แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
บทบัญญัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 166 และ 181 ได้กำหนดหน้าที่ของโจทก์ว่าในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาคดี โจทก์จะต้องมาศาลตามนัด มิฉะนั้นให้ศาลยกฟ้องเสียเว้นแต่จะมีเหตุสมควรจึงจะให้เลื่อนคดีไป บทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายที่จะเร่งรัดการดำเนินกระบวนพิจารณาให้เป็นไปโดยสะดวกและรวดเร็วมิให้มีการประวิงคดี จึงกำหนดมาตรการดังกล่าวเพื่อให้โจทก์ปฏิบัติตามโดยเคร่งครัดในวันนัดสืบพยานโจทก์แม้จะมีพนักงานอัยการอื่นที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำอยู่ที่ศาลชั้นต้นหาใช่มีฐานะเป็นเจ้าของสำนวนและก็หาได้มีพนักงานอัยการคนใดมาแถลงให้ศาลชั้นต้นทราบเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปไม่ โจทก์ในฐานะเป็นเจ้าของสำนวนต้องมีหน้าที่รับผิดชอบในหน้าที่การงานของตนจะผลักภาระความรับผิดชอบของตนให้แก่พนักงานอัยการอื่นหาสมควรไม่ การที่โจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดนัดในกรณีดังกล่าว ถือเป็นความผิดพลาดบกพร่องของโจทก์เอง กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะยกคดีโจทก์ขึ้นพิจารณาใหม่
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 67, 102 และริบของกลาง จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ได้ 2 ปาก แล้วอนุญาตให้เลื่อนไปนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 15 ธันวาคม 2543 เวลา 9 นาฬิกา ครั้นถึงวันนัดโจทก์แถลงว่าพนักงานอัยการโจทก์เจ้าของสำนวนลาพักผ่อนประจำปี มีพยานมาศาลพร้อมสืบ 2 ปาก แต่โจทก์ติดว่าความคดีอื่นไม่สามารถสืบพยานคดีนี้ได้ขอเลื่อนคดี กับขอให้พยานที่มาศาลลงลายมือชื่อทราบวันนัดและออกหมายเรียกพยานดังกล่าวอีก ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนไปนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2544 เวลา 9 นาฬิกา โดยให้จ่าสิบตำรวจพิทักษ์ และสิบตำรวจเอกธวัชชัย พยานโจทก์ลงลายมือชื่อทราบวันนัดไว้และออกหมายเรียกพยานโจทก์ดังกล่าว ครั้นถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ เจ้าหน้าที่ศาลทำรายงานเจ้าหน้าที่เสนอต่อศาลชั้นต้นว่า เมื่อเวลา 11.30 นาฬิกา ได้ประกาศเรียกนายกิตติศักดิ์ พนักงานอัยการโจทก์ แต่โจทก์ไม่เข้าห้องพิจารณาคดี จึงโทรศัพท์ไปแจ้งที่สำนักงานอัยการจังหวัดเชียงราย โจทก์รับโทรศัพท์แล้วบอกว่าให้ดูพยานและกำหนดวันนัดเอง หากพยานไม่มาให้เลื่อนคดีไปปรากฏว่าพยานมาศาล 2 ปาก และนั่งรอโจทก์อยู่หน้าห้องพิจารณาคดีตั้งแต่เวลาประมาณ 9 นาฬิกา แต่ยังไม่พบโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2544 ว่า การที่โจทก์ไม่มาศาลทั้งที่ยังมีหน้าที่ต้องปฏิบัติต่อศาลคือนำพยานเข้าสืบ ทั้งพยาน 2 ปากมาศาลพร้อมสืบ โจทก์มิได้แถลงขอเลื่อนการพิจารณาคดีหรือแจ้งเหตุขัดข้องให้ศาลทราบก่อนหรือในวันนัด อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 166 ประกอบมาตรา 181 ให้ยกฟ้อง
โจทก์ยื่นคำร้องว่า ในวันนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์ที่ศาลชั้นต้นตามกำหนดนัดเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้และคดีอื่นอีก 5 คดี คดีนี้โจทก์แจ้งแก่เจ้าหน้าที่ศาลตั้งแต่เวลาประมาณ 9 นาฬิกา ว่า พยานที่โจทก์ขอหมายเรียกไว้ 2 ปาก ยังไม่มาศาล หากพยานไม่มาศาลโจทก์จะขอเลื่อนคดีไปก่อน หากศาลชั้นต้นจะออกนั่งพิจารณาคดีให้ติดตามโจทก์ได้ที่ห้องพิจารณาคดีอื่น เนื่องจากโจทก์ต้องไปดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอื่นและไปติดตามสำนวนเวรชี้ที่ห้องเก็บสำนวนคดีแดง โดยไม่ได้เข้าห้องพิจารณาคดีนี้ ต่อมาเวลา 11.45 นาฬิกา โจทก์ไม่พบพยานที่ศาลจึงกลับไปติดตามพยานที่สำนักงานของโจทก์ เมื่อเจ้าหน้าที่ศาลโทรศัพท์ไปแจ้งโจทก์ว่าพยานที่โจทก์ขอหมายเรียกไว้ไม่มาศาลจะทำอย่างไร โจทก์แจ้งว่ายังติดตามพยานไม่ได้ขอเลื่อนคดีไปก่อนและได้กลับมาที่ศาลชั้นต้น เวลา 12.20 นาฬิกา จึงทราบว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกฟ้องไปแล้ว การที่โจทก์มิได้อยู่ในห้องพิจารณาคดีในขณะนั้นเพราะอยู่ระหว่างการติดตามพยานที่ไม่มีผู้ใดแจ้งแก่พนักงานอัยการที่ปฏิบัติหน้าที่ในศาลชั้นต้นให้ดำเนินการแทนโจทก์โจทก์ไม่ได้ละเลยไม่มาปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใดขอให้ศาลชั้นต้นยกคดีขึ้นพิจารณานัดสืบพยานโจทก์ต่อไป
จำเลยยื่นคำคัดค้านว่า โจทก์จงใจไม่มาศาลตามกำหนดนัด ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัย “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า มีเหตุสมควรที่จะยกคดีโจทก์ขึ้นพิจารณาใหม่หรือไม่ เห็นว่า บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 166 และ 181 ได้กำหนดหน้าที่ของโจทก์ว่า ในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาคดีโจทก์จะต้องมาศาลตามนัด มิฉะนั้นให้ศาลยกฟ้องเสียเว้นแต่จะมีเหตุสมควรจึงจะให้เลื่อนคดีไป บทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายที่จะเร่งรัดการดำเนินกระบวนพิจารณาให้เป็นไปโดยสะดวกและรวดเร็วมิให้มีการประวิงคดีจึงกำหนดมาตรการดังกล่าวเพื่อให้โจทก์ปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด ที่โจทก์ฎีกาว่าขณะที่ศาลชั้นต้นยกคดีโจทก์ขึ้นพิจารณา โจทก์มิได้อยู่ในห้องพิจารณาเพราะอยู่ระหว่างติดตาม พยานมาศาลโจทก์จึงไม่ได้จงใจที่จะไม่มาศาลตามกำหนดนัดนั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า ในวันที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้มีการเลื่อนคดีตามคำแถลงของโจทก์ในวันนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 15 ธันวาคม 2543 นั้น ศาลชั้นต้นให้พยานโจทก์คือจ่าสิบตำรวจพิทักษ์ และสิบตำรวจเอกธวัชชัย พยานโจทก์ลงลายมือชื่อทราบวันนัดไว้ก่อนแล้ว และเมื่อถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ต่อมาในวันที่ 9 พฤษภาคม 2544 เวลา 9 นาฬิกา พยานทั้งสองมาศาลตามนัดโดยนั่งรอโจทก์อยู่หน้าห้องพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น หากโจทก์ขวนขวายในการติดตามพยานทั้งสองดังว่าจริง ย่อมจะต้องพบพยานทั้งสองที่หน้าห้องพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นอย่างแน่นอน การที่โจทก์ไม่พบพยานทั้งสองดังกล่าวและไม่ปรากฎว่าโจทก์พยายามติดต่อเจ้าหน้าที่ศาลให้ประกาศเรียกหาตัวพยานทั้งสองแต่อย่างใดข้ออ้างของโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักรับฟัง ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า ขณะเกิดเหตุมีพนักงานอัยการอื่นปฏิบัติหน้าที่ประจำอยู่ที่ศาลชั้นต้น หากพยานทั้งสองมาศาลจริงพนักงานอัยการเหล่านั้นจะต้องแถลงให้ศาลชั้นต้นทราบเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปปัญหาที่โจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดนัดก็จะไม่เกิดขึ้นนั้นเห็นว่า พนักงานอัยการอื่นตามที่โจทก์ว่าหาใช่มีฐานะเป็นเจ้าของสำนวนและก็หาได้มีพนักงานอัยการคนใดมาแถลงให้ศาลชั้นต้นทราบเพื่อดำเนินกระบวนการพิจารณาต่อไปไม่ โจทก์ในฐานะเป็นเจ้าของสำนวนจะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบในหน้าที่การงานของตนจะผลักภาระความรับผิดชอบของตนให้แก่พนักงานอัยการอื่นหาสมควรไม่การที่โจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดนัดในกรณีดังกล่าว ถือว่าเป็นความผิดพลาดบกพร่องของโจทก์เอง กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะยกคดีโจทก์ขึ้นพิจารณาใหม่ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกคำร้องมานั้น ชอบแล้วฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน