คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9665/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ที่บัญญัติให้อำนาจแก่ผู้เสียหายในอันที่จะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนนั้น ต้องเป็นค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยโดยตรง แม้ได้ความว่าโจทก์ร่วมถูกยิงจนได้รับอันตรายสาหัสแต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เพียงร่วมกับพวกทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วม แล้วพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นและพิพากษายกฟ้องความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ดังนี้ จึงชอบที่จำเลยที่ 1 จึงพึงรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะในผลอันเกิดจากการที่ได้ทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมเท่านั้น หาจำต้องรับผิดในผลที่โจทก์ร่วมถูกยิงจนได้รับอันตรายสาหัสอันเกิดจากการกระทำของบุคคลอื่นด้วยไม่ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มิได้วินิจฉัยคดีส่วนแพ่งและยังคงบังคับให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 อันเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. 142 (5) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40 กรณีดังกล่าวเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 3 ที่มิได้ฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40 โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิจารณาพิพากษาใหม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 80, 83, 91, 288, 295, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบของกลางและเพิ่มโทษจำเลยที่ 2 ตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานายวัฒนะ ผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 295 และยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชดใช้ค่าสินไหมทดแทน รวมทั้งสิ้น 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ต่อปี นับแต่วันกระทำความผิดจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามไม่ยื่นคำให้การในคดีส่วนแพ่ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 295 ประกอบมาตรา 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุก 10 ปี ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่น จำคุก 2 ปี ฐานมีอาวุธปืน จำคุก 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืน จำคุก 6 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 12 ปี 12 เดือน จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ประกอบมาตรา 83 จำคุก 2 ปี ข้อหาอื่นให้ยก ให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทน 134,528 บาท แก่โจทก์ร่วม พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2550 อันเป็นวันทำละเมิดไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานพยายามฆ่า ฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นและฐานพาอาวุธปืนมีทะเบียน กับให้ริบของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ความผิดฐานมีอาวุธปืนและพาอาวุธปืน กับความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น สำหรับจำเลยที่ 1 ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้อง โจทก์ไม่ฎีกา จึงยุติตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 และคดีสำหรับจำเลยที่ 3 ยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ว่า จำเลยที่ 1 มิได้ร่วมกับพวกทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมและผู้เสียหายที่ 1 และขอให้รอการลงโทษให้แก่ จำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า เป็นฎีกาที่เมื่อพิจารณาฎีกาทั้งฉบับแล้ว กรณีไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงผลตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฎีกาของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นสาระอันควรแก่การพิจารณา ศาลฎีกาไม่รับคดีไว้พิจารณาพิพากษาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 219 วรรคสอง และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง
อนึ่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 ที่บัญญัติให้อำนาจแก่ผู้เสียหายในอันที่จะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนนั้น ต้องเป็นค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยโดยตรง แม้ได้ความว่าโจทก์ร่วมถูกยิงจนได้รับอันตรายสาหัส แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เพียงร่วมกับพวกทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วม แล้วพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นและพิพากษายกฟ้องความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ดังนี้ จึงชอบที่จำเลยที่ 1 จะพึงรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะในผลอันเกิดจากการที่ได้ทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมเท่านั้น หาจำต้องรับผิดในผลที่โจทก์ร่วมถูกยิงจนได้รับอันตรายสาหัสอันเกิดจากการกระทำของบุคคลอื่นด้วยไม่ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มิได้วินิจฉัยคดีส่วนแพ่งและยังคงบังคับให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 อันเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบประมวลฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40 และกรณีดังกล่าวเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 3 ที่มิได้ฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40 โดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิจารณาพิพากษาใหม่ ได้ความตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ว่า โจทก์ร่วมได้รับบาดเจ็บจากการถูกทำร้ายร่างกาย โดยมีบาดแผลถลอกตื้น ๆ บริเวณข้างใบหน้าข้างซ้าย 6 แผล ขนาด 1 ถึง 2 เซนติเมตร บาดแผลฉีกขาดขอบเรียบบริเวณต้นแขนขวาด้านหน้าขนาด 5 เซนติเมตร บาดแผลฉีกขาดขอบเรียบบริเวณสะบักขวาขนาด 8 เซนติเมตร และบาดแผลฉีกขาดขอบเรียบบริเวณแขนขวาท่อนล่างด้านหลังมือขนาด 10 เซนติเมตร บาดแผลดังกล่าวจึงมิได้มีผลถึงกับทำให้โจทก์ร่วมต้องนอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลแต่อย่างใด จึงเห็นสมควรกำหนดค่ารักษาพยาบาลบาดแผล 5,000 บาท ค่าใช้จ่ายอื่นระหว่างการรักษาและค่าทุกข์ทรมานจากบาดแผล 10,000 บาท แต่ค่าที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานและค่าเสียความสามารถประกอบการงานในเวลาอนาคต เห็นว่า ศาลได้กำหนดค่าสินไหมทดแทนข้างต้นตามความเสียหายที่แท้จริงแล้ว จึงไม่กำหนดค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ให้อีก จึงกำหนดให้ รวมค่าสินไหมทดแทน 15,000 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วม 15,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2550 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share