คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7193/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่ผู้ถือประทานบัตรเหมืองแร่ปลูกต้นยางพาราลงในที่ดินซึ่งอยู่ในเขตเหมืองแร่ซึ่งเป็นป่าสงวนแห่งชาติ เป็นการใช้สิทธิในฐานะผู้ถือประทานบัตรตาม พ.ร.บ. เหมืองแร่ฯ มาตรา 73 ไม่ทำให้ต้นยางพาราที่ปลูกไว้เป็นส่วนควบของที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 146 ยางพารายังคงเป็นทรัพย์สินของโจทก์ผู้ถือประทานบัตร การที่จำเลยกรีดเอาน้ำยางพาราจากต้นยางพาราของโจทก์ไปจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้บุกรุกเข้าไปในที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครองเพื่อแย่งหรือถือการครอบครองที่ดินจากโจทก์ และเข้าไปกรีดยางพารา ก่อสร้างโรงเรือนเพื่อเก็บยางพารา และตั้งจักรรีดยางพาราในที่ดินของโจทก์ อันเป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินของโจทก์โดยปกติสุข และลักเอาน้ำยางพาราโดยกรีดน้ำยางจากต้นยางพาราของโจทก์ในที่ดินแปลงดังกล่าวไปโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91,362,334,335
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฎิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) วรรคแรก ลงโทษจำคุก 1 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ยกฟ้องข้อหาลักทรัพย์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันรับฟังยุติได้ว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตประทานบัตรทำเหมืองแร่ของโจทก์ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 นางลัดดาภริยาจำเลยกับนางเหี้ยงเข้าไปปลูกบ้านพักและกรีดยางพาราในที่ดินพิพาท โจทก์ได้ฟ้องขับไล่และศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาขับไล่คนทั้งสองรวมทั้งบริวารให้ออกจากที่ดินพิพาทแล้ว โดยเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ส่งมอบที่ดินคืนให้แก่โจทก์และรายงานต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2540 ต่อมาภายหลังจากที่ประทานบัตรของโจทก์หมดอายุลง จำเลยได้กลับเข้าไปปลูกสร้างโรงเรือนและกรีดยางพาราในที่ดินพิพาท สำหรับความผิดฐานบุกรุกไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ เป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ โดยกรีดเอาน้ำยางพาราจากต้นยางพาราของโจทก์ไปตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนายพันธุ์ฤทธิ์ หุ้นส่วนผู้จัดการและนายสมพรหุ้นส่วนในห้างโจทก์เป็นพยานเบิกความในทำนองเดียวกันว่า โจทก์ประกอบกิจการเหมืองแร่ดีบุก ซึ่งรับโอนประทานบัตรมาจากบริษัทธำรงวัฒนา จำกัด ตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2527 และโจทก์ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งสถานที่เพื่อการเก็บขังน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทรายนอกเขตเหมืองแร่เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2530 รวมเนื้อที่ประมาณ 186 ไร่ โจทก์ใช้ที่ดินทั้งสองแปลงในการสร้างอาคารทำโรงแต่งแร่เป็นที่เก็บน้ำขุ่นข้นส่วนที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการทำแร่โจทก์ได้ปลูกสวนยางพาราประมาณ 49 ไร่ ต่อมาเดือนเมษายน 2541 จำเลยได้เข้าไปกรีดเอาน้ำยางพาราจากต้นยางพาราที่โจทก์ปลูกไว้ดังกล่าวไป ซึ่งจำเลยปฏิเสธและนำสืบต่อสู้ว่า ต้นยางพาราเป็นของนางเหี้ยงแม่ยายจำเลยปลูกไว้เมื่อ 40 ถึง 50 ปีมาแล้ว ไม่ใช่ต้นยางพาราของโจทก์ เห็นว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 นางลัดดาภริยาจำเลยและนางเหี้ยงแม่ยายจำเลยเคยเข้าไปปลูกสร้างอาคารและกรีดยางในที่ดินพิพาท แต่ถูกโจทก์ฟ้องขับไล่และศาลมีคำพิพากษาคดีถึงที่สุดให้ขับไล่นางลัดดาและนางเหี้ยงรวมทั้งจำเลยในฐานะบริวารด้วยซึ่งใช้เป็นพยานหลักฐานยันจำเลยได้นอกจากนี้ยังได้ความว่านางเหี้ยงเป็นภริยานายเต็งซ่านพ่อตาจำเลยทั้งนายเต็งซ่านและนางลัดดาภริยาจำเลยต่างเป็นคนงานในเหมืองของโจทก์ตลอดมาจนกระทั่งโจทก์ปิดกิจการ ดังนั้น เมื่อโจทก์เป็นผู้ถือประทานบัตรในการทำเหมืองแร่ในบริเวณที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โจทก์ย่อมมีสิทธิในการยึดถือครอบครองใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาท ส่วนนางเหี้ยงจะเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้ก็แต่โดยอาศัยสิทธิของโจทก์เท่านั้น ไม่สามารถเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินอันเป็นป่าสงวนแห่งชาติโดยลำพังได้เพราะเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้ปลูกสร้างต้นยางพาราในที่ดินพิพาท พยานจำเลยไม่อาจหักล้างได้ มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ภายหลังประทานบัตรเหมืองแร่หมดอายุแล้ว ต้นยางพาราที่โจทก์ปลูกไว้นั้นเป็นส่วนควบของที่ดินและตกเป็นของรัฐหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 73 ให้สิทธิแก่ผู้ถือประทานบัตรใช้ที่ดินในเขตเหมืองแร่ที่มีแร่ไม่สมบูรณ์พอที่จะเปิดทำเหมืองเพื่อเกษตรกรรมในระหว่างอายุประทานบัตรได้ การที่โจทก์ปลูกต้นยางพาราลงในที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ในเขตเหมืองแร่เป็นการใช้สิทธิในฐานะผู้ถือประทานบัตรไม่ทำให้ต้นยางพาราที่ปลูกไว้เป็นส่วนควบของที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 146 และยังคงเป็นทรัพย์สินของโจทก์ การที่จำเลยกรีดเอาน้ำยางพาราจากต้นยางพาราของโจทก์ไป จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้องไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น อนึ่ง ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและจำเลยเข้าไปกรีดเอาน้ำยางพาราภายหลังประทานบัตรของโจทก์หมดอายุแล้วเพื่อการยังชีพมิได้มีเถยจิตเป็นโจรผู้ร้ายแต่อย่างใด กับทั้งภายหลังเกิดเหตุจำเลยได้รับอนุญาตจากรัฐให้มีสิทธิทำกินในที่ดินพิพาท กรณีมีเหตุอันสมควรให้ความปรานีแก่จำเลยโดยรอการลงโทษไว้เพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดี ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษนั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) วรรคแรก ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

Share