แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจเงินทุนฯ มาตรา 4 บัญญัติว่า “ธุรกิจเงินทุน” หมายความว่า ธุรกิจการจัดหามาซึ่งเงินทุนและใช้เงินนั้นในการประกอบกิจการอย่างใดอย่างหนึ่ง จำแนกประเภทได้ดังต่อไปนี้…” นั้น ย่อมมีความหมายว่าการประกอบธุรกิจเงินทุนต้องมีการจัดหาเงินทุนและกำหนดกิจการใช้เงินทุนไว้ 5 ประเภท ซึ่งทุกประเภทได้บัญญัติถึงกิจการการหาเงินทุนไว้คือ “กิจการจัดหาเงินทุนจากประชาชน” ทั้งได้บัญญัติด้วยว่า “จัดหาเงินทุนจากประชาชน” หมายความรวมถึง กู้ยืมเงินหรือรับฝากเงินจากประชาชนด้วย ดังนี้ ความหมายของการประกอบธุรกิจเงินทุนที่จะต้องอยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจเงินทุนฯ จะต้องเป็นธุรกิจที่มุ่งหมายจัดหาเงินทุนมาจากประชาชนทั่วไปโดยมิได้จำกัดว่าเป็นผู้ใด ดังนั้น แม้สัญญาขายโอนสิทธิเรียกร้อง (ในประเทศ) ที่เจ้าหนี้ทำกับบริษัท พ. จะมีข้อตกลงให้เจ้าหนี้ได้ประโยชน์มีสิทธิเรียกเอาดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี หรือข้อตกลงอื่นๆ ที่ให้เจ้าหนี้ได้รับประโยชน์ก็ตามข้อตกลงเหล่านั้นก็เป็นข้อผูกพันระหว่างเจ้าหนี้กับบริษัท พ. เท่านั้น มิใช่การประกอบธุรกิจเงินทุนที่มุ่งหมายจัดหาเงินทุนจากประชาชนทั่วไป ทั้งมิได้เพิ่มภาระแก่ลูกหนี้ให้ต้องรับผิดยิ่งไปกว่าหนี้ที่ลูกหนี้จะต้องรับผิดต่อบริษัท พ. แต่อย่างใด ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อกฎหมาย และแม้จะเป็นการตกลงซื้อขายสิทธิเรียกร้องที่จะมีขึ้นในอนาคตเป็นคราวๆ ไป ข้อตกลงเช่นนี้เป็นเพียงข้อผูกพันที่จะเลือกซื้อหรือขายสิทธิเรียกร้องในหนี้ในโอกาสข้างหน้าต่อไป มิใช่นิติกรรมซึ่งคู่สัญญาทำขึ้นเพื่ออำพรางการกู้ยืมเงิน และเป็นข้อตกลงที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ไม่ตกเป็นโมฆะ
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และตั้งบริษัทสเตคอนแอคมินัสเทรเตอร์ จำกัด เป็นผู้ทำแผน ต่อมาศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการโดยมีผู้ทำแผนเป็นผู้บริหารแผน
เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ในมูลนี้ตามสัญญาขายโอนสิทธิเรียกร้องเป็นเงินจำนวน 4,499,650.44 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 3,601,299 บาท นับถัดจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจนกว่าจะได้รับชำระเสร็จ
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ให้บรรดาเจ้าหนี้ ลูกหนี้ และผู้ทำแผนตรวจคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา90/29 แล้ว มีผู้ทำแผนโต้แย้งคำขอชำระหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วมีคำสั่งให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จำนวน 4,499,650.44 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 3,601,299 บาท นับถัดจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้จนกว่าจะชำระเสร็จ
ลูกหนี้ยื่นคำร้องคัดค้านว่า สัญญาขายโอนสิทธิเรียกร้องไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่มีผูกพันลูกหนี้ ขอให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำคัดค้านว่า คำสั่งของเจ้าพิทักษ์ทรัพย์ชอบแล้ว ขอให้ยกคำร้อง
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้องของลูกหนี้
