คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7633/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนผู้ทำสัญญารับขนของทางทะเลแทนจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นตัวการอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดตามสัญญาตามป.พ.พ. มาตรา 824 ส่วนจำเลยที่ 2 แม้จะเป็นบริษัทในเครือเดียวกับจำเลยที่ 1 มีกรรมการของบริษัท จำนวนและรายชื่อกรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัทได้เป็นบุคคลชุดเดียวกัน แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นนิติบุคคลและทำกิจกรรมแยกต่างหากจากกันโดยจำเลยที่ 1 รับผิดชอบเกี่ยวกับการขนส่งไปสหรัฐอเมริกาและยุโรป ส่วนจำเลยที่ 2 รับผิดชอบเกี่ยวกับการขนส่งในทวีปเอเชีย ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ลงนามในใบตราส่งแทนจำเลยที่ 3 ไว้ด้วย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญารับขนของทางทะเลร่วมกับจำเลยทที่ 3
ใบตราส่งซึ่งจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวแทนจำเลยที่ 3 ออกให้แก่โจทก์ระบุว่า ผู้รับตราส่งคือตามคำสั่งธนาคาร ค. จึงเป็นเงื่อนไขในสัญญารับขนของทางทะเลระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3 รับที่จะส่งมอบสินค้าของโจทก์ให้แก่ธนาคาร ค. หรือตามคำสั่งของธนาคาร ค. ซึ่งเป็นผู้รับตราส่งต่อเมื่อจำเลยที่ 3 ได้รับเวนคืนใบตราส่งแล้ว บริษัทผู้ซื้อจะเรียกให้จำเลยที่ 3 ส่งมอบสินค้าให้แก่ตนได้ต่อเมื่อบริษัทผู้ซื้อได้ชำระราคาสินค้าให้แก่ธนาคาร ค. ซึ่งเป็นผู้รับตราส่ง และธนาคาร ค. สลักหลังโอนส่งมอบใบตราส่งให้แก่บริษัทผู้ซื้อ เพื่อบริษัทผู้ซื้อจะได้นำใบตราส่งมาเป็นหลักฐานแลกรับเอาสินค้าจากจำเลยที่ 3 อันเป็นวิธีปฏิบัติในการชำระราคาสินค้าในการซื้อขายระหว่างประเทศ การที่จำเลยที่ 3 ผู้ขนส่งส่งมอบสินค้าของโจทก์ให้แก่บริษัทผู้ซื้อโดยมิได้รับเวนคืนใบตราส่ง ย่อมเป็นการไม่ชอบและเป็นการผิดสัญญารับขนของทางทะเลต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ส่งสินค้า จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงต้องร่วมกันชำระราคาสินค้าพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,051,443.81 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,051,443.81 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 31 มีนาคม 2540) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีกรรมการของบริษัท จำนวนและรายชื่อกรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัทได้เป็นบุคคลเดียวกัน และมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เดียวกัน จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โจทก์ส่งสินค้าประเภทอาหารทะเลแช่แข็งจำนวน 1,609 กล่อง มูลค่า 1,051,443.81 บาท ไปจำหน่ายให้แก่บริษัทแปซิฟิคริมซีฟู้ด จำกัด ผู้ซื้อ ที่เมืองโอ๊คแลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยจำเลยที่ 3 เป็นผู้ขนส่งทางเรือตามใบกำกับสินค้า ใบกำกับหีบห่อและใบตราส่งซึ่งประทับตราสำคัญของบริษัทจำเลยที่ 1 ระบุว่าในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 3 ผู้ขนส่งกับระบุรับตราส่งคือ ตามคำสั่งธนาคารคาเธ่ย์ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อสินค้าของโจทก์ไปถึงท่าเรือปลายทางแล้ว บริษัทผู้ซื้อได้รับมอบสินค้าของโจทก์จากจำเลยที่ 3 ไปโดยไม่มีการเวนคืนใบตราส่ง ธนาคารคาเธ่ย์จึงได้ส่งเอกสารเกี่ยวกับการขอรับสินค้ารวมทั้งใบตราส่งคืนโจทก์
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้อแรกว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นตัวการอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศเข้าทำสัญญารับขนของทางทะเลแทนจำเลยที่ 3 และต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์หรือไม่นั้น นายสมเกียรติ อภิรูปากร พยานโจทก์ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทโจทก์เบิกความยืนยันว่า ในการว่าจ้างให้ทำการขนส่งครั้งพิพาทนี้ จำเลยที่ 1 ได้ตกลงทำสัญญากับโจทก์แทนจำเลยที่ 3 และในใบตราส่งก็ได้ประทับตราสำคัญของบริษัทจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวแทนของบริษัทจำเลยที่ 3 ส่วนนายสาวิตร ลีฬหาชีวะ พยานจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็เบิกความยอมรับในข้อนี้ จึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนผู้ทำสัญญารับขนของทางทะเลแทนจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นตัวการอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดตามสัญญานั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 824 ส่วนจำเลยที่ 2 แม้จะเป็นบริษัทในเครือเดียวกับจำเลยที่ 1 มีกรรมการของบริษัท จำนวนและรายชื่อกรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัทได้เป็นบุคคลชุดเดียวกัน แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นนิติบุคคลและทำกิจการแยกต่างหากจากกัน โดยจำเลยที่ 1 รับผิดชอบเกี่ยวกับการขนส่งไปสหรัฐอเมริกาและยุโรป ส่วนจำเลยที่ 2 รับผิดชอบเกี่ยวกับการขนส่งในทวีปเอเชีย ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ลงนามในใบตราส่งแทนจำเลยที่ 3 ไว้ด้วย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญารับขนของทางทะเลร่วมกับจำเลยที่ 3 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดตามสัญญารับขนของทางทะเลกับจำเลยที่ 3 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย แต่ที่พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ต้องร่วมกันรับผิดในกรณีที่โจทก์ไม่ได้รับชำระราคาสินค้าจากบริษัทผู้ซื้อหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 ได้ส่งมอบสินค้าให้แก่บริษัทผู้ซื้อเรียบร้อยแล้ว การที่บริษัทผู้ซื้อไม่ไปรับใบตราส่งจากธนาคารคาเธ่ย์มิใช่เงื่อนไขในสัญญารับขนของทางทะเล จำเลยที่ 3 จึงมิได้ประพฤติผิดสัญญารับขนของทางทะเลนั้น เห็นว่า ตามใบตราส่งอันเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนของทางทะเลปรากฏว่าทำขึ้นเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2539 อันเป็นวันที่พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มีผลใช้บังคับแล้ว จึงต้องนำพระราชบัญญัติการขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาใช้บังคับแก่คดีนี้ พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว มาตรา 3 บัญญัติว่า “ใบตราส่ง” หมายความว่า เอกสารที่ผู้ขนส่งออกให้แก่ผู้ส่งของเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนของทางทะเล แสดงว่าผู้ขนส่งได้รับของตามที่ระบุในใบตราส่งไว้ในความดูแลหรือได้บรรทุกของลงเรือแล้วและผู้ขนส่งรับที่จะส่งมอบของดังกล่าวให้แก่ผู้มีสิทธิรับของนั้นเมื่อได้รับเวนคืนใบตราส่ง มาตรา 28 บัญญัติว่า เมื่อได้ออกใบตราส่งให้แก่กันไว้แล้ว ผู้รับตราส่งจะเรียกให้ส่งมอบของได้ต่อเมื่อได้เวนคืนใบตราส่งนั้นแก่ผู้ขนส่งหรือหาประกันให้ตามควร ปรากฏว่าใบตราส่งซึ่งจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 3 ออกให้แก่โจทก์ระบุว่าผู้รับตราส่งคือ ตามคำสั่งธนาคารคาเธย์ จึงเป็นเงื่อนไขในสัญญารับขนของทางทะเลระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3 รับที่จะส่งมอบสินค้าของโจทก์ให้แก่ธนาคารคาเธ่ย์หรือตามคำสั่งของธนาคารคาเธ่ย์ซึ่งเป็นผู้รับตราส่งต่อเมื่อจำเลยที่ 3 ไว้เวนคืนใบตราส่งแล้ว บริษัทผู้ซื้อจะเรียกให้จำเลยที่ 3 ส่งมอบสินค้าให้แก่ตนได้ต่อเมื่อบริษัทผู้ซื้อได้ชำระราคาสินค้าให้แก่ธนาคารค่าเธ่ย์ซึ่งเป็นผู้รับตราส่ง และธนาคารคาเธ่ย์สลักหลังโอนส่งมอบใบตราส่งให้แก่บริษัทผู้ซื้อ เพื่อบริษัทผู้ซื้อจะได้นำใบตราส่งมาเป็นหลักฐานแลกรับเอาสินค้าจากจำเลยที่ 3 อันเป็นวิธีปฏิบัติในการชำระราคาสินค้าในการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ การที่จำเลยที่ 3 ผู้ขนส่งส่งมอบสินค้าของโจทก์ให้แก่บริษัทผู้ซื้อโดยมิได้รับเวนคืนใบตราส่ง ย่อมเป็นการไม่ชอบและเป็นการผิดสัญญารับขนของทางทะเลต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ส่งสินค้า ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระราคาสินค้าพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราผิดนัดนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาข้อสุดท้ายว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ชดใช้เงินตามฟ้องเพราะจำเลยที่ 1 ได้ทราบจากจำเลยที่ 3 ว่า โจทก์ได้รับชำระราคาสินค้าจากบริษัทผู้ซื้อแล้วนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างข้อเท็จจริงมาในคำฟ้องฎีกาลอยๆ โดยไม่มีหลักฐานการชำระเงินค่าสินค้ามาแสดง ทั้งโจทก์ยื่นคำแก้ฎีกายืนยันว่า โจทก์ยังไม่ได้รับเงินค่าสินค้าจากบริษัทผู้ซื้อ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้จึงรับฟังเป็นความจริงไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม การที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 รับผิดตามสัญญารับขนของทางทะเลเพราะเหตุโจทก์ไม่ได้รับชำระราคาสินค้าแล้ว หากโจทก์ได้รับชำระหนี้ค่าสินค้าจากบริษัทผู้ซื้อเท่าใดโจทก์ย่อมไม่มีสิทธิที่จะรับชำระราคาสินค้าจากจำเลยที่ 1 และที่ 3 อีกทางหนึ่ง จึงเห็นสมควรกำหนดไว้ในคำพิพากษาสำหรับกรณีที่โจทก์ได้รับชำระราคาสินค้าจากบริษัทผู้ซื้อด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 หากโจทก์ได้รับชำระหนี้ค่าสินค้าจากบริษัทผู้ซื้อเท่าใด ก็ให้คำนวณเป็นเงินบาทโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินในวันที่โจทก์ได้รับชำระหนี้ดังกล่าวแล้วหักออกจำนวนหนี้ตามคำพิพากษาที่คำนวณถึงวันที่โจทก์ได้รับชำระหนี้ดังกล่าว นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share