คำวินิจฉัยที่ 11/2549

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๑/๒๕๔๙

วันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๔๙

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองพิษณุโลก
ระหว่าง
ศาลจังหวัดนครสวรรค์

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองพิษณุโลกโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องกรณีเขตอำนาจศาลขัดแย้งกันให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด ตามพระราชบัญญัติว่าด้วย การวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐วรรคสาม ซึ่งเป็นกรณีศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๔๘ ศาลปกครองพิษณุโลกได้รับคำฟ้องคดีหมายเลขดำที่ ๗๔/๒๕๔๘ระหว่าง นางพา ฤทธิ์ฉ่ำ ผู้ฟ้องคดี องค์การบริหารส่วนตำบลสำโรงชัย ผู้ถูกฟ้องคดี ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของและครอบครองที่ดินซึ่งเป็นที่นาจำนวนเนื้อที่ ๑๔ ไร่ ๑ งาน ๒๐ ตารางวาตามหลักฐาน สค. ๑ เลขที่ ๑๗๒ หมู่ ๔ ตำบลสำโรงชัย อำเภอไพศาลี (อำเภอท่าตะโก เดิม) จังหวัดนครสวรรค์ ผู้ถูกฟ้องคดีได้ว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด แอล ที อาร์ ก่อสร้าง ให้ดำเนินการขุดลอกคลองพร้อมวางท่อระบายน้ำ ผู้รับจ้างได้ขุดลอกคลองซึ่งติดกับที่ดินของผู้ฟ้องคดีแล้วนำดินที่ขุดมาถมเป็นคันคลอง ในที่ดินของผู้ฟ้องคดีตลอดแนวด้านทิศตะวันตก มีความกว้าง ๘ เมตร ยาว๔๔๐ เมตร การขุดลอกคลองและทำคันคลองดังกล่าวจะทำให้น้ำท่วมที่นาของผู้ฟ้องคดีและราษฎรรายอื่น ๆ เพราะแนวคลองขวาง ทางน้ำ ผู้ฟ้องคดีได้ร้องเรียนต่อผู้ถูกฟ้องคดีและนายอำเภอไพศาลีแล้ว แต่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้รับการแก้ไข ความเดือดร้อน ขอให้ศาลสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีรื้อคันคลองและถมกลบคลองให้อยู่ในสภาพเดิม
อธิบดีศาลปกครองพิษณุโลกสั่งให้แยกคดีเป็นสองข้อหาและพิจารณาพิพากษาแยกกันไป โดยข้อหาที่หนึ่งฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีขุดลอกคลองแล้วนำดินที่ขุดลอกไปถมในที่ดินของผู้ฟ้องคดีให้ถือเป็นคดีนี้ ส่วนข้อหาที่สองฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีขุดลอกคลองและทำคันคลองขวางทางน้ำ จะทำให้น้ำท่วมที่นาของผู้ฟ้องคดีให้แยกเป็นคดีใหม่
ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ได้ดำเนินการขุดลอกคลองจริง ตามโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้แก่ประชาชน ซึ่งนายอำเภอไพศาลีผู้มีอำนาจดูแลที่สาธารณะได้ให้ความเห็นชอบโครงการดังกล่าวแล้ว แต่ไม่ได้นำดินไปถมในที่ดินของผู้ฟ้องคดี คลองดังกล่าวเป็นคลองสาธารณประโยชน์มีความกว้างประมาณ ๓๐ เมตร ผู้ฟ้องคดีมีเจตนาบุกรุกแนวเขตคลองสาธารณประโยชน์ทำให้พื้นที่ทางราชการเสียหายและไม่อาจพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นกับประชาชนได้อย่างเพียงพอ
ศาลปกครองพิษณุโลกพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีได้ขุดลอกคลองซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของผู้ฟ้องคดีแล้วนำดินที่ขุดมาถมเป็นคันคลองในที่ดินของผู้ฟ้องคดีตลอดแนว ด้านทิศตะวันตก มีความกว้าง ๘ เมตร ยาว ๔๔๐ เมตร ขอศาลสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีรื้อคันคลอง อันเป็นการกล่าวอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีเป็นหน่วยงานทางปกครองใช้อำนาจตามกฎหมายกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี แต่ผู้ถูกฟ้องคดีโต้แย้งว่าที่ดินพิพาทเป็นแนวเขตคลองสาธารณประโยชน์ ดังนั้นคดีนี้จึงต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินซึ่งผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองโดยชอบ หรือเป็นแนวเขตคลองสาธารณประโยชน์อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันเป็นสำคัญ แล้วจึงพิจารณาได้ว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นละเมิดหรือไม่ ซึ่งการพิจารณาสิทธิในที่ดินว่าผู้ใดมีสิทธิดีกว่ากันย่อมอยู่ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่นที่บัญญัติเรื่องนั้นไว้เป็นพิเศษ รวมทั้งต้องพิจารณาประมวลกฎหมายที่ดินประกอบด้วย คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างคู่กรณี อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๑๖/๒๕๔๘
