แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การที่จำเลยซึ่งอยู่ในฝั่งประเทศไทยตะโกนข้ามแม่น้ำเหืองที่กั้นพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนและกัญชาจากพวกของจำเลยที่ยืนอยู่ที่ฝั่งลาว โดยจำเลยไม่ได้เดินทางออกนอกประเทศ แม้พวกของจำเลยจะนำเมทแอมเฟตามีนและกัญชาดังกล่าวข้ามเขตมามอบให้ก็น่าจะเป็นเพราะจำเลยสั่งซื้อ ถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้ก่อให้พวกของจำเลยนำเข้าซึ่งยาเสพติดให้โทษตาม ป.อ. มาตรา 84 มิใช่เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดด้วยกันตามมาตรา 83 ดังที่โจทก์ฟ้อง ซึ่งเป็นการแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญ ย่อมลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดไม่ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคสอง แต่การตะโกนสั่งซื้อของจำเลยดังกล่าวถือได้ว่าเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 86 ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 26, 65, 67, 75, 76, 102 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 11, 62, 81 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 83, 91 ริบเมทแอมเฟตามีนและกัญชาของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพฐานเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านช่องทางด่านตรวจคนเข้าเมือง เขตท่าสถานีหรือท้องที่ที่กำหนด และอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต และรับว่ามีเมทแอมเฟตามีนและกัญชาของกลางไว้ในครอบครองจริง แต่ปฏิเสธว่าไม่ได้นำเข้ามาในราชอาณาจักร
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 26 วรรคหนึ่ง, 65 วรรคหนึ่ง, 67, 75 วรรคหนึ่ง, 76 วรรคหนึ่ง, 102 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 11, 62 (ที่ถูกมาตรา 62 วรรคหนึ่ง), 81 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานนำยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) เข้ามาในราชอาณาจักร กับฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยฐานนำยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) เข้ามาในราชอาญาจักร ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 33 ปี 4 เดือน ฐานนำยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เข้ามาในราชอาณาจักร กับฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยฐานนำยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษจำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษหนึ่งในสาม คงจำคุก 16 เดือน ฐานเป็นคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองโดยไม่ผ่านช่องทางด่านตรวจคนเข้าเมือง เขตท่าสถานีหรือท้องที่ที่กำหนด และฐานอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกฐานละ 2 เดือน รวมเป็น 4 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 เดือน รวมโทษจำเลยทุกกระทงแล้วคงจำคุกจำเลย 33 ปี 22 เดือน ริบเมทแอมเฟตามีนและกัญชาของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยพร้อมยึดได้เมทแอมเฟตามีนจำนวน 4 เม็ด น้ำหนัก 0.40 กรัม และกัญชาแห้งจำนวน 2 ห่อ น้ำหนัก 22.99 กรัม ซึ่งจำเลยมีไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นของกลาง มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยนำเข้าซึ่งเมทแอมเฟตามีนและกัญชาของกลางตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีดาบตำรวจสมพงษ์ ชนะวงษ์ ดาบตำรวจบุญสิน ธานีวรรณ และสิบตำรวจตรีประทีป สิทธิจักร ซึ่งเป็นผู้ร่วมจับกุมจำเลยเป็นประจักษ์พยานเบิกความว่า ขณะร่วมกับพวกออกลาดตระเวนเพื่อปราบปรามการค้ายาเสพติดไปถึงบริเวณริมแม่น้ำเหืองข้างวัดโพนสว่าง และหยุดซุ่มดูอยู่ในป่า ได้เห็นจำเลยเดินลงจากตลิ่งไปที่ริมแม่น้ำแล้วตะโกนเรียกหญิงคนหนึ่งซึ่งอยู่ที่ฝั่งประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวว่า “ซื้อยาด้วย ยาบ้า 130 กัญชา 120″ หญิงดังกล่าวได้พายเรือมายังฝั่งประเทศไทยนำเมทแอมเฟตามีนและกัญชาของกลางมาส่งมอบให้จำเลย โดยจำเลยส่งมอบธนบัตรให้แก่หญิงคนนั้น จากนั้นหญิงดังกล่าวพายเรือกลับไป ส่วนจำเลยเดินขึ้นจากริมแม่น้ำเหืองประมาณ 15 เมตร พยานทั้งสามกับพวกก็เข้าไปแสดงตัวขอตรวจค้น ผลการตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนและกัญชาของกลางในกระเป๋ากางเกงของจำเลย จึงจับกุมจำเลยโดยแจ้งข้อหาว่านำเข้าและมีไว้ในครอบครองซึ่งเมทแอมเฟตามีนและกัญชาโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จำเลยให้การรับสารภาพตามบันทึกการจับกุมและแผนที่สังเขปเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 และมีพันตำรวจตรีคารมย์ ผดุงพจน์ พนักงานสอบสวนเป็นพยานเบิกความว่า ในชั้นสอบสวนได้แจ้งข้อหาเช่นเดียวกับชั้นจับกุม จำเลยให้การรับสารภาพตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.9 เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสี่ปากเป็นเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่ ไม่มีเหตุที่จะเบิกความเพื่อกลั่นแกล้งจำเลย ทั้งพยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้ร่วมจับกุมต่างเบิกความได้สอดคล้องต้องกันโดยตลอด คำเบิกความจึงมีน้ำหนักให้รับฟังแม้พยานโจทก์ผู้ร่วมจับกุมจะเบิกความเกี่ยวกับความกว้างของแม่น้ำเหืองแตกต่างกันไปบ้าง ก็เป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อยมิใช่ข้อสาระสำคัญ ส่วนการที่เจ้าพนักงานตำรวจไม่ได้จับกุมหญิงที่ส่งมอบเมทแอมเฟตามีนและกัญชาแก่จำเลยเพื่อนำตัวมาดำเนินคดีหรือเพื่อให้มาเบิกความก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อพิรุธสงสัยดังที่จำเลยฎีกา