แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2517 จำเลยได้รับบรรจุเป็นข้าราชการครู สังกัดกรุงเทพมหานคร โดยรับเงินเดือนในอัตราของตำแหน่งครูต่อมาจำเลยได้สอบคัดเลือกเข้ารับการบรรจุเป็นข้าราชการครูสังกัดกรมสามัญศึกษาโจทก์ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2518 โดยรับเงินเดือนในอัตราชั้นตรี โดยจำเลยได้เงินเดือนสองตำแหน่งตลอดมาจนจำเลยออกจากราชการของกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2521 ตามพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญและเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ. 2505 มาตรา 28 บัญญัติให้ข้าราชการรับเงินเดือนได้เพียงตำแหน่งเดียวนั้น หมายความรวมทั้งกรณีที่ข้าราชการผู้นั้นได้ไปปฏิบัติหน้าที่ทั้งสองตำแหน่งหรือหลายตำแหน่งด้วย และถึงแม้การไปดำรงตำแหน่งมากกว่าหนึ่งตำแหน่งของจำเลยจะมิได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีก่อน ก็ไม่ทำให้จำเลยมีสิทธิที่จะได้รับเงินเดือนทั้งสองตำแหน่งได้ ฉะนั้น จำเลยยังไม่ได้แสดงเจตนาว่าจะเลือกรับเงินเดือนในตำแหน่งใด และโจทก์ยังไม่ได้แจ้งให้จำเลยทราบว่าจะให้จำเลยรับเงินเดือนทางใด และขอคืนในอัตราของตำแหน่งใดก่อนจึงเป็นกรณีที่จำเลยได้รับเงินจากโจทก์อันปราศจากมูลที่จะอ้างกฎหมายได้ อันเป็นลาภมิควรได้ โจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกเงินคืนได้ จำเลยต้องคืนเงินดังกล่าวแก่โจทก์ อายุความสำหรับเรียกทรัพย์คืนในเรื่องลาภมิควรได้นั้น มาตรา419 บัญญัติห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เวลาที่ฝ่ายผู้เสียหายรู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน หรือเมื่อพ้น 10 ปี นับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้มีขึ้น ดังนั้น เงินที่จำเลยได้รับไปนับแต่วันฟ้องย้อนหลังไปเกิน 10 ปี จึงขาดอายุความ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกคืน จำเลยจำต้องคืนเงินที่จำเลยได้รับไปเฉพาะส่วนที่นับแต่วันฟ้องย้อนหลังไปไม่เกินสิบปีเท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินและดอกเบี้ยถึงวันฟ้องรวม 69,944.44 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5ต่อปีของต้นเงิน 69,388.38 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเงินเสร็จ
จำเลยให้การปฏิเสธ และขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 69,388.38บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่22 ธันวาคม 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยฎีกาของจำเลยเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายเท่านั้นซึ่งในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาว่า จำเลยเป็นข้าราชการครูตำแหน่งอาจารย์ 2ระดับ 5 โรงเรียนเทพศิรินทร์ สังกัดกองการมัธยมศึกษาของโจทก์เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2517 จำเลยได้รับบรรจุเป็นราชการครูสังกัดกรุงเทพมหานคร โดยรับเงินเดือนในอัตราของตำแหน่งครูโรงเรียนวัดดอกไม้ เขตยานนาวา สำนักงานการศึกษากรุงเทพมหานคร ต่อมาจำเลยได้สอบคัดเลือกเข้ารับการบรรจุเป็นข้าราชการครูสังกัดกรมสามัญศึกษาโจทก์ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2518 โดยรับเงินเดือนในอัตราชั้นตรี อันดับ 2 ตำแหน่งครูตรี โรงเรียนยานนาเวศวิทยาคมสังกัดกองการมัธยมศึกษาของโจทก์ โดยจำเลยได้เงินเดือนสองตำแหน่งตลอดมาจนจำเลยลาออกจากราชการของกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 30มิถุนายน 2521
ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นข้าราชการ แต่ได้รับเงินเดือนไปทั้งจากโจทก์และกรุงเทพมหานคร เป็นการฝ่าฝืนพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญและเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ. 2505 ซึ่งกำหนดให้จำเลยรับเงินเดือนได้เพียงตำแหน่งเดียว จำเลยยังไม่ได้แสดงเจตนาว่าจะเลือกรับเงินเดือนในตำแหน่งใด และโจทก์ยังไม่ได้แจ้งให้จำเลยทราบว่าจะให้จำเลยรับเงินเดือนทางใด และขอคืนในอัตราของตำแหน่งใดก่อนโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ไม่มีบทกฎหมายใดสนับสนุนข้อฎีกาของจำเลยดังกล่าว ทั้งเป็นกรณีที่จำเลยได้รับทรัพย์สินไปจากโจทก์โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ อันเป็นลาภมิควรได้โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกเงินที่จำเลยรับไปจากโจทก์คืนได้
ที่จำเลยฎีกาว่า ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจ่ายเงินเดือนเงินปี บำเหน็จ บำนาญและเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ. 2505มาตรา 28 ที่บัญญัติให้ข้าราชการรับเงินเดือนในตำแหน่งเดียวนั้นหมายความว่าเป็นเรื่องที่ข้าราชการผู้นั้นเพียงแต่ไปดำรงตำแหน่งเท่านั้น มิได้ไปปฏิบัติหน้าที่จริง ๆ ซึ่งผิดกับกรณีของจำเลยซึ่งได้ไปปฏิบัติหน้าที่โดยตรงทั้งสองแห่ง และโดยมิได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีก่อนนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมีความหมายรวมทั้งกรณีที่ข้าราชการผู้นั้นได้ไปปฏิบัติหน้าที่ทั้งสองตำแหน่งหรือหลายตำแหน่งด้วย และถึงแม้การไปดำรงตำแหน่งมากกว่าหนึ่งตำแหน่งของจำเลยจะมิได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีก่อน ก็ไม่ทำให้จำเลยมีสิทธิที่จะได้รับเงินเดือนทั้งสองตำแหน่งดังที่จำเลยอ้าง
ที่จำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิม (มาตรา 193/30 ใหม่)นั้น เห็นว่า ตามคำให้การของจำเลย จำเลยให้การว่า โจทก์ฟ้องเรียกเงินคืน ซึ่งเงินเดือนที่จำเลยได้รับจากโจทก์ตั้งแต่วันที่15 พฤษภาคม 2518 เกินกว่าสิบปีแล้ว ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตามคำให้การของจำเลยดังกล่าวเป็นคำให้การที่ชัดแจ้งและแสดงเหตุแห่งการขาดอายุความแล้ว ส่วนอายุความที่จำเลยยกขึ้นต่อสู้นั้นจะต้องด้วยบทกฎหมายลักษณะใดเป็นหน้าที่ของศาลที่จะยกขึ้นวินิจฉัยเอง โดยที่จำเลยได้รับเงินจากโจทก์อันปราศจากมูลที่จะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบเข้าลักษณะลาภมิควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406 จำเลยจำต้องคืนเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ แต่อายุความสำหรับเรียกทรัพย์คืนในเรื่องลาภมิควรได้นั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419 บัญญัติห้ามมิได้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดปีหนึ่งนับแต่เวลาที่ฝ่ายผู้เสียหายรู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้มีขึ้นดังนั้น เงินที่จำเลยได้รับไปนับแต่วันฟ้องย้อนหลังไปเกินสิบปีจึงขาดอายุความ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกคืนจำเลยจำต้องคืนเงินที่จำเลยได้รับไปเฉพาะส่วนที่นับแต่วันฟ้องย้อนหลังไปไม่เกินสิบปีเท่านั้น ซึ่งโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2531 จึงมีเงินเดือนที่โจทก์ยังมีสิทธิเรียกคืนเพียงของเดือนเมษายน 2521ถึงเดือนมิถุนายน 2521 รวม 3 เดือน เดือนละ 1,975 บาท เป็นเงิน5,925 บาท กับเงินสะสมที่จำเลยรับไปเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2523จำนวน 1,259.70 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 7,184.70 บาท ตามรายละเอียดเอกสารหมาย จ.14 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยคืนเงินที่รับไปทั้งหมด จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 7,184.70 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22ธันวาคม 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์