แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กรณีบุคคลภายนอกขอคืนของกลางตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 ไม่มีกฎหมายจำกัดสิทธิในการอุทธรณ์ฎีกา แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาต้องกันมาให้ยกคำร้องของผู้ร้อง ผู้ร้องก็ยังฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ คดีไม่ตกอยู่ในบังคับมาตรา 220 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
การแจ้งโอนทะเบียนรถยนต์ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2473 มาตรา 13 นั้น เป็นเรื่องกฎหมายกำหนดให้มีขึ้นเพื่อประโยชน์แก่การควบคุมของเจ้าพนักงานเท่านั้น ไม่ใช่แบบที่กำหนดไว้เพื่อความสมบูรณ์แห่งนิติกรรมซื้อขายรถยนต์ รถยนต์เป็นสังหาริมทรัพย์อย่างหนึ่งซึ่งกรรมสิทธิ์ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกัน
ย่อยาว
คดีนี้เดิมศาลจังหวัดปัตตานีพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติสำรวจและห้ามกักกันข้าว และริบของกลางคือรถยนต์บรรทุกข้าวสารยี่ห้อมาสด้าหมายเลขทะเบียน น.ส. ๐๒๓๒๔
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ของกลางดังกล่าว อ้างว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของแท้จริง มิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำผิด
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังว่าผู้ร้องมิใช่เจ้าของแท้จริงสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ที่โจทก์แก้ฎีกาคัดค้านว่าฎีกาของผู้ร้องเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๒๒๐ โดยอ้างคำพิพากษาฎีกาที่ ๘๒๔/๒๔๙๐ เป็นบรรทัดฐานนั้น ศาลฎ๊กาเห็นว่าคดีนี้ศาลล่างทั้งสองมิได้พิพากษายกฟ้องโจทก์ กรณีจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๐ ปัญหาในคดีนี้เป็นเรื่องบุคคลภายนอกมาร้องขอคืนของกลางตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖ ซึ่งไม่มีกฎหมายจำกัดสิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาแต่อย่างใด ผู้ร้องจึงมีสิทธิฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ ส่วนคำพิพากษาฎีกาที่โจทก์ยกมาอ้างนั้นเป็นฎ๊กาในปัญหาเรื่องโทษริบทรัพย์ซึ่งลงแก่จำเลยอันไม่ตรงกับปัญหาในคดีนี้ จึงจะยกมาเป็นบรรทัดฐานแก่คดีนี้หาได้ไม่
ที่ผู้ร้องฎีกาว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของรถยนต์ของกลางรายนี้โดยทะเบียนรถยนต์ยังเป็นชื่อของผู้ร้องนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การแจ้งโอนทะเบียนรถยนต์ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๔๗๓ มาตรา ๑๓ นั้น เป็นเรื่องกฎหมายกำหนดให้มีขึ้น เพื่อประโยชน์แก่การควบคุมของเจ้าพนักงานเท่านั้น หาใช่แบบที่กำหนดไว้เพื่อความสมบูรณ์แห่งนิติกรรมซื้อขายรถยนต์แต่อย่างใดไม่ รถยนต์เป็นสังหาริมทรัพย์อย่างหนึ่ง ซึ่งกรรมสิทธิ์ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๕๘ โดยไม่มีกฎหมายกำหนดแบบพิธีว่าต้องไปจดทะเบียนโอนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เหมือนอย่างกรณีซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์พิเศษบางอย่างตามมาตรา ๔๕๖ แต่อย่างใดไม่ ผู้ร้องเองเบิกความว่า ตนได้ตกลงขายรถยนต์ของกลางรายนี้ให้นายประดิษฐ์ไปเมื่อก่อนเกิดเหตุคดีนี้ ประมาณ ๒ ปีแล้ว ส่วนนายประดิษฐ์เบิกความว่าได้ขายต่อให้จำเลยที่ ๑ ไปเมื่อประมาณ ๒ ปีมาแล้วเช่นกัน ดังนั้น รถยนต์คันนี้จึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๑ ไปแล้วในขณะเกิดเหตุ ผู้ร้องมิใช่เจ้าของแท้จริง จึงไม่มีสิทธิมายื่นคำร้องขอคืนได้ ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องของผู้เสียหายนั้นเป็นการชอบแล้ว
พิพากษายืน