คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1201/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บทบัญญัติมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 ซึ่งมิให้ถือเป็นความผิด หากผู้ออกเช็คได้นำเงินไปชำระแก่ผู้ทรงหรือแก่ธนาคารเพื่อจ่ายเงินตามเช็คภายใน 7 วัน ฯลฯ นั้น หมายถึง นับแต่วันธนาคารได้บอกกล่าวการปฏิเสธจ่ายเงินให้แก่ผู้ออกเช็คทราบ ฉะนันเมื่อธนาคารยังมิได้บอกกล่าว เมื่อมีการชำระเงินให้แก่ผู้ทรงเช็ค จึงยังคงถือว่าอยู่ภายในกำหนดเวลานี้อยู่ เพราะยังไม่อาจนับกำหนดเวลาได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบังอาจออกเช็คโดยเจตนาไม่ใช้เงิน สั่งจ่ายเงินจำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท แก่นายสมควร นายสมควรได้นำไปแลกเงินสดกับนายพิสุทธื์ ผู้ซึ่งนำไปแลกเงินสดกับนายสอาด อีกทอดหนึ่ง ครั้นเมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน นายสอาดได้นำเช็คไปแลกเงินสดกับนายพิสุทธื์ กลับคืน นายพิสุทธิ์จึงได้ร้องทุกข์ดำเนินคดี ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓
ศาลอนุญาตให้นายพิสุทธิ์ผู้เสียหายเข้าเป็นโจทก์ร่วม
จำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้ สรุปรวมว่าจำเลยได้ชำระเงินตามเช็คพิพาทแก่นายสมควรเสร็จสิ้นไปแล้ว แต่นายสมควรยังไม่คืนเช็คให้และสมคบกับบุคคลดังกล่าวมาตามฟ้องฉ้อโกงจำเลย
ระหว่างพิจารณา จำเลยแถลงต่อศาลว่า นายสมควรได้ชำระเงินตามเช็คแก่โจทก์ร่วมแล้ว และเมื่อศาลหมายเรียกมาสอบถาม โจทก์ร่วมรับว่าเป็นความจริง แต่ไม่ขอถอนคำร้องทุกข์ โดยประสงค์ให้จำเลยรับโทษ
ศาลชั้นต้นเห็นว่า เมื่อนายสำควรชำระเงินตามเช็คให้โจทก์ร่วม จึงถือได้ว่าจำเลยได้ชำระเงินแก่ผู้ทรงเช็คแล้ว และเมื่อยังไม่ปรากฏว่าธนาคารได้บอกกล่าวการปฏิเสธจ่ายเงินให้จำเลยผู้ออกเช็คทราบ จึงถือว่าการชำระเงินแก่ผู้ทรง ยังอยู่ภายในกำหนดเวลา ๗ วันตามมาตรา ๕ เพราะยังไม่อาจนับระยะเวลาได้ คดีเป็นอันเลิกกัน ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๙๖/๒๕๐๗ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ร่วมฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับแต่ฎีกาในข้อกฎหมายเกี่ยวกับมาตรา ๓ และ ๕ แห่งพระราชบัญญัติเช็ค ฯ พ.ศ. ๒๔๙๗
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อนายสมควรได้ชำระเงินตามเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ร่วมกรณี จึงถือได้ว่าจำเลยได้ชำระเงินแก่ผู้ทรงเช็คแล้ว ทั้งการชำระเงินก็ไม่พ้นกำหนดเวลาตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๕ เพราะธนาคารยังมิได้แจ้งการปฏิเสธจ่ายเงินให้จำเลยทราบ กรณีว่ายังไม่อาจนับเวลาได้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๙๖/๒๕๐๗ ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงแนววินิจฉัยของคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๖๘/๒๕๐๕ ซึ่งวินิจฉัยให้เป็นหน้าที่ผู้ออกเช็คที่จะติดต่อสอบถามธนาคาร
พิพากษายืน

Share