แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กฎหมายมิได้ห้ามเด็ดขาดเสียทีเดียวว่าผู้เช่าจะโอนสิทธิการเช่าของตนมิได้ โดยได้มีบัญญัติยกเว้นไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 544 ตอนท้ายว่า หากได้ตกลงกันไว้ในสัญญาเช่าให้ผู้เช่าโอนสิทธิการเช่าได้ ก็ย่อมโอนกันได้ตามข้อตกลงนั้น และสิทธิการเช่าดังกล่าวก็มิใช่เป็นสิทธิเฉพาะ ตัวของผู้เช่า
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องเรียกเงินกู้จากจำเลย แล้วทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในศาล โดยจำเลยยอมใช้เงินให้โจทก์เป็นเงิน 16,000 บาท ศาลพิพากษาตามยอม ต่อมาโจทก์บังคับคดีนำยึดสิทธิการเช่าตึกแถว ซึ่งจำเลยเช่าจากผู้ร้องโดยจดทะเบียนการเช่า ณ ที่ว่าการอำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา เหลือเวลาเช่าอยู่ประมาณ 12 ปี โดยตีราคาสิทธิการเช่ารายนี้เป็นเงิน 30,000 บาท
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า สัญญาเช่าระหว่างจำเลยกับผู้ร้องได้สิ้นสุดลงแล้วโจทก์ไม่มีสิทธิยึด ขอให้ศาลสั่งปล่อยการยึด
ศาลชั้นต้นนัดพร้อมเพื่อสอบถาม ผู้ร้องแถลงว่าจำเลยได้จดทะเบียนเลิกการเช่ารายนี้กับผู้ร้องแล้ว โจทก์แถลงว่าจำเลยยังอยู่ในห้องเช่า แต่ได้ให้คนขับรถเข้าเป็นคู่สัญญาเช่าแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าสิทธิการเช่าเป็นสิทธิเฉพาะตัว ให้เพิกถอนการยึด
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งใหม่
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 544บัญญัติว่า ทรัพย์สินซึ่งเช่านั้น ผู้เช่าจะให้เช่าช่วงหรือโอนสิทธิการเช่าของตนอันมีในทรัพย์สินนั้น ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนให้แก่บุคคลภายนอก ท่านว่าหาอาจทำได้ไม่ เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาเช่า ซึ่งแสดงว่ากฎหมายมิได้ห้ามเด็ดขาดเสียทีเดียวว่าผู้เช่าจะโอนสิทธิการเช่าของตนไม่ได้แต่ได้มีบัญญัติยกเว้นไว้ในมาตรา 544 นั้นเองว่า ถ้าหากได้ตกลงกันไว้ในสัญญาเช่าว่าให้ผู้เช่าโอนสิทธิการเช่าได้ก็ย่อมโอนได้ตามข้อตกลง ฉะนั้นการที่ศาลอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนเสียก่อนว่าสิทธิการเช่ารายนี้มีข้อตกลงในการโอนไว้อย่างไรหรือไม่นั้น จึงเป็นการชอบแล้ว
พิพากษายืน