำระจำนวน 1,500 บาทค่าเสียหายจำนวน 976,980 บาท แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยเพิกถอนคำสั่งที่เลิกจ้างโจทก์ รับโจทก์กลับเข้าทำงานโดยให้นับอายุงานติดต่อ กับให้จำเลยชำระค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างเดือนละ 4,285 บาทค่าช่วยเหลือบุตรเดือนละ 100 บาท นับแต่วันเลิกจ้างถึงวันรับกลับเข้าทำงาน และค่าเล่าเรียนบุตรที่ค้างชำระ 1,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะรับโจทก์กลับเข้าทำงานหากจำเลยไม่สามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้ ก็ขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 25,710 บาทพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันเลิกจ้างถึงวันฟ้องเป็นเงิน 940.35 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 4,285บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันเลิกจ้างถึงวันฟ้องเป็นเงิน 156.73 บาทเงินบำเหน็จ 73,202.09 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันเลิกจ้างถึงวันฟ้องเป็นเงิน 5,354.78 บาท ดอกเบี้ยของค่าเล่าเรียนบุตรที่ค้างชำระนับแต่วันเลิกจ้างถึงวันฟ้องเป็นเงิน 56.80 บาท ดอกเบี้ยของค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีและดอกเบี้ยของเงินบำเหน็จค่าเล่าเรียนบุตรที่ค้างชำระในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และค่าเสียหายอีก 976,980 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยในตำแหน่งพนักงานขับรถยนต์ เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2528 โจทก์ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลข รสพ.พล. 674 ทะเบียน 70-0047 พิษณุโลกบรรทุกสินค้าจากคลังสินค้าของจำเลยที่กรุงเทพมหานคร เพื่อนำส่งผู้รับตามสถานีรายทางต่าง ๆ คือที่ ร.ส.พ.สถานีเพชรบูรณ์ รสพ.ตะพานหิน รสพ.สถานีพิจิตร ขณะโจทก์ขับรถยนต์คันดังกล่าวไปตามถนนสายเพชรบูรณ์-ตะพานหิน ถึงบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 68-69 อำเภอชนแดนจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นทางลงเขาและเป็นทางโค้ง โจทก์ขับรถด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง ขับด้วยความเร็วสูงจนไม่สามารถบังคับรถยนต์ให้อยู่ในช่องทางเดินรถของตนได้ เป็นเหตุให้รถยนต์ของจำเลยที่โจทก์เป็นผู้ขับชนราวกั้นถนนทางโค้งและตกเขา สินค้าที่บรรทุกบนรถและรถยนต์คันดังกล่าวได้รับความเสียหายมากจำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าของสินค้าที่ว่าจ้างจำเลยขนส่งเป็นเงิน 296,203.77 บาทค่าเสียหายของรถยนต์คันดังกล่าวเป็นเงิน 56,000 บาท ผ้าใบคลุมสินค้า 3 ผืน เป็นเงิน 12,000 บาท ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ 26,516 บาทรวมค่าเสียหายเป็นเงิน 390,719.77 บาท โจทก์ขับรถยนต์ของจำเลยด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์โดยชอบด้วยกฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับของจำเลยแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินตามฟ้อง ขณะที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ โจทก์ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีแรงงานที่ศาลแรงงานกลาง (ศาลจังหวัดนครสวรรค์)ไว้แล้วตามคดีหมายเลขดำที่ 2460/2531 ด้วยมูลละเมิด ผิดกฎหมายคุ้มครองแรงงานอันเนื่องมาจากจำเลยเลิกจ้างโจทก์ ในกรณีและมูลคดีเดียวกันกับคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อน โจทก์มีหนี้ต้องชำระแก่จำเลยเป็นเงิน 390,719.77 บาท จำเลยทวงถามแล้วโจทก์เพิกเฉยขอให้ยกฟ้องโจทก์ และให้โจทก์ชำระเงินจำนวน 390,719.77 บาทแก่จำเลยพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับถัดจากวันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องเรื่องเดียวกับคดีหมายเลขดำที่ 2460/2531 ของศาลแรงงานกลาง (ศาลจังหวัดนครสวรรค์) จึงเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 