คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7003/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่โจทก์กับจำเลยที่ 2 เคยมีข้อพิพาททั้งทางแพ่งและอาญามาก่อน ในวันเกิดเหตุ โจทก์ยังเป็นฝ่ายด่าว่ายกมือไหว้สาปแช่งจำเลยที่ 2 จนเกิดการทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน ย่อมฟังได้ว่าเป็นการที่ต่างสมัครใจเข้าวิวาทกัน โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 28

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 295, 296
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 296 ส่วนจำเลยที่ 2 มีความผิดตามมาตรา 295 ลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 6 เดือน จำเลยที่ 2 จำคุก 3 เดือน ปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกสำหรับจำเลยที่ 2 รอไว้มีกำหนด 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงที่มิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 เป็นบุตรของโจทก์ จำเลยที่ 2 เคยเป็นภรรยาของจำเลยที่ 1 และได้หย่าขาดจากกันแล้ว ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 2 ได้ทำร้ายร่างกายโจทก์ คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อแรกว่า จำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ทำร้ายร่างกายโจทก์หรือไม่ พยานโจทก์มีตัวโจทก์เบิกความว่า ขณะโจทก์กำลังจูงสุนัขจำนวน 4 ตัวออกมาเดินบนถนนหน้าบ้าน จำเลยที่ 2 ได้เปิดประตูวิ่งเข้ามาเตะสุนัขและตัวโจทก์กับได้ตะโกนเรียกให้จำเลยที่ 1 มาช่วยทำร้ายโจทก์ จำเลยทั้งสองได้เตะและถีบบริเวณท้องของโจทก์หลายครั้ง เมื่อมีเสียงคนงานก่อสร้างตะโกนว่า เฮ้ยรังแกคนแก่ จำเลยทั้งสองจึงกลับเข้าบ้านแล้วนำกล้องวิดีโอกับกล้องถ่ายรูปมาถ่ายรูปโจทก์ไว้ นางสาวบรรจง รอดสถา เบิกความว่า พยานเป็นคนงานก่อสร้าง วันเกิดเหตุพยานเห็นโจทก์เดินจูงสุนัขออกมาและเห็นจำเลยที่ 2 วิ่งออกมาเตะสุนัขกับโจทก์ จำเลยที่ 2 ตะโกนเรียกชื่อจำเลยที่ 1 ให้ออกมาช่วยตีโจทก์ จำเลยทั้งสองช่วยเตะและถีบสุนัขกับโจทก์โดยมีนายสมศักดิ์ อำไพสุทธิพงษ์ นางสาวสมพร อำไพสุทธิพงษ์ นางภารตี อำไพสุทธิพงษ์ เบิกความเป็นพยานแวดล้อมหลังเกิดเหตุสนับสนุน ร้อยตำรวจเอกสมศักดิ์ สว่างศรี พนักงานสอบสวนเบิกความว่า วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 20 นาฬิกา จำเลยที่ 2 ได้มาแจ้งความว่า ถูกโจทก์ทำร้ายร่างกาย พยานจึงให้เจ้าพนักงานตำรวจสายตรวจไปเชิญตัวโจทก์พร้อมทั้งส่งจำเลยที่ 2 ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลบางมด 3 ภายหลังโจทก์นายสมศักดิ์และลูกสะใภ้ของโจทก์มาพบพยาน พยานสอบสวนแล้วได้ความว่า เป็นเรื่องระหว่างแม่สามีและลูกสะใภ้ โจทก์แจ้งพยานว่าถูกทำร้ายร่างกายเช่นกัน พยานจึงส่งโจทก์ไปให้แพทย์ตรวจบาดแผลที่โรงพยาบาลบางปะกอก 2 ส่วนจำเลยที่ 2 เบิกความว่า วันเกิดเหตุโจทก์เป็นฝ่ายหาเรื่อง โดยด่าว่าและสาปแช่งจำเลยที่ 2 กับได้ใช้ไม้เท้าที่ถือมาตีจำเลยที่ 2 ด้วย เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า ฝ่ายโจทก์กับจำเลยทั้งสองเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน ทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญาหลายคดี สำหรับการเกิดเหตุในครั้งนี้ต่างฝ่ายต่างแจ้งความกล่าวหาทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน พนักงานสอบสวนมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีที่จำเลยที่ 2 แจ้งความให้ดำเนินคดีโจทก์ ส่วนคดีที่โจทก์แจ้งความให้ดำเนินคดีจำเลยทั้งสอง พนักงานอัยการก็มีคำสั่งไม่ฟ้อง หากพิจารณาลำพังคำของโจทก์กับนางสาวบรรจงแล้วจะดูเป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองร่วมกันทำร้ายโจทก์เพียงลำพังฝ่ายเดียว โดยโจทก์มิได้ทำร้ายร่างกายจำเลยทั้งสองด้วย แต่ข้อเท็จจริงกลับได้ความว่า จำเลยที่ 2 ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นกันตามใบความเห็นแพทย์ในชุดเอกสารหมาย ล.27 สอดคล้องกับคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกสมศักดิ์ที่ได้ความว่า จำเลยที่ 2 ได้แจ้งให้ดำเนินคดีกับโจทก์ก่อนและพยานได้ส่งจำเลยที่ 2 ไปให้แพทย์ตรวจ ที่โจทก์กับนางสาวบรรจงเบิกความตอบคำถามของทนายโจทก์ ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ถือไม้เท้าติดตัวไปด้วย แต่เมื่อเบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านกลับปรากฏว่าโจทก์มีไม้เท้าติดตัวไปด้วย ที่จำเลยที่ 2 เบิกความว่าโจทก์ด่าว่ายกมือไว้สาปแช่งจำเลยที่ 2 กับถือไม้เท้ามาด้วย จึงมีน้ำหนักในการรับฟัง การที่โจทก์กับจำเลยที่ 2 เคยมีข้อพิพาททั้งทางแพ่งและอาญามาก่อน ในวันเกิดเหตุยังเป็นฝ่ายด่าว่ายกมือไหว้สาปแช่งจำเลยที่ 2 จนเกิดการทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน ย่อมฟังได้ว่าเป็นการที่ต่างสมัครใจเข้าวิวาทกัน โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28 ปัญหาอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 มิได้ยกขึ้นอ้างในฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง, 225 กรณีเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ที่มิได้ฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213, 225 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองมานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ไม่จำต้องวินิจฉัยในข้อที่จำเลยที่ 1 ฎีกาอีกต่อไป”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share