คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13630/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 253 วรรคหนึ่ง มิให้เรียกค่าธรรมเนียมจากโจทก์ร่วม เว้นแต่ในกรณีที่ศาลเห็นว่าโจทก์ร่วมเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนสูงเกินสมควร หรือดำเนินคดีโดยไม่สุจริต ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้โจทก์ร่วมชำระค่าธรรมเนียมทั้งหมดหรือแต่เฉพาะบางส่วนภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนดได้ แม้ ป.วิ.พ. มาตรา 161 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40 กำหนดให้คู่ความที่แพ้คดีเป็นผู้รับผิดในชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงก็ตาม แต่เมื่อคดีนี้โจทก์ร่วมไม่ได้เสียค่าธรรมเนียม และห้ามมิให้ศาลยุติธรรมเรียกค่าธรรมเนียมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 252 และมิใช่กรณีที่ศาลมีอำนาจสั่งให้ฝ่ายที่แพ้คดีใช้ค่าธรรมเนียมแทนอีกฝ่ายหนึ่งได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 255 จึงไม่อาจกำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความให้โจทก์ร่วม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 91, 288, 364, 365, 371 พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 4, 53, 82
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ แต่เมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว จำเลยที่ 1 ขอกลับคำให้การเป็นรับสารภาพในข้อหาร่วมกันบุกรุกเคหสถานของผู้เสียหายที่ 1 และทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 2 ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยที่ 2 ขอกลับคำให้การเป็นรับสารภาพในข้อหาประกอบกิจการร้านคาราโอเกะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายสงบ ผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหาพยายามฆ่า ส่วนข้อหาอื่นโจทก์ร่วมไม่เป็นผู้เสียหายจึงไม่อนุญาต และนายวินัย ผู้เสียหายที่ 1 กับโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 300,000 บาท และ 600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้อง และนับแต่วันที่ 5 มีนาคม 2553 ตามลำดับ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้องและโจทก์ร่วม
จำเลยที่ 1 ไม่ยื่นคำให้การในคดีส่วนแพ่ง
จำเลยที่ 2 ให้การในคดีส่วนแพ่ง โดยขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 365 (1) (2) (3) ประกอบมาตรา 364, 371 ประกอบมาตรา 83 และจำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 53 วรรคหนึ่ง, 82 อีกกระทงหนึ่ง การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันบุกรุกเคหสถานของผู้อื่นโดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยมีอาวุธ โดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป ในเวลากลางคืนและความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 13 ปี 4 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธมีดติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับคนละ 100 บาท และฐานจัดตั้งหรือประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต ปรับจำเลยที่ 2 จำนวน 100,000 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 13 ปี 4 เดือน และปรับ 100 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 13 ปี 4 เดือน และปรับ 100,100 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพบางข้อหา เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 1 กระทงละหนึ่งในสี่ (ที่ถูก จำเลยที่ 1 ทางนำสืบเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 1 กระทงละหนึ่งในสี่) และลดโทษให้จำเลยที่ 2 ในความผิดฐานจัดตั้งหรือประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 10 ปี และปรับ 75 บาท และจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 13 ปี 4 เดือน และปรับ 50,100 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และหากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กับให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายที่ 1 และโจทก์ร่วมคนละ 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2553 และวันที่ 5 มีนาคม 2553 ตามลำดับ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความแก่โจทก์ร่วม 10,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นส่วนที่ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความ 10,000 บาท แก่โจทก์ร่วม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 253 วรรคหนึ่ง มิให้เรียกค่าธรรมเนียมจากโจทก์ร่วม เว้นแต่ในกรณีที่ศาลเห็นว่าโจทก์ร่วมเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนสูงเกินสมควร หรือดำเนินคดีโดยไม่สุจริต ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้โจทก์ร่วมชำระค่าธรรมเนียมทั้งหมดหรือแต่เฉพาะบางส่วนภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนดก็ได้ แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40 กำหนดให้คู่ความฝ่ายที่แพ้คดีเป็นผู้รับผิดในชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงก็ตาม แต่เมื่อคดีนี้โจทก์ร่วมไม่ได้เสียค่าธรรมเนียม และห้ามมิให้ศาลยุติธรรมเรียกค่าธรรมเนียมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 252 และมิใช่กรณีที่ศาลมีอำนาจสั่งให้ฝ่ายที่แพ้คดีใช้ค่าธรรมเนียมแทนอีกฝ่ายหนึ่งได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 255 จึงไม่อาจกำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความให้โจทก์ร่วม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share