คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1481/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คำให้การในชั้นสอบสวนของ ส. และ ช. แม้จะมีลักษณะเป็นคำซัดทอดในระหว่างผู้ต้องหาด้วยกัน แต่ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายห้ามมิให้รับฟังคำให้การเช่นว่านี้เสียทีเดียว หากการซัดทอดมีเหตุผลรับฟังได้ศาลก็มีอำนาจรับฟังประกอบการพิจารณาได้ ทั้งคำให้การดังกล่าวก็ไม่ปรากฏว่ามีเหตุจูงใจว่าให้การเพื่อให้ตนพ้นความผิดหรือได้รับประโยชน์แต่อย่างใด ศาลจึงรับฟังคำให้การของ ส. และ ช. ประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้
เมื่อปรากฏว่าจำเลยเป็นคนร้ายร่วมกับพวกในการปล้นทรัพย์ แต่ผู้เสียหายและผู้ตายมิได้ถูกยิงในขณะจำเลยกับพวกร่วมกันปล้นทรัพย์ แต่ถูกยิงขณะจำเลยกับพวกพาผู้เสียหายและผู้ตายไปห่างไกลจากที่เกิดเหตุปล้นทรัพย์ถึง 4 กิโลเมตรและอยู่ในท้องที่ต่างตำบลกับท้องที่เกิดเหตุปล้นทรัพย์ ดังนั้น การที่ผู้เสียหายและผู้ตายถูกยิงได้รับบาดเจ็บสาหัสและถึงแก่ความตาย จึงมิใช่เป็นผลจากการยิงต่อเนื่องกับการปล้นทรัพย์ การปล้นทรัพย์ได้ขาดตอนไปแล้ว การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 340 วรรคสาม วรรคสี่ และวรรคท้าย ปัญหานี้แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 289, 340, 340 ตรี และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนเป็นเงิน 68,066 บาท แก่เจ้าของ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 299 (6) (7) (ที่ถูกมาตรา 289 (6) (7) ), 340 วรรคสอง วรรคสี่ และวรรคท้าย ประกอบมาตรา 80, 83 เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นเพื่อปกปิดความผิดฐานปล้นทรัพย์ของตน ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ประหารชีวิต เนื่องจากจำเลยต้องได้รับโทษประหารชีวิต ตามมาตรา 340 วรรคท้าย กรณีไม่มีทางที่จะวางโทษหนักขึ้นกึ่งหนึ่งตามมาตรา 340 ตรี บัญญัติไว้ จึงนำมาตรา 340 ตรี มาปรับด้วยไม่ได้ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนคิดเป็นเงิน 68,066 บาท แก่เจ้าของ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (6) (7), 340 วรรคสอง วรรคสาม วรรคสี่ และวรรคท้าย ประกอบมาตรา 80, 83 เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่เนื่องจากความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นเพื่อความสะดวกในการกระทำความผิดอย่างอื่น เพื่อจะเอาหรือเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่ตนได้กระทำความผิดอื่น เพื่อปกปิดความผิดอื่นของตน หรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตนได้กระทำไว้ตามมาตรา 289 (6) (7) กับความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามมาตรา 340 วรรคท้าย เป็นบทที่มีโทษเท่ากันคือประหารชีวิต ให้ลงโทษฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นเพื่อความสะดวกในการกระทำความผิดอย่างอื่นเพื่อจะเอาหรือเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่ตนได้กระทำความผิดอื่น เพื่อปกปิดความผิดอื่นของตน หรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตนได้กระทำไว้ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2531 ถึงวันที่ 13 ตุลาคม 2531 ขณะที่นายสมโภชน์ มัฏฐาพันธ์ ผู้เสียหายขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อ หมายเลขทะเบียน 81 – 3117 ชลบุรี บรรทุกสินค้า 108 รายการ คิดเป็นเงิน 521,998 บาท ไปจอดที่สถานีบริการน้ำมันพันท้ายนรสิงห์ หมู่ที่ 5 ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ถูกคนร้ายหลายคนปล้นทรัพย์ที่อยู่บนรถกับเงินของผู้เสียหายจำนวน 7,500 บาทไป จากนั้นคนร้ายขับรถไปถึงตำบลคอกกระบือ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ห่างจากที่เกิดเหตุปล้นทรัพย์ประมาณ 4 กิโลเมตร คนร้ายได้ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายถูกที่ใบหน้า 1 นัด ได้รับบาดเจ็บสาหัสตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์เอกสารหมาย ปจ.2 (ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี) และยิงนางจินตนา ใจโอบอ้อม กับเด็กหญิงชื่นกมล ใจโอบอ้อม ผู้ตายทั้งสองถึงแก่ความตายตามรายงานการชันสูตรพลิกศพ เอกสารหมาย จ.2 โจทก์ได้ฟ้องนายเอื้อม ใจดี นายสุวุฒิ หรือเอก ทิพย์ประเสริฐ และนายชูชาติหรือดำ มีประวัติ ในความผิดฐานร่วมกับพวกปล้นทรัพย์และร่วมกับพวกฆ่าผู้อื่นกับพยายามฆ่าผู้อื่น ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4147/2533 ของศาลชั้นต้น คดีถึงที่สุดโดยนายเอื้อม มีความผิดฐานรับของโจร นายสุวุฒิและนายชูชาติ มีความผิดฐานร่วมกับพวกปล้นทรัพย์ กับโจทก์ได้ฟ้องนายบุญเชิดหรืออ้วน ซื่อสัตย์ ในความผิดฐานร่วมกับพวกปล้นทรัพย์ และร่วมกับพวกฆ่าผู้อื่นกับพยายามฆ่าผู้อื่น เป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2658/2534 ของศาลชั้นต้น คดีถึงที่สุดโดยนายบุญเชิดมีความผิดฐานรับของโจร ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายเบิกความว่า ในวันเกิดเหตุมีคนร้าย 3 คน คนหนึ่งถืออาวุธมีดมาทางด้านคนขับที่ผู้เสียหายนั่ง ส่วนคนร้ายอีกสองคนมาทางด้านที่นางจิตนาภริยาของผู้เสียหายนั่ง คนหนึ่งถืออาวุธมีด อีกคนหนึ่งถืออาวุธปืนและคนร้ายที่คุมนางจินตนาคือจำเลยซึ่งเป็นคนใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บสาหัส และนายอู๊ด คงเฉนียร เบิกความว่า เป็นเจ้าของรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน ม – 6033 นนทบุรี และรู้จักกับจำเลยดี หลายปีมาแล้วจำเลยได้มาขอยืมรถยนต์ไปงานศพญาติที่จังหวัดลพบุรี 3 วัน โดยให้ค่าตอบแทนเป็นเงิน 1,100 บาท หลังจากนั้น 2 วัน จำเลยขับรถมาให้ซ่อมไดสตาร์ท นายอู๊ดให้มารับรถเวลา 19 นาฬิกา ถึงเวลานัดจำเลยไม่มา นายอู๊ดไปดูที่ท้ายรถพบซองปืนตกอยู่ 2 ซอง กระติกน้ำ 1 ใบ และเสื่อ 1 ผืน จึงนำไปคืนที่บ้านบิดาจำเลย หลังจากนั้นทราบข่าวจากหนังสือพิมพ์ว่าคนร้ายนำรถกระบะคันดังกล่าวไปปล้นรถยนต์บรรทุกสิบล้อที่จังหวัดสมุทรสาคร เจ้าพนักงานตำรวจได้ยึดรถไว้ตรวจสอบ นายบุรี หิรัญ เบิกความว่า รู้จักกับนายสุวุฒิหรือเอก ทิพย์ประเสริฐ นายสุวุฒิบอกว่าต้องการหาโกดังเก็บของโดยจำเลยมาร่วมพูดคุยด้วย นายบุรีพานายสุวุฒิและจำเลยไปรับประทานอาหาร เมื่อพิจารณาประกอบคำให้การในชั้นสอบสวนของนายสุวุฒิ และนายชูชาติ ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.13 และ จ.14 ตามลำดับในสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 4147/2533 ของศาลชั้นต้นแล้ว เห็นว่า