คำวินิจฉัยที่ 10/2549

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๐/๒๕๔๙

วันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๔๙

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองพิษณุโลก
ระหว่าง
ศาลจังหวัดนครสวรรค์

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองพิษณุโลกโดยสำนักงานศาลปกครองส่งความเห็นให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐วรรคสาม ซึ่งเป็นกรณีศาลที่รับฟ้องคดีเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจ และศาลที่ส่งความเห็นและรับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
นางสมใจ กลิ่นชื่น ที่ ๑ นางจำรวน คำประกอบ ที่ ๒ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้ององค์การบริหารส่วนตำบลสำโรงชัย ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองพิษณุโลก เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๕๙/๒๕๔๘ สรุปข้อเท็จจริงได้ว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) เลขที่ ๑๐๐ ตั้งอยู่หมู่ที่ ๔ ตำบลสำโรงไชย (สำโรงชัย)อำเภอท่าตะโก (ไพศาลี) จังหวัดนครสวรรค์ เนื้อที่ ๒๔ ไร่ ๑ งาน ๗๕ ตารางวา ได้รับสิทธิครอบครองมาจากบิดาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ โดยครอบครองทำประโยชน์และเสียภาษีบำรุงท้องที่มาโดยตลอด ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๔๖ ทางราชการทำการเดินสำรวจเพื่อออกโฉนดที่ดินผู้ฟ้องคดีทั้งสองนำเจ้าหน้าที่ทำการเดินสำรวจปรากฏว่าได้เนื้อที่ประมาณ ๓๐ ไร่ ๒ งาน ๙๑ตารางวา (ขณะยื่นฟ้องอยู่ระหว่างการดำเนินการออกโฉนดที่ดินของเจ้าหน้าที่) ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีมีโครงการขุดลอกคลองสาธารณประโยชน์ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของผู้ฟ้องคดี ผู้รับจ้างจากผู้ถูกฟ้องคดีได้ทำการขุดลอกคลองซึ่งอยู่ด้านทิศตะวันออกแล้วนำดินที่ขุดลอกมาถมในที่ดินของผู้ฟ้องคดีเป็นเนื้อที่ประมาณ ๓ งาน ๔๕ ตารางวา ทั้งยังขุดคันดินสระน้ำสาธารณะ (สระเพลง) ซึ่งเป็นทางเดินริมสระอยู่ทางทิศใต้ของที่ดินของผู้ฟ้องคดี เพื่อกลั่นแกล้งผู้ฟ้องคดีทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถเข้าออกที่ดินของผู้ฟ้องคดีได้ จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีนำดินที่ถมออกจากที่ดินของผู้ฟ้องคดีแล้วปรับสภาพดินให้เป็นไปตามเดิมและให้ชดใช้ค่าใช้จ่ายในการรังวัดที่ดินและค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมเป็นเงิน ๘,๐๐๐ บาท และขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีกลบหลุมที่ขุดในบริเวณสระน้ำสาธารณประโยชน์ให้เป็นคันดินกว้างตามเดิม และห้ามมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีทำการขุดหลุมในบริเวณดังกล่าวอีก
ต่อมา อธิบดีศาลปกครองพิษณุโลกมีคำสั่งให้แยกคดีเป็นสองข้อหาและพิจารณาพิพากษาแยกกันไป โดยให้แยกข้อหาที่ฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีขุดคันดินสระเพลง ทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถเข้าออกที่ดินของผู้ฟ้องคดีได้ ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีนำดินมากลบหลุมที่ขุดให้เป็นเหมือนเดิม ออกเป็นคดีใหม่ คงเหลือข้อหาที่ฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีขุดลอกคลองซึ่งติดอยู่กับที่ดินของผู้ฟ้องคดีแล้วนำดินที่ขุดมากลบถมในที่ดินของผู้ฟ้องคดี
ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสองครอบครองทำประโยชน์ที่ดินตาม สค.