แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 15 วรรคหนึ่ง ที่ใช้ในขณะจำเลยกระทำความผิดนั้น บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออกหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1…” ส่วนมาตรา 67 บัญญัติว่า “ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่ถึงยี่สิบกรัมโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 15 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปีและปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท” เท่านั้น ตามบทมาตราดังกล่าว ไม่ได้บัญญัติว่ายาเสพติดให้โทษต้องมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกินกว่าที่กำหนดไว้จึงจะเป็นความผิด เมื่อจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 48 เม็ด น้ำหนัก 4.158 กรัม ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้ตามคำฟ้องโจทก์จะไม่ได้ระบุว่าเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้หนักเท่าใด แต่ก็เป็นกรณีที่จำเลยมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่ถึงยี่สิบกรัมแล้วการกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดตามฟ้อง ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวได้
จำเลยถูกฟ้องเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2544 อันเป็นวันก่อนที่ พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดฯ และบทบัญญัติในหมวด 3 มาตรา 19 ว่าด้วยการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแห่งกฎหมายดังกล่าวใช้บังคับ และจำเลยมิได้เป็นเพียงผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติดและมีไว้ในครอบครองอันเป็นหลักเกณฑ์ที่จะถูกส่งตัวไปฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ทั้งตามหลักฐานของจำเลยก็ปรากฏว่าจำเลยเพียงแต่ไปเข้าค่ายฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบสมัครใจหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วเท่านั้น จำเลยจึงไม่ใช่ผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจนครบถ้วนตามที่กำหนดในแผนฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดที่จะถือว่าจำเลยพ้นจากความผิดที่ถูกกล่าวหาตามมาตรา 19 ตามบทบัญญัติมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 67, 102 และริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 67 จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่าตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง และมาตรา 67 ได้บัญญัติถึงยาเสพติดให้โทษที่ได้คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์แล้วและมีปริมาณสารบริสุทธิ์เกินกว่ากำหนดจึงจะเป็นความผิดแต่ตามสำนวนไม่ปรากฏว่าได้มีการคำนวณยาเสพติดให้โทษดังกล่าวเป็นสารบริสุทธิ์และมีปริมาณสารบริสุทธิ์เกินกว่ากำหนดหรือไม่ จึงลงโทษจำเลยไม่ได้นั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง ที่ใช้ในขณะจำเลยกระทำความผิดนั้นบัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดผลิตจำหน่าย นำเข้า ส่งออกหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1…” ส่วนมาตรา 67 บัญญัติว่า “ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่ถึงยี่สิบกรัมโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 15 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปีและปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท” เท่านั้น ตามบทมาตราดังกล่าวไม่ได้บัญญัติว่ายาเสพติดให้โทษต้องมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกินกว่าที่กำหนดไว้จึงจะเป็นความผิดดังจำเลยฎีกาแต่อย่างใด เมื่อจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 48 เม็ด น้ำหนัก 4.158 กรัม ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้ตามคำฟ้องโจทก์จะไม่ได้ระบุว่าเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้หนักเท่าใด แต่ก็เป็นกรณีที่จำเลยมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่ถึงยี่สิบกรัมแล้ว การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดตามฟ้อง ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้นจึงชอบแล้ว ส่วนที่จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายอีกข้อหนึ่งว่าจำเลยได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 แล้ว จำเลยจึงพ้นจากความผิดที่ถูกกล่าวหาตามมาตรา 33 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวนั้น เห็นว่า จำเลยถูกฟ้องเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2544 อันเป็นวันก่อนที่พระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 และบทบัญญัติในหมวด 3 มาตรา 19 ว่าด้วยการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแห่งกฎหมายดังกล่าวใช้บังคับและจำเลยมิได้เป็นเพียงผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติดและมีไว้ในครอบครองอันเป็นหลักเกณฑ์ที่จะถูกส่งตัวไปฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดทั้งตามหลักฐานของจำเลยก็ปรากฏว่าจำเลยเพียงแต่ไปเข้าค่ายฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิติแบบสมัครใจหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วเท่านั้น จำเลยจึงไม่ใช่ผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจนครบถ้วนตามที่กำหนดในแผนฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดที่จะถือว่าจำเลยพ้นจากความผิดที่ถูกกล่าวหาตามมาตรา 19 ตามบทบัญญัติมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาลงโทษจำเลยมานั้นจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 67 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และใช้ข้อความใหม่แทนโดยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม มาตรา 15 วรรคหนึ่ง ทั้งตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่คงใช้ข้อความทำนองเดียวกัน จึงต้องใช้กฎหมายเดิมบังคับแก่จำเลยในส่วนนี้ ส่วนกำหนดโทษนั้นตามมาตรา 67 กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างจากฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดและกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดเป็นคุณมากกว่าในส่วนที่เกี่ยวกับโทษซึ่งมีหลายสถานที่จะลงได้จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225″
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 67 (ที่แก้ไขใหม่) สำหรับโทษและนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7