นายสุวุฒิและนายชูชาติให้การยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้ายร่วมในการปล้นทรัพย์ครั้งนี้โดยระบุถึงผู้ร่วมกระทำความผิดและความสัมพันธ์ระหว่างกัน ตลอดจนพฤติการณ์ในการกระทำผิดทั้งก่อนเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุโดยละเอียด และให้การหลังจากที่ถูกจับกุมเพียงวันเดียว ตามพฤติการณ์เชื่อได้ว่านายสุวุฒิและนายชูชาติให้การต่อพนักงานสอบสวนด้วยความสัตย์จริง โดยไม่มีเวลาและโอกาสแต่งเรื่องได้ ที่จำเลยฎีกาว่าคำให้การในชั้นสอบสวนของนายสุวุฒิและนายชูชาติเป็นคำซัดทอดของผู้ต้องหาด้วยกันไม่อาจนำมารับฟังลงโทษจำเลยได้นั้น เห็นว่า คำให้การในชั้นสอบสวนของนายสุวุฒิและนายชูชาติแม้จะมีลักษณะเป็นคำซัดทอดในระหว่างผู้ต้องหาด้วยกันก็ตาม แต่ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายห้ามมิให้รับฟังคำให้การเช่นว่านี้เสียทีเดียว หากคำซัดทอดมีเหตุผลรับฟังได้ ศาลก็มีอำนาจรับฟังประกอบการพิจารณาได้ ทั้งคำให้การดังกล่าวก็ไม่ปรากฏว่ามีเหตุจูงใจว่าให้การเพื่อให้ตนพ้นความผิดหรือได้รับประโยชน์แต่อย่างใด จึงรับฟังคำให้การของนายสุวุฒิและนายชูชาติประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ ดังนั้นข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบมาฟังได้ว่าจำเลยเป็นคนร้ายร่วมกับพวกในการปล้นทรัพย์ แต่ปรากฏว่า ผู้เสียหายและผู้ตายทั้งสองมิได้ถูกยิงในขณะจำเลยกับพวกร่วมกันปล้นทรัพย์ แต่ขณะถูกยิงจำเลยกับพวกพาผู้เสียหายและผู้ตายทั้งสองไปห่างจากที่เกิดเหตุปล้นทรัพย์ถึง 4 กิโลเมตร และอยู่ในท้องที่ตำบลคอกกระบือต่างตำบลกับท้องที่เกิดเหตุปล้นทรัพย์ซึ่งอยู่ที่ตำบลพันท้ายนรสิงห์ การที่ผู้เสียหายและผู้ตายทั้งสองถูกยิงได้รับบาดเจ็บสาหัสและถึงแก่ความตายจึงมิใช่เป็นผลจากการยิงต่อเนื่องกับการปล้นทรัพย์ การปล้นทรัพย์ได้ขาดตอนไปแล้ว การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสาม วรรคสี่ และวรรคท้าย ปัญหานี้แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยฆ่าผู้ตายทั้งสอง และพยายามฆ่าผู้เสียหายหรือไม่ ผู้เสียหายเบิกความว่า คนร้ายที่คุมนางจินตนาคือจำเลย และจำเลยเป็นคนใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บสาหัส แต่ผู้เสียหายเบิกความในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4147/2533 และในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2658/2534 ของศาลชั้นต้นว่าในวันเกิดเหตุจำคนร้ายได้เพียงคนเดียวคือนายเอื้อม ใจดี คนที่ขับรถแทนผู้เสียหายและใช้ผ้าโพกศีรษะ ดังนั้น คำเบิกความของผู้เสียหายจึงไม่อยู่กับร่องกับรอย กรณีเป็นที่สงสัยตามสมควรว่าผู้เสียหายจะเห็นและจำคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายได้หรือไม่ และในส่วนของคนร้ายที่ยิงผู้ตายทั้งสองโจทก์ไม่มีประจักษ์พยานมาเบิกความยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้ยิง และนอกจากจำเลยยังมีคนร้ายอีกหลายคน อาจมีคนร้ายบางคนใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายและผู้ตายทั้งสอง โดยจำเลยมิได้ร่วมรู้เห็นด้วย จึงสมควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง ประกอบมาตรา 340 ตรี จำคุก 24 ปี ยกฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (6) (7) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7

Share