คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2113/2522

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

บริษัทตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ของโจทก์มอบรถยนต์ของโจทก์แก่ส.ไปขายต่างจังหวัด.จำเลยซื้อรถยนต์จากส. โดยจำเลยลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์สัญญา ไปให้โจทก์กรอกข้อความส่งคืนมา ทำอยู่ 1 ปี ขายรถยนต์ไปกว่า 100 คัน โดยโจทก์ไม่ทักท้วงจน ส. หลบหนีไป เป็นการยอมให้ ส.เชิดออกเป็นตัวแทนของโจทก์ จำเลยชำระราคารถยนต์แก่ ส.ถือว่าชำระแก่ผู้มีอำนาจรับชำระ อยู่ในความหมายของคำว่าชำระหนี้แก่เจ้าของรถยนต์ ไม่ถือเป็นการฝากส่งเงินแก่โจทก์ตามที่ระบุในสัญญา

ย่อยาว

โจทก์ตั้งบริษัทอุดรฯ เป็นตัวแทนขายรถยนต์ของโจทก์ บริษัทอุดรฯ มอบรถยนต์แก่นายสุนทรฯ ไปขายที่จังหวัดสกลนคร จำเลยซื้อรถยนต์ของโจทก์จากนายสุนทร ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ผู้ซื้อและจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันใช้ราคารถยนต์ที่ค้าง 32,000 บาทกับดอกเบี้ยแก่โจทก์ ยกฟ้องแย้งของจำเลย ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้โจทก์นำทะเบียนรถยนต์มาจดทะเบียนโอนแก่จำเลย โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ส่วนปัญหาว่า นายสุนทร ขำอ่อน เป็นตัวแทนขายรถยนต์ของโจทก์หรือไม่นั้น ได้ความจากนายเจริญ ฑีฆธนานนท์ กรรมการผู้จัดการบริษัทอุดรเจริญศรี (1968) จำกัด พยานโจทก์ว่า นายสุนทรรับรถยนต์ของโจทก์จากบริษัทอุดรเจริญศรี (1968) จำกัด ไปขายที่จังหวัดสกลนครตั้งแต่ปี พ.ศ.2514 หรือ 2515 การขายเงินผ่อนลูกค้าต้องทำสัญญากับบริษัทโจทก์ โดยนายสุนทรเบิกสัญญาซึ่งเป็นแบบฟอร์มของโจทก์ไปจากบริษัทอุดรเจริญศรี (1968) จำกัด เมื่อลูกค้าลงชื่อแล้ว นายสุนทรจะต้องลงชื่อเป็นผู้ค้ำประกันอีกต่อหนึ่ง แล้วส่งสัญญาที่ลูกค้าลงชื่อพร้อมใบปะหน้าซึ่งเป็นรายละเอียดในการขายไปให้บริษัทอุดรเจริญศรี (1968) จำกัด แล้วบริษัทนั้นส่งต่อให้โจทก์ ซึ่งนายประสิทธิ พัฒนอธิยางกูร พยานโจทก์เบิกความว่าโจทก์ได้รับสัญญาดังกล่าวไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 ไม่ปรากฏว่าโจทก์ทักท้วงแต่ประการใดก่อนที่นายสุนทรจะหลบหนี นายเจริญเบิกความว่านายสุนทรจำหน่ายรถยนต์ไปได้ถึง 100 คันเศษ พฤติการณ์อย่างนี้ฟังได้ว่าโจทก์เชิดนายสุนทรออกแสดงเป็นตัวแทนของโจทก์ และรู้แล้วยอมให้นายสุนทรเชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทนโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 แม้โจทก์จะได้รับชำระเงินค่ารถยนต์ของโจทก์จากนายสุนทรหรือบริษัทอุดรเจริญศรี (1968) จำกัด ไม่ครบก็ฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่ารถยนต์ของโจทก์ที่จำเลยที่ 1 ซื้อและชำระแก่นายสุนทรครบแล้วอีกไม่ได้ และต้องโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์แก่จำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดด้วย ที่โจทก์ฎีกาว่าหนังสือสัญญาขายมีเงื่อนไขระบุว่า ถ้าผู้ซื้อจะชำระราคาค่ารถต่อผู้อื่น การนั้นเป็นเพียงการฝากส่ง จะเป็นการชำระเงินที่สมบูรณ์ได้ต่อเมื่อโจทก์ได้ออกใบเสร็จรับเงินให้แล้ว การที่จำเลยทั้งสองรู้แล้วยังชำระเงินแก่นายสุนทร ถือได้ว่าเป็นการเสี่ยงภัยของจำเลยเอง โจทก์ไม่ต้องรับผิดนั้น ตามหนังสือสัญญาขายมีเงื่อนไขข้อ 3 ระบุไว้ว่า “เมื่อผู้จะซื้อได้ชำระราคารถให้แก่เจ้าของ เจ้าของจะออกใบเสร็จรับเงินของเจ้าของให้แก่ผู้ซื้อยึดไว้เป็นหลักฐาน ถ้าผู้ซื้อชำระค่ารถต่อผู้อื่น การนั้นจะเป็นเพียงการฝากส่ง ซึ่งจะเป็นการชำระเงินสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อเจ้าของได้รับเงินและได้ออกใบเสร็จรับเงินของเจ้าของให้เป็นหลักฐานแล้ว” ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในตอนต้นของสัญญาตามเอกสารหมาย จ.4 กล่าวถึงคู่สัญญาคือโจทก์ฝ่ายหนึ่งและจำเลยที่ 1 ฝ่ายหนึ่ง โดยให้เรียกโจทก์ว่าเจ้าของ เรียกจำเลยที่ 1 ว่าผู้จะซื้อ สัญญาข้อ 1 ว่า “เจ้าของตกลงจะขายและผู้จะซื้อตกลงจะซื้อรถยนต์ ฯลฯ” คำว่า “เจ้าของในสัญญาข้อ 3 จึงหมายความถึงผู้ขาย ซึ่งในการชำระราคารถยนต์แก่ผู้ขายนั้นนอกจากจะชำระต่อผู้ขายโดยตรงแล้วยังอาจชำระแก่บุคคลผู้มีอำนาจรับชำระหนี้แทนผู้ขายได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 315 การชำระหนี้แก่บุคคลที่โจทก์เชิดออกแสดงเป็นตัวแทนหรือบุคคลที่โจทก์รู้แล้วยอมให้เชิดตัวออกแสดงเป็นตัวแทนของโจทก์ตามมาตรา 821 ถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ต่อโจทก์ ฉะนั้นการที่จำเลยที่ 1 ชำระค่ารถยนต์ของโจทก์ต่อนายสุนทรจึงเป็นการชำระต่อเจ้าของตามสัญญาข้อ 3 ดังกล่าว และไม่เป็นการชำระต่อผู้อื่น”

พิพากษายืน

Share