แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 2,3 ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้ในศาลจังหวัด ซึ่งยังมิได้มีศาลแขวงเปิดทำการสำหรับคดีอาญาที่มีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับเจ้าพนักงานจับจำเลยในกระทงความผิดฐานควบคุมเรือยนต์และเครื่องจักรยนต์โดยใช้ประกาศนียบัตรที่สิ้นอายุพร้อมกับกระทงความผิดฐานดูทรายในแม่น้ำเจ้าพระยาอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันโดยมิได้รับอนุญาต เมื่อกระทงความผิดฐานควบคุมเรือยนต์และเครื่องจักรยนต์โดยใช้ประกาศนียบัตรสิ้นอายุ กฎหมายกำหนดอัตราโทษไว้จำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท จึงต้องนำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้กับความผิดกระทงนี้ โดยพนักงานสอบสวนต้องส่งจำเลยให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องในกระทงความผิดนี้ภายใน 72 ชั่วโมง นับแต่มีการจับกุมหรือต้องขอผัดฟ้องไว้ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2494 เมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการมิได้ขอผัดฟ้อง และนำตัวจำเลยมาฟ้องหลังจากที่จับกุมในข้อหาดังกล่าวเกินกำหนดเวลาในมาตรา 7 โดยมิได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมอัยการตามมาตรา 9 จึงเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติในมาตรา 7 และ 9 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องด้วยวาจาว่า จำเลยเคยได้รับประกาศนียบัตรใช้เครื่องยนต์ชั้นที่ ๒แต่หมดอายุตั้งแต่วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๑๕ เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๒๑ เวลากลางวัน จำเลยได้ควบคุมเรือยนต์และเครื่องจักรยนต์เดินในแม่น้ำเจ้าพระยาอันเป็นเขตน่านน้ำไทยโดยใช้ประกาศนียบัตรที่สิ้นอายุดังกล่าวแล้ว เหตุเกิดที่ตำบลต้นโพธิ์ อำเภอเมืองสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ตามวันเวลาเกิดเหตุเจ้าพนักงานจับจำเลยในข้อหาร่วมดูดทรายในแม่น้ำเจ้าพระยาอันเป็นสาธารณาสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันโดยไม่รับอนุญาตและควบคุมเรือยนต์ เครื่องจักรยนต์โดยใช้ประกาศนียบัตรที่สิ้นอายุ ฐานความผิดแรกพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง พนักงานอัยการได้แจ้งข้อหาฐานความผิดหลังอีกครั้งเมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๒ เวลา ๑๐.๐๐ นาฬิกา ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. ๒๔๕๖ มาตรา ๒๗๗,๒๘๒ พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๔๗๗ มาตรา ๓
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยถูกจับเมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๒๑ และถูกนำตัวถึงที่ทำการพนักงานสอบสวนวันเดียวกันเวลา ๑๙.๐๐ นาฬิกา ความผิดตามฟ้องเป็นความผิดต่างกรรมกับฐานความผิดดูดทรายในแม่น้ำเจ้าพระยา และอยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๗,๙ แม้จะมีการแจ้งข้อหาให้จำเลยทราบอีกครั้งหนึ่งก็ไม่มีผลให้ระยะเวลาตามมาตรา ๗ ตั้งต้นใหม่ เมื่อไม่มีคำอนุญาตของอธิบดีกรมอัยการโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ไม่ประทับฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าตามพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. ๒๕๒๐ มาตรา ๓ บัญญัติว่า “ในท้องที่ซึ่งยังมิได้มีศาลแขวงเปิดทำการให้นำวิธีพิจารณาความอาญา ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้ในศาลจังหวัด สำหรับคดีอาญาที่มีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้จำคุกไม่เกิน ๓ ปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ” ส่วนมาตรา ๒ มีความว่าจะให้ใช้บังคับในท้องที่ใด เมื่อใด ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ต่อมามีพระราชกฤษฎีกาลงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๒๐ ให้ใช้บังคับในท้องที่อำเภอเมืองสิงห์บุรีและอำเภออินทร์บุรี โดยใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด ๓๐ วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๒๑ เป็นต้นไป คดีนี้จึงอยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวง และวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๗ และ ๙ ซึ่งบทบัญญัติในมาตรา ๗ มีความว่าต้องยื่นฟ้องภายในกำหนด ๗๒ ชั่วโมงนับแต่วันที่ผู้ต้องหาถูกจับ กรณีมีเหตุจำเป็นให้ยื่นคำร้องขอผัดฟ้องไว้ ส่วนมาตรา ๙ มีความว่าเมื่อพ้นกำหนดเวลาตามมาตรา ๗ จะฟ้องได้ต้องได้รัยอนุญาตจากอธิบดีกรมอัยการ ได้ความตามฟ้องคดีนี้ว่าเจ้าพนักงานจับจำเลยเมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๒๑ พร้อมกับข้อหาดูดทรายในแม่น้ำเจ้าพระยา แต่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องในข้อหาดังกล่าว พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อหาคดีนี้ให้จำเลยทราบอีกครั้ง เมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๒ เวลา ๑๐.๐๐ นาฬิกา เห็นได้ว่าโจทก์หลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติในมาตรา ๗ แล ๙ ศาลอุทธรณ์ไม่รับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณาชอบแล้ว
พิพากษายืน.