คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 668/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

หนี้ที่ยังมีข้อต่อสู้ที่นำมาหักกลบลบหนี้ไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 344 หมายถึง หนี้ที่ฝ่ายหนึ่งอ้างแล้วอีกฝ่ายยังมีข้อโต้แย้งไม่ยอมรับ ดังนั้นเมื่อจำเลยอ้างว่าโจทก์จะต้องรับผิดชอบในสินค้าของจำเลยที่อยู่ในความรับผิดชอบของโจทก์สูญหายไป แต่โจทก์แถลงต่อศาลแรงงานกลางว่าหนี้จำนวนดังกล่าวเป็นหนี้ยังมีข้อต่อสู้อยู่ แม้จะให้สืบพยานโจทก์และจำเลยไปก็ไม่ทำให้กลายเป็นหนี้ที่ไม่มีข้อต่อสู้ จำเลยจึงนำหนี้ดังกล่าวมาหักกลบลบหนี้ไม่ได้
ระเบียบของจำเลยว่าด้วยพนักงานและลูกจ้าง ข้อ 25 กำหนดให้เงินสะสมของพนักงานหรือลูกจ้างรวมทั้งดอกเบี้ยเป็นประกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่ร้านสหกรณ์โดยการกระทำหรืองดเว้นการกระทำของพนักงานหรือลูกจ้างนั้น ๆ แต่โจทก์เป็นพนักงานทำความสะอาดไม่ใช่งานเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินที่นายจ้างจะเรียกหรือรับเงินประกันการทำงานหรือเงินประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้างได้ตามประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับเงินประกันการทำงานหรือเงินประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2541 ข้อ 4 จำเลยจึงต้องห้ามไม่ให้เรียกหรือรับเงินประกันการทำงานหรือเงินประกันความเสียหายในการทำงานจากโจทก์ เมื่อจำเลยเลิกจ้างจึงต้องคืนค่าจ้างที่หักไว้เป็นรายเดือนให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 มาตรา 10

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2538 จำเลยว่าจ้างโจทก์เข้าทำงานหน้าที่แม่บ้าน ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 5,405 บาทกำหนดจ่ายทุกวันที่ 15 และสิ้นเดือน ระหว่างทำงานจำเลยหักค่าจ้างโจทก์ร้อยละ 5 ต่อเดือน นับแต่เดือนตุลาคม 2538 ถึงเดือนตุลาคม2542 รวมเป็นเงิน 9,900 บาท ไว้เป็นเงินสะสมโดยตกลงว่าเมื่อโจทก์ออกจากงานจำเลยจะคืนเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยซึ่งนับถึงวันที่ 31มีนาคม 2543 ดอกเบี้ยคิดเป็นเงิน 1,874.06 บาท นอกจากนี้จำเลยยังหักค่าจ้างของโจทก์อีกเดือนละ 500 บาท นับแต่เดือนมิถุนายน 2538ถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2538 รวม 4 งวด เป็นเงิน 2,000 บาท ไว้เป็นเงินประกันการทำงานของโจทก์ ตกลงว่าเมื่อโจทก์ออกจากงานและไม่ได้ทำความเสียหายจำเลยจะคืนให้แก่โจทก์ ต่อมาวันที่ 1 เมษายน2543 จำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์โดยให้มีผลวันที่ 1 พฤษภาคม 2543อ้างว่าจำเลยปิดร้านสาขาปากเกร็ด โจทก์ไม่ได้กระทำผิด แต่วันที่ 9และวันที่ 10 พฤษภาคม 2543 จำเลยให้โจทก์ตรวจสอบสินค้าชำรุดส่งคืนสำนักงานใหญ่ แต่ไม่ยอมจ่ายค่าจ้างจำนวน 360 บาท ให้แก่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินสะสมพร้อมดอกเบี้ยจำนวน 11,774.06 บาทกับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2543 เงินประกันการทำงานจำนวน 2,000 บาท กับเงินค่าจ้างจำนวน 360 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันฟ้องและค่าชดเชยจำนวน 32,430 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า ระหว่างที่โจทก์ทำงานกับจำเลย โจทก์กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อปล่อยปละละเลย ไม่ดูแลเอาใจใส่สินค้าที่อยู่ในความรับผิดชอบของตน เป็นเหตุให้สินค้าสูญหายและถูกลักไปเป็นจำนวนมาก คิดเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 215,786.75 บาท ซึ่งโจทก์จะต้องรับผิดชอบเป็นเงิน 11,517.96 บาท ถือได้ว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของจำเลย จำเลยไม่ต้องจ่ายเงินสะสม ค่าชดเชยและเงินประกันการทำงานแก่โจทก์ อีกทั้งมีสิทธิยึดหน่วงเงินสะสมเงินชดเชยและเงินประกันการทำงานของโจทก์และนำมาหักกลบลบหนี้กับค่าเสียหายที่โจทก์จะต้องรับผิดชอบ ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณาโจทก์แถลงสละข้อหา ข้ออ้าง และคำขอบังคับในเรื่องที่ว่าเมื่อวันที่ 9 และวันที่ 10 พฤษภาคม 2543 จำเลยให้โจทก์ตรวจสอบสินค้าที่ชำรุดส่งคืนสำนักงานใหญ่ แต่ไม่จ่ายค่าจ้างจำนวน360 บาท ให้แก่โจทก์ และแถลงว่าหนี้ตามข้ออ้างของจำเลยจำนวน11,517.96 บาท โจทก์มีข้อต่อสู้ไม่ยินยอมให้หักกลบลบหนี้ตามคำให้การ

