คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2547/2522

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยมีวัตถุระเบิดไว้ในความครอบครองภายหลังที่สิ้นกำหนดเวลานำมามอบให้นายทะเบียนท้องที่ตามที่กำหนดไว้ในคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 12 ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2519 นั้น ไม่อยู่ในข่ายจะได้รับการพิจารณายกเว้นโทษตามคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับดังกล่าว

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานกระทำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ ร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญา และมีวัตถุระเบิดสำหรับใช้เฉพาะแต่ในการสงครามไว้ในความครอบครอง รวมจำคุก 3 ปี 6 เดือน เพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 82 อีกหนึ่งในสาม คงจำคุก 4 ปี 8 เดือน จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “จำเลยที่ 1 ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่าการที่จำเลยที่ 1 มีวัตถุระเบิดของกลางซึ่งสำหรับใช้แต่เฉพาะในการสงครามไว้ในครอบครอง ได้รับยกเว้นโทษตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 12 ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2514 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับโทษนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับดังกล่าวสั่งให้ผู้ที่มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดสำหรับใช้เฉพาะแต่การสงครามไว้ในครอบครอง ให้นำมามอบให้นายทะเบียนท้องที่ตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน ภายในวันที่ 14ตุลาคม 2519 ผู้ที่ปฏิบัติตามคำสั่งนี้ไม่ต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนแต่กรณีของจำเลยที่ 1 มีวัตถุระเบิดของกลางไว้ในครอบครองภายหลังที่สิ้นกำหนดเวลานำมามอบให้นายทะเบียนท้องที่แล้ว จึงไม่อยู่ในข่ายจะได้รับการพิจารณายกเว้นไม่ต้องรับโทษตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับดังกล่าว คำพิพากษาฎีกาที่ 1040/ 2513 ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ โจทก์ นายจันทร์เป็ง สุวรรณ จำเลย ตามที่จำเลยที่ 1 ยกขึ้นอ้างมานั้นเป็นเรื่องขณะคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ได้มีพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2510 ประกาศใช้ ซึ่งมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวนี้ยกเว้นโทษให้จำเลยในความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตรูปเรื่องไม่ตรงกับคดีนี้”

พิพากษายืน

Share