ศาลจังหวัดนครสวรรค์พิจารณาแล้วเห็นว่า สภาพแห่งคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีนั้นเห็นได้ชัดว่า เป็นการโต้แย้งการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งได้ใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะเป็นราชการส่วนท้องถิ่นและมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลพ.ศ. ๒๕๓๗ ในอันที่จะพัฒนาตำบล ทั้งในด้านเศรษฐกิจสังคม และวัฒนธรรม จัดให้มีและบำรุงรักษาทางน้ำและทางบก รักษาความสะอาดของทางถนน ทางน้ำ ทางเดิน และที่สาธารณะฯลฯ โดยเฉพาะข้อพิพาทอันเป็นประเด็นสาระสำคัญแห่งคดีนั้นเป็นการปรับไถพื้นที่ตรงบริเวณคันคลองซึ่งต่อเนื่องมาจากการขุดลอกคลองสาธารณะประกอบกับตามคำฟ้องผู้ฟ้องคดีก็ยืนยันถึงความเสียหายแจ้งชัดว่า การขุดลอกปรับปรุงแนวคันคลองดังกล่าวทำให้ผู้ฟ้องคดีเสียหายเนื่องจากขวางทางน้ำทำให้เกิดน้ำท่วมเข้าที่นาของผู้ฟ้องคดี และได้แจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีหยุดดำเนินการแล้ว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีเพิกเฉย อีกทั้งคำขอบังคับของผู้ฟ้องคดีก็เห็นได้ว่ามีเจตนาประสงค์ที่จะให้ผู้ถูกฟ้องคดีรื้อคันคลองและกลบถมคลองให้อยู่ในสภาพดังเดิมเช่นก่อนที่จะมีการใช้อำนาจตามหน้าที่นั้น ดังนั้นประเด็นแห่งคดีตามคำฟ้องทั้งหมด แท้จริงแล้วจึงเป็นเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวหาผู้ถูกฟ้องคดีว่ากระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา ๙วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ทั้งสิ้นหามีประเด็นเกี่ยวกับที่ดินพิพาทโดยตรงว่าเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ และการที่ผู้ถูกฟ้องคดียกประเด็นนี้ขึ้นอ้างในคำให้การก็เป็นเพียงถ้อยคำฟุ่มเฟือยเพื่อสนับสนุนความชอบธรรมในการใช้อำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีเท่านั้น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าประเด็นแห่งคดีไม่ใช่กรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีกระทำการใด ๆ เข้าไปในที่ดินผู้ฟ้องคดีโดยตรงแล้วอ้างว่าเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน หากแต่เป็นกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการขุดลอกคูคลองสาธารณะแล้วก่อให้เกิดความเสียหายแก่ที่ดินบุคคลอื่นซึ่งอยู่ใกล้กับคันคลองสาธารณะนั้น เช่นที่ดินผู้ฟ้องคดีนี้ เป็นต้น ดังนั้นจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิด อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นราษฎรยื่นฟ้ององค์การบริหารส่วนตำบลสำโรงชัย ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องสรุปได้ว่าผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของและครอบครองที่ดินซึ่งเป็นที่นาจำนวนเนื้อที่ ๑๔ ไร่ ๑ งาน ๒๐ ตารางวา ตามหลักฐาน สค. ๑ เลขที่ ๑๗๒ หมู่ ๔ ตำบลสำโรงชัย อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์ ถูกผู้ถูกฟ้องคดีนำดินที่ขุดลอกคลองมาถมเป็นคันคลองในที่ดินดังกล่าวตลอดแนวด้านทิศตะวันตกมีความกว้าง ๘ เมตร ยาว ๔๔๐ เมตร การขุดลอกคลองและทำคันคลองดังกล่าวจะทำให้น้ำท่วมที่นาของผู้ฟ้องคดีและราษฎรรายอื่น ๆ เพราะแนวคลองขวางทางน้ำ ขอให้รื้อคันคลองและถมกลบคลองให้อยู่ในสภาพเดิม ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ได้ขุดลอกคลองจริงตามโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้แก่ประชาชน แต่ไม่ได้นำดินไปถมในที่ดินของผู้ฟ้องคดี ที่ที่นำดินไปถมดังกล่าวเป็นคลองสาธารณประโยชน์ที่มีความกว้างประมาณ ๓๐ เมตร ซึ่งผู้ฟ้องคดีบุกรุกทำให้พื้นที่ทางราชการเสียหาย ไม่อาจพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นกับประชาชนได้อย่างเพียงพอสำหรับคดีนี้อธิบดีศาลปกครองพิษณุโลกสั่งให้แยกคดีเป็นสองข้อหา โดยข้อหาแรกฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีขุดลอกคลองแล้วนำดินที่ขุดลอกไปถมในที่ดินของผู้ฟ้องคดีให้ถือเป็นคดีนี้ ส่วนข้อหาที่สองฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีขุดลอกคลองและทำคันคลองขวางทางน้ำ จะทำให้น้ำท่วมที่นาของผู้ฟ้องคดีให้แยกเป็นคดีใหม่ ดังนั้น คดีนี้จึงมีปัญหาที่จะต้องพิจารณาเฉพาะข้อหาแรกเท่านั้น เมื่อผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีนำดินที่ขุดลอกคลองมาถมในที่ดินของตน ขอให้รื้อคันคลองและถมกลบคลองให้อยู่ในสภาพเดิม แต่ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ที่นำดินไปถมมิใช่เป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีแต่เป็นคลองสาธารณประโยชน์ที่ผู้ฟ้องคดีบุกรุก ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ ความเสียก่อนว่า ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นคลองสาธารณประโยชน์ อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างคู่กรณี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดี ระหว่าง นางพา ฤทธิ์ฉ่ำ ผู้ฟ้องคดี องค์การบริหารส่วนตำบลสำโรงชัย ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ชาญชัย ลิขิตจิตถะ ติดราชการ
(นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ) (นายวิชัย วิวิตเสวี)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สายัณห์ อรรถเกษม (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สายัณห์ อรรถเกษม) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

คมศิลล์ คัด/ทาน

Share