แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินจดข้อความอันเป็นเท็จลงในหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดิน แต่การดำเนินการของเจ้าพนักงานที่ดินตามหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินก็เป็นการดำเนินการสืบเนื่องจากบันทึกถ้อยคำ ในเมื่อทั้งหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินและบันทึกถ้อยคำต่างเป็นส่วนหนึ่งของเอกสารทั้งหมดที่เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการในการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินเช่นนี้ คำว่าสัญญาซื้อขายที่โจทก์อ้างในฟ้องจึงย่อมมีความหมายอยู่ในตัวถึงเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งบันทึกถ้อยคำด้วย เมื่อข้อความในบันทึกถ้อยคำมีข้อความอันเป็นเท็จ จำเลยจึงมีความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ
ความมุ่งหมายของความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานและฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารคือเพื่อคุ้มครองความเด็ดขาดของอำนาจรัฐแม้กฎหมายกำหนดให้ถือเอาความเสียหายที่อาจมีแก่ผู้อื่นเป็นองค์ประกอบของความผิดอยู่ด้วย แต่ความเสียหายดังกล่าวก็ต้องเป็นความเสียหายในตัวเองจากการแจ้งความเท็จหรือจากการแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จนั้นมิใช่ความเสียหายอื่นซึ่งอยู่ห่างไกล
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันทำรายงานการประชุมคณะกรรมการบริษัทอันเป็นเท็จและได้แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพระนครศรีอยุธยาให้จดข้อความอันเป็นเท็จในหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดิน เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายเพราะทำให้บริษัททิพ อินดัสตรีย์ จำกัด ขายที่ดินได้ราคาน้อยกว่าความเป็นจริง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267, 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267, 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 267 จำคุกคนละ 5 เดือน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์ และจำเลยทั้งสองเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน โจทก์และจำเลยทั้งสองเป็นผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการบริษัททิพ อินดัสตรีย์ จำกัด และบริษัทเหมืองทิพ จำกัด การกระทำในนามบริษัททั้งสอง จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อร่วมกับโจทก์หรือจำเลยที่ 2 คนหนึ่งคนใด พร้อมประทับตราบริษัทแทนบริษัททั้งสองได้ เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2536 ได้มีการจดทะเบียนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 2450 ตำบลบ้านโพ อำเภอบางปะอิน (พระราชวัง) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ของบริษัททิพ อินดัสตรีย์ จำกัด ให้แก่บริษัทเหมืองทิพ จำกัด ในราคา 35,950,000 บาทและต่อมาวันที่ 3 ธันวาคม 2536 ได้มีการจดทะเบียนขายที่ดินดังกล่าวจากบริษัทเหมืองทิพ จำกัด ให้แก่บริษัทไทยผลิตภัณฑ์ยิบซั่ม จำกัด ในราคา 134 ล้านบาท ทั้งนี้ ในการจดทะเบียนขายระหว่างบริษัททิพ อินดัสตรีย์ จำกัด และบริษัทเหมืองทิพ จำกัด เป็นการจดทะเบียนขายโดยอ้างรายงานการประชุมบริษัททิพ อินดัสตรีย์ จำกัด ซึ่งมีข้อความว่ากรรมการบริษัททิพ อินดัสตรีย์ จำกัด เข้าร่วมประชุม 3 คน โดยมีโจทก์เป็นประธานการประชุม และที่ประชุมอนุมัติให้ขายที่ดินดังกล่าวตามที่จำเลยที่ 1 เสนอ และอ้างรายงานการประชุมบริษัทเหมืองทิพ จำกัด ซึ่งมีข้อความว่ากรรมการบริษัทเหมืองทิพ จำกัด เข้าร่วมประชุม 5 คน โดยโจทก์เป็นประธานการประชุม และที่ประชุมมีมติขอซื้อที่ดินดังกล่าวตามที่จำเลยที่ 1 เสนอ ส่วนผู้ดำเนินการในการจดทะเบียนคือนายวิศณุซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากบริษัททั้งสองโดยจำเลยทั้งสอง