คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 259/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ดูหมิ่นซึ่งหน้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 ผู้ถูกดูหมิ่นไม่จำต้องอยู่ต่อหน้าผู้กล่าวดูหมิ่น ถ้าผู้กล่าวคำดูหมิ่นรู้อยู่ว่าผู้ที่ตนจะด่าดูหมิ่นอยู่ในบริเวณนั้นพอที่จะได้ยินคำด่าดูหมิ่นได้ ก็ย่อมเป็นความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้าตาม มาตรา 393 ได้
จำเลยด่าดูหมิ่นผู้เสียหายซึ่งอยู่ในสวนห่างออกไป 10 วา โดยจำเลยไม่รู้ว่าผู้เสียหายแอบอยู่ในสวน เช่นนี้ ย่อมยังไม่เป็นความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า ตามมาตรา 393

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๑๐ เวลากลางวัน จำเลยได้บังอาจด่าดูหมิ่นนางหนูหรือบรรจบ สมพงษ์ ซึ่งหน้าว่า “อีหนู อีชาติหมาอีหมาเย็ดแม่มัน” เหตุเกิดที่ตำบลกุดน้อย อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๙๓
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๙๓ ปรับ ๓๐๐ บาท บังคับค่าปรับตามมาตรา ๒๙, ๓๐
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เชื่อว่าจำเลยด่าผู้เสียหายตามฟ้อง แต่เห็นว่าขณะด่าผู้เสียหายอยู่ในสวน จำเลยไม่เห็นและไม่ทราบว่าผู้เสียหายอยู่ในสวนได้ยินเสียงที่จำเลยด่า จำเลยมิได้ประสงค์จะให้ผู้เสียหายได้ยิน การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง พิพากษากลับ ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกาปัญหาข้อกฎหมายว่า การดูหมิ่นซึ่งหน้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๙๓ ไม่จำเป็นต้องด่าต่อหน้าต่อตาผู้เสียหายแม้จำเลยจะไม่รู้ว่าผู้เสียหายอยู่ในบริเวณนั้น แต่คำด่าของจำเลยผู้เสียหายได้ยินก็ย่อมเป็นความผิดแล้ว โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยจะรู้หรือไม่ว่าผู้เสียหายได้ยินหรือไม่ หรือประสงค์จะให้ผู้เสียหายได้ยินหรือไม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ดูหมิ่นซึ่งหน้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๙๓ หมายถึงจำเลยดูหมิ่นโดยผู้เสียหายอยู่ในที่เกิดเหตุนั้นซึ่งอาจเป็นการอยู่ต่อหน้าหรือแม้ไม่ต่อหน้าก็ต้องเป็นกรณีที่ผู้เสียหายอยู่ตรงนั้นและจำเลยก็รู้ว่าผู้เสียหายอยู่แถวนั้นด้วย เช่น จำเลยรู้ว่าผู้เสียหายอยู่ในห้องน้ำจึงร้องด่าไป ก็เป็นการดูหมิ่นซึ่งหน้าตามมาตรา ๓๙๓ แล้ว คำพิพากษาฎีกาที่ ๘๕๖-๘๕๗/๒๕๐๒ ที่โจทก์อ้างมาในฎีกานั้น เป็นเรื่องที่จำเลยกล่าวดูหมิ่นผู้เสียหาย เมื่อเดินพ้นไป ๓ วาเท่านั้นจึงเป็นการดูหมิ่นซึ่งหน้าตามมาตรา ๓๙๓ แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดีนี้ดังที่โจทก์นำสืบมาว่าจำเลยได้ด่าดูหมิ่นนางหนูผู้เสียหายและในขณะที่จำเลยด่าดูหมิ่นผู้เสียหายอยู่ห่างที่เกิดเหตุ ๑๐ วาอยู่ในสวนจำเลยไม่ทราบว่าผู้เสียหายแอบอยู่ในสวน ดังนั้น แม้จำเลยจะกล่าวดูหมิ่นผู้เสียหาย ก็หาใช่เป็นการดูหมิ่นซึ่งหน้าตามมาตรา ๓๙๓ ไม่ดังนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๕๖/๒๕๐๙ ระหว่างนายบุญมี แผ่นทอง โจทก์ นางพิทย์ บัวระพา จำเลย ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share