แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
(คำสั่ง) ที่ ๓๔/๒๕๔๘
วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๘
เรื่อง การยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐
ศาลแพ่งกรุงเทพใต้
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งกรุงเทพใต้โดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๔๕ บริษัทยะลาทองอยู่ จำกัด โจทก์ ได้ยื่นฟ้องการรถไฟ แห่งประเทศไทย จำเลย ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๗๒๗/๒๕๔๕ ความว่า เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๓๓ โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินบริเวณสถานีรถไฟยะลาที่ตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา กับจำเลย เพื่อปลูกสร้างอาคารสถานีรถไฟยะลา อาคารพาณิชย์จำนวน ๑๕๗ คูหา ลานเอนกประสงค์ พร้อมส่วนประกอบอื่น ๆ โดยยกทรัพย์สินทั้งหมดให้จำเลย จำเลยยินยอมให้โจทก์จัดหาผลประโยชน์มีกำหนด ๓๐ ปี มีกำหนดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา ๕ ปี และได้มีการขยายเวลาก่อสร้างตามโครงการออกไปอีก ๘ ปี นับแต่วันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๔๒ ถึงวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๐ โจทก์ได้ก่อสร้างอาคารสถานีรถไฟแล้วเสร็จส่งมอบให้จำเลยใช้ประโยชน์แล้ว และก่อสร้างอาคารพาณิชย์แล้วเสร็จบางส่วน ต่อมาจำเลยได้มีหนังสือลงวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๔๔ บอกเลิกสัญญาเช่ากับโจทก์ โดยอ้างว่าโจทก์กระทำผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญโดยไม่ดำเนินการรื้อย้ายซุ้มร้านค้า เพิงค้าขายและแผงลอยในที่ต่าง ๆ รวมทั้งไม่รื้อถอนส่วนที่ผู้เช่าต่อเติมด้านหน้าหรือด้านหลังของอาคารพาณิชย์ภายในเวลาที่จำเลยกำหนด ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน ๔๐๗,๒๙๔,๖๓๙ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันผิดสัญญาจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้นและชำระค่าเสียหายตามปกติและค่าเสียหายที่เกิดจากพฤติการณ์ที่ควรคาดเห็นและสามารถคาดเห็นได้ถึงพฤติการณ์นั้น
จำเลยยื่นคำให้การว่า จำเลยได้ทำสัญญาให้เช่าที่ดินบริเวณสถานีรถไฟกับโจทก์จริง โดยโจทก์มีหน้าที่ต้องปลูกสร้างอาคารให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่โจทก์ปฏิบัติผิดสัญญาไม่ก่อสร้างอาคารให้แล้วเสร็จตามสัญญา ต่อเติมสิ่งปลูกสร้างผิดแบบ ไม่ชำระค่าเช่า ค่าภาษี ตามสัญญา อันเป็นการผิดสัญญา จึงบอกเลิกสัญญา โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งโจทก์อ้างว่าการกระทำของโจทก์ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับโจทก์ส่งมอบพื้นที่เช่าคืนพร้อมทั้งขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปห้ามมิให้โจทก์เข้ายุ่งเกี่ยวกับพื้นที่เช่าอีกต่อไป ให้ชำระค่าใช้ประโยชน์ในอัตราเดือนละ ๑๕๑,๒๕๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบพื้นที่คืน และให้ชำระค่าเสียหายจำนวน ๑๘๔,๔๕๔,๙๘๙.๖๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ฟ้องแย้งของจำเลยเคลือบคลุม ข้ออ้างของจำเลยที่ใช้เป็นเหตุบอกเลิกสัญญากับโจทก์มิใช่ข้อสาระสำคัญ โจทก์ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ จากโจทก์ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ สืบพยานโจทก์นัดแรกเมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๔๖
ต่อมา เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า มูลคดีพิพาทอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแพ่งกรุงเทพใต้พิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง จึงส่งความเห็นไปยังสำนักงานศาลปกครอง เพื่อให้ศาลปกครองกลางอันเป็นศาลที่คู่ความร้องว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจจัดทำความเห็น ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางแพ่ง อยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา การยื่นคำร้องของผู้ถูกฟ้องคดีชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลหรือไม่
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาลใด ถ้าคู่ความ ฝ่ายที่ถูกฟ้องเห็นว่าคดีดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลที่รับฟ้องก่อนวันสืบพยานสำหรับศาลยุติธรรมหรือศาลทหารหรือก่อนวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกสำหรับศาลปกครองหรือศาลอื่น…” และข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ว่าด้วยวิธีการเสนอเรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๒๘ บัญญัติว่า “หากคำร้องที่ยื่นไว้ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติ…คณะกรรมการจะมีคำสั่งให้ยกคำร้องเสียก็ได้” ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงคดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ สืบเนื่องมาจากจำเลยบอกเลิกสัญญาเช่าที่ดินบริเวณสถานีรถไฟยะลา ที่ตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา เพื่อปลูกสร้างอาคารสถานีรถไฟยะลา อาคารพาณิชย์จำนวน ๑๕๗ คูหา ลานเอนกประสงค์ พร้อมส่วนประกอบอื่น ๆ โดยยกทรัพย์สินทั้งหมดให้จำเลย ซึ่งศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้ดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์นัดแรกเมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๔๖ ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองในวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ ซึ่งเป็นการยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลภายหลังที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ซึ่งเป็น ศาลยุติธรรมสืบพยานไปแล้ว ดังนั้น จึงเป็นการยื่นคำร้องที่ไม่ชอบด้วยมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ คณะกรรมการมีอำนาจยกคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลของจำเลยได้ ตามข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลว่าด้วยวิธีการเสนอเรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๒๘
จึงมีคำสั่งว่า การยื่นคำร้องของจำเลยคดีนี้ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง อาศัยข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลว่าด้วยวิธีการเสนอเรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๒๘ ให้ยกคำร้องนี้เสีย
(ลงชื่อ) ศุภชัย ภู่งาม (ลงชื่อ) นายวิชัย วิวิตเสวี
(นายศุภชัย ภู่งาม) (นายวิชัย วิวิตเสวี)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท วิรัตน์ บรรเลง (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(วิรัตน์ บรรเลง) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
วัชรินทร์ คัด/ทาน
??
??
??
??
๔