ความปรากฏว่าโจทก์มิได้เข้าประชุมตามรายงานการประชุมทั้งสองครั้งดังกล่าว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยทั้งสองฎีกาในข้อ 2 ว่า เอกสารที่ศาลล่างทั้งสองฟังว่ามีข้อความอันเป็นเท็จคือบันทึกถ้อยคำมิใช่สัญญาซื้อขายที่ดิน ซึ่งบันทึกถ้อยคำดังกล่าวมิใช่เป็นข้อที่โจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยทั้งสอง และจำเลยทั้งสองหลงต่อสู้ข้อนี้ อีกทั้งบันทึกถ้อยคำดังกล่าวนี้มิใช่เป็นเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการที่มีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน การลงโทษจำเลยทั้งสองของศาลล่างทั้งสองจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในปัญหานี้การกระทำที่โจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดคือข้อที่โจทก์บรรยายในคำฟ้องข้อ 3 ว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันมอบอำนาจให้นายวิศณุเป็นผู้รับมอบอำนาจให้ขายและซื้อที่ดิน และได้แจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจดข้อความอันเป็นเท็จลงในหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างบริษัททั้งสองอันเป็นเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นหลักฐานว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัททั้งสองมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขายและซื้อที่ดิน ซึ่งความจริงแล้วที่ประชุมคณะกรรมการบริษัททั้งสองมิได้มีมติดังกล่าวแต่ประการใด ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ตามฟ้องโจทก์บรรยายว่าจำเลยทั้งสองแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินจดข้อความอันเป็นเท็จลงในหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดิน ซึ่งหมายถึงเอกสารหมาย จ.10 (ตรงกับเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 6) มิได้บรรยายว่าจำเลยทั้งสองแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินจดข้อความอันเป็นเท็จลงในบันทึกถ้อยคำอันหมายถึงเอกสารหมาย จ.15 แต่การดำเนินการของเจ้าพนักงานที่ดินตามหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินเอกสารหมาย จ.10 ก็เป็นการดำเนินการสืบเนื่องจากบันทึกถ้อยคำเอกสารหมาย จ.15 ในเมื่อทั้งหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินเอกสารหมาย จ.10 และบันทึกถ้อยคำเอกสารหมาย จ.15 ต่างเป็นส่วนหนึ่งของเอกสารทั้งหมดที่เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการในการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินเช่นนี้ คำว่าสัญญาซื้อขายที่โจทก์อ้างในฟ้องจึงย่อมมีความหมายอยู่ในตัวถึงเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งบันทึกถ้อยคำเอกสารหมาย จ.15 ด้วย และเอกสารดังกล่าวเห็นได้ว่าเป็นเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานในการดำเนินการของเจ้าพนักงานที่ดินตามกฎหมาย ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังว่าข้อความในบันทึกรายงานการประชุมคณะกรรมการบริษัทที่อ้างในบันทึกถ้อยคำเอกสารหมาย จ.15 มีข้อความอันเป็นเท็จ การลงโทษจำเลยทั้งสองของศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว และเมื่อวินิจฉัยดังนี้ จึงไม่ต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อ 1 ที่โต้แย้งว่าศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองไม่หมดทุกข้อ ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาในข้อ 5 ว่า บันทึกถ้อยคำเอกสารหมาย จ.15 มีข้อความแต่เพียงว่ามีรายงานการประชุมโดยมิได้ระบุไปถึงว่าโจทก์เข้าประชุมข้อความในบันทึกถ้อยคำเอกสารหมาย จ.15 จึงไม่เป็นข้อความอันเป็นเท็จนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ในเมื่อการให้ถ้อยคำในบันทึกถ้อยคำ จ.15 เป็นการให้ถ้อยคำในฐานะผู้ซื้อที่ดินซึ่งเป็นบริษัทจำกัด