๑จำนวน ๒๔ ไร่ ๑ งาน ๗๕ ตารางวา จริง แต่ที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่ในเขตหวงห้ามของทางราชการทหารตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินในท้องที่อำเภอโคกสำโรงจังหวัดลพบุรี และอำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ พุทธศักราช ๒๔๘๓ ซึ่งในขณะนั้นอำเภอไพศาลีเป็นตำบลหนึ่งอยู่ในเขตปกครองของอำเภอท่าตะโก ย่อมไม่สามารถออกโฉนดที่ดินได้การรังวัดของเจ้าพนักงานที่ดินเป็นเพียงการรังวัดเพื่อตรวจสอบการครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินเพื่อเข้ากระบวนการพิสูจน์สิทธิของอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐเท่านั้นและตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าเมื่อมีการรังวัดที่ดินแล้วปรากฏว่าที่ดินมีเนื้อที่ ๓๐ ไร่ ๒ งาน๙๑ ตารางวา เอกสารดังกล่าวเป็นเพียงใบไต่สวนสิทธิเท่านั้น ผู้ฟ้องคดียังมิได้มีสิทธิในที่ดินส่วนเกิน (จากจำนวน ๒๔ ไร่ ๑ งาน ๗๕ ตารางวา) เพราะยังไม่ได้พิสูจน์สิทธิการได้มาว่าถูกต้องหรือไม่ ซึ่งตามสภาพข้อเท็จจริงคลองสาธารณะที่ทำการขุดลอกนั้นเดิมมีขนาดความกว้างประมาณ ๓๐ เมตร และเคยใช้เป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำ ต่อมาเส้นทางจราจรทางบกสะดวกกว่าจึงเลิกใช้เส้นทางสัญจรทางน้ำ ประกอบกับคลองตื้นเขินราษฎรจึงบุกรุกเข้าไป
ทำประโยชน์และถือสิทธิครอบครอง ผู้ฟ้องคดีมีพฤติกรรมที่จะบุกรุกครอบครองเช่นกัน และการขุดลอกคลองของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย
ผู้ฟ้องคดีคัดค้านคำให้การว่า การรังวัดของเจ้าพนักงานที่ดินในครั้งนั้นเป็นการสำรวจรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดิน ผู้ฟ้องคดีได้รับโอนสิทธิครอบครองมาจากผู้มีสิทธิครอบครองคนก่อนซึ่งครอบครองที่ดินมาก่อนปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ก่อนมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินในท้องที่อำเภอโคกสำโรง จังหวดลพบุรี และอำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ พุทธศักราช ๒๔๘๓ ผู้ฟ้องคดีครอบครองทำประโยชน์ตามแนวเขตที่ปักหลักเขตไว้ต่อเนื่องมาโดยตลอด และไม่มีเจตนาบุกรุกที่ดินตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีกล่าวอ้าง ทั้งคลองสาธารณะที่ทำการขุดนั้นเดิมเป็นทางเกวียน ไม่ใช่คลองสาธารณะตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีกล่าวอ้าง
ผู้ถูกฟ้องคดีให้การเพิ่มเติมว่า ผู้ฟ้องคดียังพิสูจน์ไม่ได้ว่าผู้ฟ้องคดีมีที่ดินจำนวนเนื้อที่เท่าใด เอกสารที่นำมาประกอบการฟ้องเป็นเพียงใบสอบเขตใบไต่สวน และการออกรังวัดดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีไม่ได้แจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีไปทำการรังวัดชี้เขต เพราะที่ดินของผู้ฟ้องคดีอยู่ติดกับทางสาธารณประโยชน์ที่ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นผู้มีหน้าที่ดูแล การขุดลอกคลองของผู้ถูกฟ้องคดีอยู่ในแนวเขตสาธารณะซึ่งเดิมเป็นคลองสาธารณะ ไม่ใช่ทางเกวียนตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้าง
ศาลปกครองพิษณุโลกเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีได้ขุดลอกคลองซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของผู้ฟ้องคดีแล้วนำดินที่ขุดมากลบถมทำเป็นถนนในที่ดินของผู้ฟ้องคดีรวมเนื้อที่ประมาณ๓ งาน ๔๕ ตารางวา และมีคำขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีนำดินที่ถมออกไปจากดินของผู้ฟ้องคดีพร้อมปรับสภาพดินให้เป็นไปตามเดิมและให้ชดใช้ค่าใช้จ่าย อันเป็นการกล่าวอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองใช้อำนาจตามกฎหมายกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้งสอง แต่ผู้ถูกฟ้องคดีโต้แย้งว่าที่ดินพิพาทเป็นแนวเขตคลองสาธารณะเดิม อีกทั้งผู้ฟ้องคดียังพิสูจน์ไม่ได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีมีเนื้อที่เท่าใด ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้บุกรุกแนวเขตคลองสาธารณประโยชน์ จึงเห็นได้ว่าคดีนี้ที่ดินบริเวณพิพาท คู่กรณีทั้งสองฝ่ายซึ่งฝ่ายหนึ่งเป็นเอกชนอีกฝ่ายหนึ่งเป็นรัฐยังโต้แย้งกันว่า ผู้ใดมีสิทธิดีกว่ากัน ศาลต้องพิจารณาให้ได้ความยุติเบื้องต้นเสียก่อนว่าที่ดินบริเวณพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีอันเป็นที่ดินของเอกชน หรือเป็นแนวเขตคลองสาธารณประโยชน์ อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งเป็นที่ดินของรัฐ จึงจะสามารถพิจารณาเกี่ยวกับการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีได้ว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้งสองหรือไม่ และพิจารณาถึงความเสียหายของผู้ฟ้องคดีต่อไปได้ การพิจารณาข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินว่าผู้ใดมีสิทธิดีกว่ากันย่อมอยู่ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายที่ดินหรือกฎหมายอื่นที่บัญญัติเรื่องนั้นไว้เป็นพิเศษ และศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินได้แก่ ศาลยุติธรรม คดีนี้จึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม
