คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4836/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คำว่า “อนาจาร” มีความหมายว่าเป็นการกระทำต่อเนื้อตัวบุคคลที่ไม่สมควรทางเพศซึ่งมิได้หมายความเฉพาะการประเวณีหรือความใคร่เท่านั้น แต่รวมถึงการกระทำให้อับอายขายหน้าในทางเพศด้วย การที่จำเลยกอดเอวโจทก์ร่วม จับมือและดึงแขนโจทก์ร่วมเช่นนั้นจึงเป็นการกระทำอนาจารแก่โจทก์ร่วมโดยใช้กำลังประทุษร้าย เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 278 แม้บางตอนจำเลยจะได้กระทำขณะอยู่ในรถยนต์กระบะแต่การที่จำเลยจับมือและดึงแขนโจทก์ร่วมให้เข้าไปในห้องพักของโรงแรมขณะอยู่ต่อหน้าพนักงานโรงแรมเช่นนั้นเป็นการกระทำโดยเปิดเผยในที่ซึ่งอาจมีคนเห็นได้ แม้ไม่มีผู้ใดเห็นในขณะกระทำนั้นก็เป็นธารกำนัลแล้ว เพราะการกระทำต่อหน้าธารกำนัลมิได้หมายความเฉพาะแต่กระทำโดยประการที่ให้บุคคลอื่นได้เห็นโดยแท้จริงเท่านั้น เพียงแต่กระทำในลักษณะที่เปิดเผยให้บุคคลอื่นสามารถเห็นได้ก็เป็นต่อหน้าธารกำนัลแล้ว ดังนั้น เมื่อจำเลยกระทำอนาจารแก่โจทก์ร่วมโดยใช้กำลังประทุษร้ายต่อหน้าธารกำนัล จึงเป็นความผิดที่มิใช่ความผิดอันยอมความได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278, 281
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา สิบตำรวจตรีหญิงกาญจนา สุขศรี ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278 จำคุก 2 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลย 10,000 บาท อีกสถานหนึ่ง โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 4 เดือนต่อครั้ง มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์ร่วมกับจำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจทำงานอยู่ที่เดียวกันและรู้จักกันประมาณ 20 วัน คืนเกิดเหตุเวลาประมาณ 20 นาฬิกา จำเลยขับรถยนต์กระบะพาโจทก์ร่วมไปรับประทานอาหารและดื่มเบียร์จนเวลาประมาณ 1 นาฬิกา จึงพากลับ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำอนาจารแก่โจทก์ร่วมโดยใช้กำลังประทุษร้ายต่อหน้าธารกำนัลหรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมมีตัวโจทก์ร่วมเป็นพยานเบิกความว่า เมื่อออกจากร้านอาหารระหว่างทางจำเลยบอกว่าเมาขับรถไม่ไหวจะต้องพักโรงแรม พยานจึงขอลงจากรถขณะที่รถจะเลี้ยวเข้าโรงแรมเกรซอินน์ จำเลยได้ดึงแขนและกอดเอวพยาน พยานดิ้นจนหลุดและลงจากรถ แต่จำเลยยังคงจับแขนพยานและดึงพยานเข้าไปในรถอีก จำเลยขับรถข้าไปจอดในโรงแรมและบอกพนักงานโรงแรมว่าขอเปิดห้องพัก ขณะอยู่ต่อหน้าพนักงานโรงแรมซึ่งยืนอยู่ห่างประมาณ 3 เมตร มีแสงไฟฟ้าภายในโรงแรมพอมองเห็นได้ จำเลยกับพยานนั่งอยู่ในรถ จำเลยได้จับมือพยานไว้ พยานบอกพนักงานโรงแรมไม่ให้เปิดห้องและดิ้นจนหนีลงจากรถได้ จำเลยจึงลงจากรถมาดึงแขนพยานให้เข้าไปในห้องเพื่อจะข่มขืนกระทำชำเราพยาน แต่เมื่อพนักงานโรงแรมไม่เปิดห้องเพราะพยานไม่ยินยอม จำเลยจึงขับรถพาพยานออกไป ระหว่างทางพยานหนีลงจากรถของจำเลยได้ จึงวิ่งไปขึ้นรถแท็กซี่กลับที่พัก เห็นว่า โจทก์ร่วมเป็นหญิงสาว ประกอบอาชีพมีหลักฐานมั่นคงหากไม่เป็นความจริงคงไม่นำเรื่องที่น่าละอายไปเล่าให้คนอื่นฟังนอกจากโจทก์ร่วมแล้วยังมีนายกิจจา ราชการดี คนขับรถแท็กซี่คันที่รับโจทก์ร่วมพาหนีจากจำเลยในคืนเกิดเหตุ และมีร้อยตำรวจเอกโยธิน เธียรสุขสันต์ พนักงานสอบสวนซึ่งได้สอบปากคำนายบัญชัย ขันเงิน พนักงานโรงแรมเกรซอินน์ไว้ ตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนเป็นพยานเบิกความสนับสนุน พยานโจทก์และโจทก์ร่วมดังกล่าวไม่เคยมีเรื่องโกรธเคืองจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลยให้ต้องรับโทษ คำเบิกความจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ พยานจำเลยซึ่งปฏิเสธลอยๆ ไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าคืนเกิดเหตุขณะจำเลยขับรถจะเลี้ยวเข้าโรงแรมเกรซอินน์ซึ่งเป็นโรงแรมม่านรูด จำเลยได้ดึงแขนและกอดเอวโจทก์ร่วมซึ่งนั่งอยู่ที่เบาะตอนหน้า เมื่อจำเลยขับรถเข้าไปจอดในโรงแรมดังกล่าวและขอเปิดห้องพัก ขณะอยู่ต่อหน้านายบัญชัยพนักงานโรงแรมนั้น จำเลยได้จับมือและดึงแขนโจทก์ร่วมให้เข้าไปในห้องพัก คำว่า “อนาจาร” มีความหมายว่าเป็นการกระทำต่อเนื้อตัวบุคคลที่ไม่สมควรทางเพศ ซึ่งมิได้หมายความเฉพาะการประเวณีหรือความใคร่เท่านั้น แต่รวมถึงการกระทำให้อับอายขายหน้าในทางเพศด้วย การที่จำเลยกอดเอวโจทก์ร่วม จับมือและดึงแขนโจทก์ร่วมเช่นนั้น จึงเป็นการกระทำอนาจารแก่โจทก์ร่วมโดยใช้กำลังประทุษร้าย เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278 แม้บางตอนจำเลยจะได้กระทำขณะอยู่ในรถยนต์กระบะ แต่การที่จำเลยจับมือและดึงแขนโจทก์ร่วมให้เข้าไปในห้องพักของโรงแรมขณะอยู่ต่อหน้าพนักงานโรงแรมเช่นนั้น เป็นการกระทำโดยเปิดเผยในที่ซึ่งอาจมีคนเห็นได้ แม้ไม่มีผู้ใดเห็นในขณะกระทำนั้นก็เป็นธารกำนัลแล้ว เพราะการกระทำต่อหน้าธารกำนัลมิได้หมายความเฉพาะแต่กระทำโดยประการที่ให้บุคคลอื่นได้เห็นโดยแท้จริงเท่านั้นเพียงแต่กระทำในลักษณะที่เปิดเผยให้บุคคลอื่นสามารถเห็นได้ก็เป็นต่อหน้าธารกำนัลแล้ว ดังนั้น เมื่อจำเลยกระทำอนาจารแก่โจทก์ร่วมโดยใช้กำลังประทุษร้ายต่อหน้าธารกำนัล จึงเป็นความผิดที่มิใช่ความผิดอันยอมความได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share