และวินิจฉัยฟ้องแย้งของจำเลยต่อไปว่า โจทก์ขับรถด้วยความเร็วสูงไม่อาจบังคับรถให้อยู่ในเส้นทางเดินรถได้ รถจึงแหกโค้งตกจากเขา เป็นความประมาทเลินเล่อของโจทก์เป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหาย โจทก์ต้องชำระค่าสินไหมทดแทนแก่จำเลยตามฟ้องแย้งรวม370,719.77 บาท พิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ชำระค่าสินไหมทดแทนจำนวน 370,719.77 บาทแก่จำเลย พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยบรรทุกสินค้าจากกรุงเทพมหานครไปส่งตามสถานีรายทางต่าง ๆ ของจำเลยแล้วรถยนต์คันที่โจทก์ขับได้แหกโค้งตกเขาบริเวณหลักกิโลเมตรที่68-69 อำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2528ต่อมาวันที่ 16 ธันวาคม 2530 จำเลยได้มีคำสั่งที่ ลอ. 385/2530เลิกจ้างโจทก์ฐานประพฤติผิดวินัยอย่างร้ายแรง เนื่องจากโจทก์ขับรถยนต์ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย โจทก์จึงยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลาง (ศาลจังหวัดนครสวรรค์) เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2531 เรียกค่าเสียหายที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นเงิน 976,980 บาท ศาลนัดพิจารณาวันที่ 23 มิถุนายน2531 ต่อมาวันที่ 10 มิถุนายน 2531 โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางเป็นคดีนี้ เรียกค่าเสียหาย 976,980 บาท กับเรียกค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าว บำเหน็จ ค่าเล่าเรียนบุตรที่ค้างชำระ พร้อมดอกเบี้ยเข้ามาด้วย ครั้นวันที่ 23 มิถุนายน 2531 ซึ่งเป็นวันนัดพิจารณาคดีเดิม โจทก์ไม่ไปศาลตามกำหนดนัด ศาลแรงงานกลาง(ศาลจังหวัดนครสวรรค์) จึงมีคำสั่งจำหน่ายคดี และคดีนี้ศาลแรงงานกลางพิพากษาเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2531 เห็นว่า มูลคดีของคดีเดิมและคดีนี้ก็เนื่องมาจาก โจทก์ขับรถยนต์บรรทุกสินค้าของจำเลยตกเขาเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2528 และ จำเลยได้มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2530 มูลคดีทั้งสองคดีนี้เป็นมูลคดีเดียวกัน และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา173(1) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 บัญญัติว่า “นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคำฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา และผลแห่งการนี้
(1) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่น…ฯลฯ”
เมื่อโจทก์ยื่นคำฟ้องคดีเดิมวันที่ 2 มิถุนายน 2531 คดีดังกล่าวจึงอยู่ในระหว่างการพิจารณา และโจทก์มายื่นคำฟ้องคดีนี้ในวันที่ 10 มิถุนายน 2531 โดยอาศัยมูลคดีเดียวกัน และโดยที่คดีเดิมยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา การยื่นคำฟ้องคดีนี้จึงเป็นการยื่นคำฟ้องในเรื่องเดียวกัน ต้องห้ามตามกฎหมายดังกล่าวตั้งแต่วันยื่นคำฟ้องแล้วโดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าคดีเดิมศาลแรงงานกลาง (ศาลจังหวัดนครสวรรค์) จะได้มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีก่อนที่ศาลแรงงานกลางจะมีคำพิพากษาคดีนี้ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่าฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้อน ให้ยกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น และเมื่อศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์แล้วฟ้องแย้งของจำเลยก็ย่อมตกไป เพราะไม่มีฟ้องเดิมและไม่มีตัวโจทก์เดิมที่จะเป็นจำเลยอยู่ต่อไป ที่ศาลแรงงานกลางยังวินิจฉัยฟ้องแย้งของจำเลยและพิพากษาให้โจทก์ชำระค่าเสียหายตามฟ้องแย้งให้แก่จำเลยนั้น เป็นการไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว และเมื่อวินิจฉัยเช่นนี้แล้ว กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์ต่อไป”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง

Share