ศาลจังหวัดนครสวรรค์เห็นว่า ข้อเท็จจริงปรากฏชัดว่าผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของที่ดินแปลงหนึ่งใกล้กับสระน้ำสาธารณะ (สระเพลง) และอ้างว่าได้รับความเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีขุดลอกคูคลองและปรับแนวดินตรงบริเวณคันคลองสระน้ำสาธารณะดังกล่าว จึงมีคำขอบังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีนำดินที่ขุดจากสระน้ำออกจากที่ดินผู้ฟ้องคดี และปรับคันดินตามแนวสระน้ำเหมือนเดิมเช่นก่อนที่จะมีการใช้อำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีนั้น ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีให้การต่อสู้ทำนองว่ามีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในอันที่จะขุดลอกคูคลองสาธารณะ ทางเดินที่สาธารณะ เพื่อการพัฒนาตำบล ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ โดยหาตั้งเป็นประเด็นพิพาทโดยตรงเกี่ยวกับที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าเป็นของตนว่าเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแต่อย่างใดไม่ หากแต่เป็นการยกขึ้นกล่าวอ้างลอยๆ ในคำให้การเพื่อสนับสนุนการใช้อำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีเท่านั้น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ต้นเหตุอันเป็นที่มาของการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากการขุดลอกสระน้ำและปรับไถที่ตรงคันคลองสระน้ำนั้นแล้วทำให้เกิดความเสียหายแก่ที่ดินผู้ฟ้องคดี โดยไม่มีประเด็นโดยตรงถึงสิทธิของผู้ฟ้องคดีเกี่ยวกับที่ดินที่ครอบครองทำประโยชน์อยู่อีกจึงจะนำคำให้การเกี่ยวกับที่ดินที่ผู้ถูกฟ้องคดียกขึ้นกล่าวอ้างอย่างฟุ่มเฟือยมาตั้งเป็นประเด็นโดยตรงเพื่อให้เกิดประเด็นพิพาทขึ้นว่าคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นหาได้ไม่ และเฉพาะอย่างยิ่งคำขอบังคับของผู้ฟ้องคดีที่ให้ชดใช้ค่าใช้จ่ายในการรังวัดที่ดินนั้นก็เห็นได้ว่าเกิดจากความเสียหายที่ผู้ถูกฟ้องคดีใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายทั้งสิ้น ประกอบกับคำขอที่ให้นำดินที่ถมออกจากที่ดินผู้ฟ้องคดีนั้นก็เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาถึงอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีตามกฎหมายที่ต่อเนื่องมาจากการขุดลอกคูคลองสระน้ำสาธารณะนั้นว่าชอบที่จะกระทำได้หรือไม่ก่อน และโดยอาศัยหลักความชอบด้วยกฎหมายตามบทบัญญัติใดหาไม่เช่นนั้นแล้วก็จะเป็นกรณีที่ศาลยุติธรรมจำต้องพิจารณาการกระทำอันเป็นการกระทำในทางปกครองหรือนิติกรรมทางปกครองด้วย ทั้งๆ ที่เป็นอำนาจของศาลปกครองล้วนๆ ดังที่ได้แยกเขตอำนาจนี้ไปตลอดจนยังเห็นได้ชัดจากแผนที่ในหนังสือแก้ไขคำฟ้องว่าบริเวณที่มีการขุดหลุมโดยผู้ถูกฟ้องคดีนั้นจะห่างจากที่ตั้งของที่ดินผู้ฟ้องคดีและอยู่ในแนวถนนเดียวกันกับที่ตั้งประปาหมู่บ้านสำโรงชัยซึ่งหามีประเด็นว่าที่ดินผู้ฟ้องคดีเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่เลย หากแต่ประเด็นแห่งคดีทั้งหมดล้วนสืบเนื่องมาจากการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีแล้วก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิของผู้ฟ้องคดีในอันที่จะครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินเท่านั้นฉะนั้นกรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของผู้ถูกฟ้องคดีอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว คดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นราษฎรยื่นฟ้ององค์การบริหารส่วนตำบลสำโรงชัยซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การสรุปได้ว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสองอ้างว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหลักฐาน สค. ๑ เลขที่ ๑๐๐หมู่ ๔ ตำบลสำโรงชัย อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์ โดยรับโอนสิทธิครอบครองมาจากผู้มีสิทธิครอบครองคนก่อน เดิมที่ดินแปลงดังกล่าวมีเนื้อที่ ๒๔ ไร่ ๑ งาน ๗๕ ตารางวา ต่อมาทางราชการทำการเดินสำรวจเพื่อออกโฉนดที่ดิน ผู้ฟ้องคดีทั้งสองนำเจ้าหน้าที่ทำการเดินสำรวจปรากฏว่าได้เนื้อที่ประมาณ ๓๐ ไร่ ๒ งาน ๙๑ ตารางวา แต่ในการขุดลอกคลองตามโครงการขุดลอกคลองสาธารณประโยชน์ของผู้ถูกฟ้องคดี ผู้รับจ้างของผู้ถูกฟ้องคดีได้นำดินที่ขุดลอกคลองมาถมในที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นเนื้อที่ประมาณ ๓ งาน ๔๕ ตารางวา ทั้งยังขุดคันดินสระน้ำสาธารณะ (สระเพลง) ซึ่งเดิมใช้เป็นทางเดิน ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองไม่สามารถเข้าออกที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีนำดินที่ถมออกจากที่ดินของผู้ฟ้องคดีแล้วปรับสภาพดินให้เป็นไปตามเดิมและให้ชดใช้ค่าใช้จ่ายในการรังวัดที่ดินและค่าใช้จ่ายอื่นๆ และขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีกลบหลุมที่ขุดในบริเวณสระน้ำสาธารณประโยชน์ให้เป็นคันดินกว้างตามเดิม และห้ามมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีทำการขุดหลุมในบริเวณดังกล่าวอีก ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสองครอบครองทำประโยชน์ที่ดินตาม สค. ๑ จำนวน ๒๔ ไร่ ๑ งาน ๗๕ ตารางวา จริง แต่ที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่ในเขตหวงห้ามของทางราชการทหาร และที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองกล่าวอ้างว่าเมื่อมีการรังวัดที่ดินแล้วปรากฏว่าที่ดินมีเนื้อที่ ๓๐ ไร่ ๒ งาน ๙๑ ตารางวา เป็นเพียงใบไต่สวนสิทธิ ผู้ฟ้องคดีทั้งสองจึงยังไม่มีสิทธิในที่ดินส่วนเกิน ทั้งการขุดลอกคลองของผู้ถูกฟ้องคดีอยู่ในแนวเขตสาธารณะซึ่งเดิมเป็นคลองสาธารณะ ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นผู้บุกรุกแนวเขตสาธารณประโยชน์ คดีนี้อธิบดีศาลปกครองพิษณุโลกสั่งให้แยกคดีเป็นสองข้อหา โดยข้อหาแรกฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีขุดลอกคลองซึ่งติดอยู่กับที่ดินของผู้ฟ้องคดีแล้วนำดินที่ขุดมากลบถมในที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสองให้ถือเป็นคดีนี้ ส่วนข้อหาที่สองฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีขุดคันดินสระเพลง ทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถเข้าออกที่ดินของผู้ฟ้องคดีได้ ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีนำดินมากลบหลุมที่ขุดให้เป็นเหมือนเดิมให้แยกเป็นคดีใหม่ ดังนั้น คดีนี้จึงมีปัญหาที่จะต้องพิจารณาเฉพาะข้อหาแรกเท่านั้น เมื่อผู้ฟ้องคดีทั้งสองอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีนำดินที่ขุดลอกคลองมาถมในที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีนำดินที่ถมออกจากที่ดินของผู้ฟ้องคดีแล้วปรับสภาพดินให้เป็นไปตามเดิมและให้ชดใช้ค่าใช้จ่ายในการรังวัดที่ดินและค่าใช้จ่ายอื่นๆ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ดินที่นำดินไปถมมิใช่เป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง แต่เป็นคลองสาธารณประโยชน์ที่ผู้ฟ้องคดีบุกรุก ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นคลองสาธารณประโยชน์อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างคู่กรณี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางสมใจ กลิ่นชื่น ที่ ๑ นางจำรวนคำประกอบ ที่ ๒ ผู้ฟ้องคดี องค์การบริหารส่วนตำบลสำโรงชัย ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ชาญชัย ลิขิตจิตถะ ติดราชการ
(นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ) (นายวิชัย วิวิตเสวี)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สายัณห์ อรรถเกษม (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
( สายัณห์ อรรถเกษม) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

คมศิลล์ คัด/ทาน

Share