ลูกหนี้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของลูกหนี้ว่า สัญญาขายโอนสิทธิเรียกร้อง (ในประเทศ) FACTORING AGREEMENT (DOMESTIC) ที่เจ้าหนี้กับบริษัทพาวเวอร์ ไลน์ แอสเซสเซอร์รี่ จำกัด ทำไว้ต่อกันเป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 มาตรา 4 ได้บัญญัติว่า “ธุรกิจเงินทุน” หมายความว่า ธุรกิจการจัดหามาซึ่งเงินทุนและใช้เงินนั้นในการประกอบกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งจำแนกประเภทได้ดังต่อไปนี้…” นั้นย่อมมีความหมายว่า การประกอบธุรกิจเงินทุนต้องมีการจัดหาเงินทุนมาและกำหนดกิจการใช้เงินทุนไว้ 5 ประเภท ซึ่งทุกประเภทได้บัญญัติถึงกิจการการหาเงินทุนไว้คือ “กิจการจัดหาเงินทุนจากประชาชน” ทั้งได้บัญญัติด้วยว่า “จัดหาเงินทุนจากประชาชน” หมายความรวมถึง กู้ยืมเงินหรือรับฝากเงินจากประชาชนด้วย ดังนี้ ความหมายของการประกอบธุรกิจเงินทุนที่ต้องอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 จะต้องเป็นธุรกิจที่มุ่งหมายจัดหาเงินทุนมาจากประชาชนทั่วไปโดยมิได้จำกัดว่าเป็นผู้ใด ซึ่งข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่าเจ้าหนี้ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์ประกอบการตามหนังสือรับรองการเป็นนิติบุคคลของเจ้าหนี้ท้ายคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ทั้งสิ้น 44 ข้อ โดยข้อที่ 41 กำหนดไว้ว่า “โอน รับโอนสิทธิเรียกร้องที่เกิดจากการจำหน่ายสินค้า การให้บริการการกู้ยืมเงิน และการอื่นๆ ทุกชนิด” และแม้สัญญาขายโอนสิทธิเรียกร้อง (ในประเทศ) ที่เจ้าหนี้ทำกับบริษัทพาวเวอร์ ไลน์ แอสเซสเซอร์รี่ จำกัด จะมีข้อตกลงให้เจ้าหนี้ได้ประโยชน์มีสิทธิเรียกเอาดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี หรือข้อตกลงอื่นๆ ที่ให้เจ้าหนี้ได้รับประโยชน์ก็ตาม ข้อตกลงเหล่านั้นก็เป็นข้อผูกพันระหว่างเจ้าหนี้กับบริษัท พาวเวอร์ ไลน์ แอสเซสเซอร์รี่ จำกัด เท่านั้น มิใช่การประกอบธุรกิจเงินทุนที่มุ่งหมายจัดหาเงินทุนจากประชาชนทั่วไป ทั้งมิได้เพิ่มภาระแก่ลูกหนี้ให้ต้องรับผิดยิ่งไปกว่าหนี้ที่ลูกหนี้จะต้องรับผิดต่อพาวเวอร์ ไลน์ แอสเซสเซอร์รี่ จำกัด แต่อย่างใด ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อกฎหมายและแม้จะเป็นการตกลงซื้อขายสิทธิเรียกร้องที่จะมีขึ้นในอนาคตเป็นคราวๆ ไป ข้อตกลงเช่นนี้เป็นเพียงข้อผูกพันที่จะเลือกซื้อหรือขายสิทธิเรียกร้องในหนี้ในโอกาสข้างหน้าต่อไป มิใช่นิติกรรมซึ่งคู่สัญญาทำขึ้นเพื่ออำพรางการกู้ยืมเงิน จึงมิใช่นิติกรรมอำพรางตามที่ลูกหนี้อุทธรณ์ และเป็นข้อตกลงที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนไม่ตกเป็นโมฆะ…ข้อนำสืบของลูกหนี้มีน้ำหนักน่าเชื่อว่าลูกหนี้ได้ชำระหนี้จำนวนที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ให้แก่พาวเวอร์ ไลน์ แอสเซสเซอร์รี่ จำกัด แล้ว แม้เป็นการชำระหนี้ภายหลังจากได้รับบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้อง แต่ตามสัญญาขายโอนสิทธิเรียกร้อง (ในประเทศ) ให้มีผลเท่ากับพาวเวอร์ ไลน์ แอสเซสเซอร์รี่ จำกัด ได้รับชำระหนี้ไว้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาดังกล่าว เจ้าหนี้จึงไม่อาจจะเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ซ้ำอีก และไม่อาจขอรับชำระหนี้ตามขอได้”
พิพากษากลับ ให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้