คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2109/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ป. รัษฎากร มาตรา 89 ทวิ ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะพิพาทบัญญัติให้ผู้ประกอบการค้าที่ไม่ชำระภาษีให้เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ และกำหนดไว้ด้วยว่าเงินเพิ่มตามมาตรานี้มิให้เกินกว่าจำนวนภาษีที่ต้องชำระ แสดงว่ากฎหมายได้บัญญัติทางแก้ สำหรับกรณีลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ค่าภาษีที่ค้างไว้โดยเฉพาะ แล้ว จึงนำ ป.พ.พ. มาตรา 224 ว่าด้วยดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดมาเรียกร้องเอากับลูกหนี้ซ้ำอีกหาได้ไม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินเพิ่มตามประมวลรัษฎากรมาตรา 89 ทวิ เป็นเงินเพิ่มสำหรับภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลจำนวน 11,980.88 บาทรวมเป็นเงินภาษีที่ค้างชำระซึ่งจำเลยต้องชำระทั้งสิ้น 164,138.38 บาท
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ชำระภาษีอากรสำหรับสินค้าไว้ถูกต้องแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระภาษีอากรจำนวน 164,138.38บาท ให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน140,176.62 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “คงมีปัญหาในชั้นนี้เฉพาะค่าดอกเบี้ยของเงินภาษีการค้า 10,891.72 บาท และภาษีบำรุงเทศบาล1,089.17 บาทนั้นโจทก์จะเรียกเอาดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จได้หรือไม่ เห็นว่าอุทธรณ์ของโจทก์เป็นเรื่องที่ขอดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดนั่นเองเมื่อประมวลรัษฎากร มาตรา 89 ทวิ ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น บัญญัติให้ผู้ประกอบการค้าที่ไม่ชำระภาษีให้เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ และกำหนดไว้ด้วยว่าเงินเพิ่มตามมาตรานี้ มิให้เกินกว่าจำนวนภาษีที่ต้องชำระ ก็แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า กฎหมายได้บัญญัติทางแก้สำหรับกรณีลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ค่าภาษีที่ค้างไว้โดยเฉพาะแล้ว และกฎหมายมุ่งประสงค์เพียงที่จะเรียกเอาเป็นเงินไม่เกินกว่าจำนวนภาษีที่ต้องชำระเท่านั้นจึงจะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ว่าด้วยดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดมาเรียกร้องเอากับลูกหนี้ซ้ำอีกหาได้ไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิจะได้รับดอกเบี้ยดังที่อุทธรณ์มา ส่วนเรื่องดอกเบี้ยของเงินจำนวน 140,176.62 บาท ไม่เป็นประเด็นในชั้นนี้ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share