ส่วนจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงว่า จำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์อาศัยเหตุที่ว่าโจทก์กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้สินค้าของจำเลยสูญหายและถูกลักไป และรับว่าไม่มีข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยหรือระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่โจทก์ตกลงยินยอมให้หักเงินตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์กับค่าเสียหายที่จำเลยกล่าวอ้าง อีกทั้งรับว่าเงินสะสมพร้อมดอกเบี้ย เงินประกันการทำงานมีจำนวนถูกต้องตามคำฟ้องของโจทก์

ศาลแรงงานกลางเห็นว่า ข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะวินิจฉัยคดีได้แล้วจึงให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลยแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยมิได้เลิกจ้างเพราะโจทก์จงใจทำให้จำเลยเสียหายหรือโจทก์ประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยเสียหายอย่างร้ายแรง จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์และไม่มีข้อตกลงให้จำเลยหักเงินประกันการทำงานจำเลยจึงต้องจ่ายเงินสะสมและเงินประกันการทำงานพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ โจทก์ยังมีข้อต่อสู้ในค่าเสียหายตามคำให้การของจำเลยและไม่ยินยอมให้หักกลบลบหนี้ จำเลยต้องฟ้องหรือฟ้องแย้งจึงจะหักกลบลบหนี้ได้ ไม่มีสิทธิขอหักกลบลบหนี้มาในคำให้การ พิพากษาให้จำเลยคืนเงินสะสมพร้อมดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน11,774.06 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 9,900 บาทนับแต่วันที่ 1 เมษายน 2543 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์และให้คืนเงินประกันการทำงานจำนวน 2,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี ของเงินจำนวนดังกล่าว กับให้ชำระค่าชดเชยจำนวน 32,430 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินจำนวนดังกล่าวทั้งนี้นับแต่วันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อแรกของจำเลยว่า คำสั่งของศาลแรงงานกลางที่สั่งให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางเพียงแต่สอบถามโจทก์ถึงหนี้ที่จำเลยจะขอหักกลบลบหนี้กับโจทก์ ซึ่งโจทก์แถลงว่าหนี้ดังกล่าวยังมีข้อต่อสู้อยู่ไม่ยินยอมให้หักกลบลบหนี้ แล้วศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า หนี้ดังกล่าวยังมีข้อต่อสู้อยู่จะหักกลบลบหนี้กันไม่ได้ โดยไม่ได้ดำเนินการให้คู่ความสืบพยานหลักฐานให้ได้ความจริงว่าหนี้ดังกล่าวมีข้อต่อสู้จริงหรือไม่คำสั่งของศาลแรงงานกลางที่สั่งให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลยจึงไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า หนี้ที่ยังมีข้อต่อสู้ที่นำมาหักกลบลบหนี้ไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 344 นั้น หมายถึงหนี้ที่ฝ่ายหนึ่งอ้างแล้ว อีกฝ่ายยังมีข้อโต้แย้งไม่ยอมรับ คดีนี้จำเลยอ้างว่าโจทก์จะต้องรับผิดชอบในสินค้าของจำเลยที่อยู่ในความรับผิดชอบของโจทก์สูญหายไปเป็นเงิน 11,517.96 บาทแต่โจทก์แถลงต่อศาลแรงงานกลางว่าหนี้จำนวนนี้โจทก์มีข้อต่อสู้ไม่ยินยอมให้หักกลบลบหนี้ถือว่าหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ยังมีข้อต่อสู้อยู่ แม้จะให้สืบพยานโจทก์และจำเลยในคดีนี้ไปก็ไม่ทำให้กลายเป็นหนี้ที่ไม่มีข้อต่อสู้ จำเลยจึงนำหนี้จำนวน 11,517.96 บาท มาหักกลบลบหนี้กับโจทก์ไม่ได้ การที่ศาลแรงงานกลางสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลยนั้นชอบแล้วอุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อสุดท้ายของจำเลยมีว่า จำเลยมีสิทธิหักเงินสะสมของโจทก์ชำระค่าเสียหายของจำเลยได้หรือไม่โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า ระเบียบของจำเลยว่าด้วยพนักงานและลูกจ้างเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 3 ข้อ 25 กำหนดว่า “เงินสะสมของพนักงานหรือลูกจ้างรวมทั้งดอกเบี้ยย่อมถือเป็นประกันบรรดาความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่ร้านสหกรณ์โดยการกระทำหรืองดเว้นการกระทำของพนักงานหรือลูกจ้างนั้น ๆ” ดังนั้น จำเลยย่อมมีสิทธิหักเงินสะสมชดใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ได้ก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างที่โจทก์ทำงานกับจำเลยได้ เห็นว่า ตามระเบียบดังกล่าวแม้ว่าเงินสะสมจะเป็นเงินประกันบรรดาความเสียหายที่โจทก์ก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างการทำงานกับจำเลยซึ่งให้หักชดใช้ค่าเสียหายได้ก็ตาม แต่ปรากฏตามสำเนาคำสั่งของจำเลยที่ 2/2541 เรื่อง โยกย้ายพนักงานเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 1 ว่าโจทก์เป็นพนักงานทำความสะอาดไม่ใช่งานเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินที่นายจ้างจะเรียกหรือรับเงินประกันการทำงานหรือเงินประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้างได้ตามประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับเงินประกันการทำงานหรือเงินประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2541 ข้อ 4 จำเลยจึงต้องห้ามไม่ให้เรียกหรือรับเงินประกันการทำงานหรือเงินประกันความเสียหายในการทำงานจากโจทก์ ดังนั้นเงินสะสมที่จำเลยหักจากค่าจ้างของโจทก์ไว้และถือว่าเป็นประกันความเสียหายนั้น เมื่อจำเลยเลิกจ้างก็ต้องคืนให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยถ้ามี ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 10 จำเลยจึงไม่มีสิทธิหักเงินสะสมของโจทก์ชำระค่าเสียหาย อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”

พิพากษายืน

Share