คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8703/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 เป็นผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ชำระสะสางการงานของจำเลยที่ 1 ให้เสร็จไป กับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1250 เมื่อปรากฏตามงบดุล หมายเหตุประกอบงบการเงิน ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2546 และรายงานการชำระบัญชี จำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินเป็นเงินสดคงเหลือ 1,400,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 3 จะแบ่งคืนเงินจำนวนนี้ให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนได้แต่เพียงเท่าที่ไม่ต้องเอาไว้ใช้ในการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 เท่านั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1269 การที่จำเลยที่ 3 แบ่งเงินจำนวนดังกล่าวเฉลี่ยคืนให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนโดยไม่นำไปชำระหนี้ภาษีอากรค้างให้แก่โจทก์โดยที่ทราบดีอยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 ค้างชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามฟ้องต่อโจทก์ตั้งแต่ก่อนจำเลยที่ 1 จดทะเบียนเลิกห้างจึงเป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่ฐานะผู้ชำระบัญชีโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดในหนี้ภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระโจทก์จำนวน 961,681.80 บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่เกินกว่าเงินสดคงเหลือจำนวน 1,400,000 บาท ที่จำเลยที่ 3 แบ่งคืนให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้ภาษีอากรค้างจำนวน 961,681.80 บาท แก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมรับผิดชำระหนี้ภาษีอากรค้างจำนวน 961,681.80 บาท แก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเลิกห้างเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2546 และจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2546 โดยมีจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระบัญชี จำเลยที่ 1 ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีเมษายนถึงกรกฎาคม 2540 และเดือนภาษีมกราคม มีนาคมและมิถุนายน 2541 เกินกำหนดเวลาตามกฎหมาย และชำระภาษีอากรให้โจทก์ไว้ไม่ครบถ้วน ต่อมาจำเลยที่ 1 ชำระค่าภาษีอากรบางส่วนตามแบบขอชำระภาษีอากร โดยจำเลยที่ 1 ยังค้างชำระภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีเมษายน พฤษภาคม กรกฎาคม 2540 และเดือนภาษีมีนาคม มิถุนายน 2541 รวมเงินเพิ่มคำนวณถึงวันฟ้องเป็นจำนวนทั้งสิ้น 961,681.80 บาท ตามบันทึกรายละเอียดการชำระหนี้ภาษีอากรค้างเอกสารหมาย จ. 1 แผ่นที่ 32 ถึง 38
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการเดียวว่า จำเลยที่ 3 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระหนี้ภาษีอากรค้างจำนวน 961,681.80 บาท แก่โจทก์หรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 และเป็นบุคคลคนเดียวกันกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ย่อมทราบดีอยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 ค้างชำระหนี้ภาษีอากรแก่โจทก์ จำเลยที่ 3 จึงมีหน้าที่ต้องจัดการชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ก่อนจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี แต่จำเลยที่ 3 กลับแบ่งคืนทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 จำนวน 1,400,000 บาท ให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนไป เห็นว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด จึงมีหน้าที่ชำระสะสางการงานของจำเลยที่ 1 ให้เสร็จไป กับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 1250 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้ความว่า จำเลยที่ 3 เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ทั้งก่อนที่จำเลยที่ 1 จะจดทะเบียนเลิกห้างเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2546 และจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2546 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการเคยผ่อนชำระภาษีมูลค่าเพิ่มต่อโจทก์ตามแบบขอชำระภาษีอากรคงค้างสำหรับเดือนภาษีเมษายน 2540 เดือนภาษีพฤษภาคม 2540 เดือนภาษีกรกฎาคม 2540 เดือนภาษีมีนาคม 2541 ตามเอกสารหมาย จ. 1 แผ่นที่ 161 และเดือนภาษีมิถุนายน 2541 โดยการผ่อนชำระค่าภาษีดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 28 มกราคม 2545 ถึงวันที่ 2 มิถุนายน 2546 จึงเป็นข้อบ่งชี้ว่า จำเลยที่ 3 ทราบดีอยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 ค้างชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามฟ้องต่อโจทก์ตั้งแต่ก่อนจำเลยที่ 1 จดทะเบียนเลิกห้าง เมื่อปรากฏตามงบดุล หมายเหตุประกอบงบการเงิน ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2546 และรายงานการชำระบัญชีว่า ในการชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินเป็นเงินสดคงเหลือ 1,400,000 บาท และมีการแบ่งคืนทรัพย์สินไปแล้ว ซึ่งจำเลยที่ 3 จะแบ่งคืนเงินจำนวนนี้ให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนได้แต่เพียงเท่าที่ไม่ต้องเอาไว้ใช้ในการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 เท่านั้น ตามมาตรา 1269 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การที่จำเลยที่ 3 แบ่งเงินจำนวนดังกล่าวเฉลี่ยคืนให้แก่ผู้ถือหุ้นโดยไม่นำไปชำระหนี้ภาษีอากรค้างให้แก่โจทก์จึงเป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ชำระบัญชีโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดในหนี้ภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระโจทก์จำนวน 961,681.80 บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่เกินกว่าเงินสดคงเหลือจำนวน 1,400,000 บาท ที่จำเลยที่ 3 แบ่งคืนให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนไป ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ชำระบัญชีร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระหนี้ภาษีอากรค้างจำนวน 961,681.80 บาท และค่าฤชาธรรมเนียมแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share