โดยในบันทึกถ้อยคำดังกล่าวระบุว่าประสงค์จะซื้อที่ดินและจดแจ้งด้วยว่าได้ยื่นเอกสารต่าง ๆ รวมทั้งรายงานการประชุมของคณะกรรมการบริษัท การให้ถ้อยคำดังกล่าวย่อมมีความหมายอยู่ในตัวว่าการดำเนินการของบริษัทได้ดำเนินการตามที่ระบุไว้ในรายงานการประชุมคณะกรรมการบริษัทประกอบในการทำสัญญาซื้อขาย ดังนั้น แม้ข้อความในบันทึกถ้อยคำจะมิได้มีข้อความระบุการเข้าประชุมของโจทก์ก็ถือได้ว่ามีการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานและมีการแจ้งข้อความให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จแล้ว
จำเลยทั้งสองฎีกาต่อไปในข้อ 3 และข้อ 4 ว่า โจทก์ไม่เสียหายจากการกระทำของจำเลยทั้งสอง เนื่องจากจำเลยทั้งสองมีเสียงข้างมากในองค์ประชุมของทั้งที่ประชุมคณะกรรมการและที่ประชุมผู้ถือหุ้นของทั้งสองบริษัท อีกทั้งการขายที่ดินของบริษัททิพ อินดัสตรีย์ จำกัด ให้แก่บริษัทไทยผลิตภัณฑ์ยิบซั่ม จำกัด โดยผ่านบริษัทเหมืองทิพ จำกัด กลับจะเป็นประโยชน์แก่โจทก์เนื่องจากทำให้โจทก์ได้รับกำไรมากยิ่งขึ้นและเป็นการลดภาระทางภาษีซึ่งจะตกถึงโจทก์ด้วย ในข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่าความมุ่งหมายของความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานและฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารคือ เพื่อคุ้มครองความเด็ดขาดของอำนาจรัฐ แม้กฎหมายกำหนดให้ถือเอาความเสียหายที่อาจมีแก่ผู้อื่นเป็นองค์ประกอบของความผิดอยู่ด้วย แต่ความเสียหายดังกล่าวก็ต้องเป็นความเสียหายในตัวเองจากการแจ้งความเท็จหรือจากการแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จนั้นมิใช่ความเสียหายอื่นซึ่งอยู่ห่างไกล สำหรับการกระทำของจำเลยทั้งสอง เห็นได้ว่าโจทก์ในฐานะเป็นบุคคลที่ถูกจำเลยทั้งสองอ้างต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพระนครศรีอยุธยาโจทก์ย่อมเสียหายอยู่ในตัวแล้ว โดยมิพักต้องคำนึงว่าจำเลยทั้งสองมีวิธีอื่นอยู่แล้วที่จะให้ได้มาซึ่งมติของคณะกรรมการบริษัททั้งสอง โดยไม่ต้องปลอมรายงานการประชุมคณะกรรมการบริษัททั้งสองหรือไม่ อีกทั้งยังเห็นได้อีกว่า ข้อที่ว่าโจทก์จะได้รับผลประโยชน์จากการกระทำของจำเลยทั้งสองในรูปของกำไรหรือการลดภาระภาษีหรือไม่ หาเป็นข้อสำคัญแต่ประการใดไม่ ฎีกาจำเลยทั้งสอง ข้อ 3 และข้อ 4 ฟังไม่ขึ้น
จำเลยทั้งสองฎีกาในข้อ 6 ว่า การดำเนินการจัดทำรายงานการประชุมคณะกรรมการบริษัททั้งสองของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองได้รับอนุมัติจากโจทก์ด้วยวาจาแล้วอีกทั้งในการมอบอำนาจให้นายวิศณุไปดำเนินการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินก็เป็นการดำเนินการตามที่รับมอบหมายจากโจทก์ ศาลฎีกาเห็นว่า ในข้อนี้จำเลยทั้งสองเพิ่งยกขึ้นว่าในชั้นฎีกา จึงไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 อีกทั้งเป็นข้อที่ไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้
จำเลยทั้งสองฎีกาต่อไปในข้อ 7 ขอให้รอการลงโทษ ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองสืบเนื่องจากการเป็นผู้บริหารบริษัททั้งสองซึ่งเป็นบริษัทของครอบครัวที่ตั้งขึ้นโดยบิดามารดาและบริหารแบบไม่มีระเบียบพิธี สภาพแห่งความเสียหายที่โจทก์ได้รับจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสอง จึงมีลักษณะที่เยียวยาได้ด้วยมาตรการทางแพ่งอยู่แล้ว ประกอบกับโทษที่ศาลล่างทั้งสองลงเป็นโทษจำคุกระยะสั้นและไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เมื่อพิเคราะห์ถึงลักษณะแห่งความผิดตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยทั้งสองกลับตัวเป็นพลเมืองดี โดยให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสอง ฎีกาจำเลยทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้รอการลงโทษจำเลยทั้งสองมีกำหนดห้าปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1