เชื่อว่าพยานโจทก์ทั้งสี่ได้เบิกความไปตามความจริงที่เกิดขึ้น และทำบันทึกการจับกุมกับบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยไปตามที่จำเลยให้การด้วยความสมัครใจ ที่จำเลยฎีกาว่าคำให้การรับสารภาพดังกล่าวจัดทำขึ้นโดยเจ้าพนักงานตำรวจฝ่ายเดียว มิได้เกิดจากความสมัครใจของจำเลยนั้น จำเลยเพิ่งอ้างขึ้นมาในภายหลังโดยมิได้นำสืบโต้แย้งว่าคำให้การรับสารภาพดังกล่าวเกิดขึ้นโดยมิชอบแต่ประการใด ข้ออ้างของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง พยานหลักฐานของจำเลยไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ อย่างไรก็ตามการที่จำเลยตะโกนข้ามแม่น้ำสั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนและกัญชาที่ฝั่งลาวโดยจำเลยไม่ได้เดินทางออกนอกประเทศ แม้พวกของจำเลยจะนำเมทแอมเฟตามีนและกัญชาดังกล่าวข้ามเขตมามอบให้ก็น่าจะเป็นเพราะจำเลยสั่งซื้อ ถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้ก่อให้พวกของจำเลยนำเข้าซึ่งยาเสพติดให้โทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 มิใช่เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดด้วยกันตามมาตรา 83 ดังที่โจทก์ฟ้องซึ่งเป็นการแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญ ย่อมลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง แต่การตะโกนสั่งซื้อของจำเลยดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้สนับสนุนได้
อนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 8 มาตรา 19 และมาตรา 22 ยกเลิกความในมาตรา 15 มาตรา 65 มาตรา 67 มาตรา 75 และมาตรา 76 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ความใหม่แทน โดยในความผิดฐานนำเข้าหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง ทั้งตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่คงใช้ข้อความทำนองเดียวกัน ส่วนในมาตรา 15 วรรคสาม (2) ที่แก้ไขใหม่ ได้กำหนดไว้ว่า การมีเมทแอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีน มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่ 375 มิลลิกรัมขึ้นไป ให้ถือว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แตกต่างจากมาตรา 15 วรรคสองตามกฎหมายเดิม ซึ่งกำหนดไว้ว่าจะต้องมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่ 20 กรัมขึ้นไป กล่าวคือ แม้จะมีเมทแอมเฟตามีนปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่ 375 มิลลิกรัมขึ้นไป แต่ไม่ถึง 20 กรัมแล้วตามกฎหมายเดิมก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ดังนั้น เงื่อนไขที่เป็นองค์ประกอบความผิดดังกล่าวตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยจึงต้องใช้กฎหมายเดิมบังคับแก่จำเลยในส่วนนี้ ส่วนกำหนดโทษในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 67 และฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 76 วรรคหนึ่ง นั้น ตามกฎหมายเดิมมาตรา 67 มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท และมาตรา 76 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีและปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท ในขณะที่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ มาตรา 67 มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับสองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 76 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ จะเห็นได้ว่าแม้ตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่ของความผิดแต่ละฐานดังกล่าวมีระวางโทษจำคุกเท่ากัน และตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษปรับสูงกว่าโทษปรับตามกฎหมายเดิม แต่ก็เป็นการบัญญัติให้ลงโทษจำคุกหรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับแตกต่างจากกฎหมายเดิมที่ให้ลงโทษจำคุกและปรับเท่านั้น จึงต้องถือว่ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างจากกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด และกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดเป็นคุณมากกว่าในส่วนที่เกี่ยวกับโทษซึ่งมีหลายสถานที่จะลงได้แม้ระวางโทษปรับตามกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดจะเป็นคุณมากกว่าก็ตาม จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ส่วนความผิดฐานนำเข้าซึ่งเมทแอมเฟตามีนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายตามมาตรา 65 วรรคหนึ่ง และฐานนำเข้าซึ่งกัญชาโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง นั้น กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 26 วรรคหนึ่ง, 65 วรรคหนึ่ง (เดิม), 67 (ที่แก้ไขใหม่), 75 วรรคหนึ่ง (เดิม), และ 76 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และ 53 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้สนับสนุนนำยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) เข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษจำคุก 33 ปี 4 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 22 ปี 2 เดือน 20 วัน ฐานเป็นผู้สนับสนุนนำยาเสพติดให้โทษประเภท 5 (กัญชา) เข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษจำคุก 1 ปี 4 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 10 เดือน 20 วัน รวมกับโทษตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองฯ อีก 2 เดือน แล้วคงจำคุกมีกำหนด 22 ปี 14 เดือน 40 วัน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4