แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การที่จำเลยหลอกลวงโจทก์ร่วมโดยกล่าวเท็จชักชวนโจทก์ร่วมให้นำเงินไปซื้อเบี้ยเลี้ยงทหารรายละ 2,000 บาท ในระยะเวลา 1 เดือน จะได้กำไรรายละ 600 บาท แบ่งให้เจ้าหน้าที่การเงินของทหารรายละ 50 บาท เหลือกำไรซึ่งจะทำให้โจทก์ได้ผลประโยชน์ตอบแทนรายละ 550 บาท ไม่ใช่กิจการที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้าม แต่เป็นเพียงข้ออ้างของจำเลยเพื่อจูงใจให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อและยินยอมมอบเงินให้จำเลย โจทก์ร่วมได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลย โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 91 ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 458,750 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย และนับโทษจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีดังกล่าว
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณา นางสุดสม ศรกล้า ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษจำคุกกระทงละ 6 เดือน รวม 6 กระทงเป็นจำคุก 36 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 458,750 บาท แก่โจทก์ร่วมนับโทษจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1656/2544 ของศาลชั้นต้น คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายหรือไม่ซึ่งการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนเป็นยุติว่า เมื่อประมาณต้นปี 2540 จำเลยได้หลอกลวงโจทก์ร่วมโดยกล่าวเท็จชักชวนโจทก์ร่วมไปซื้อเบี้ยเลี้ยงทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ รายละ 2,000 บาท ในระยะเวลา 1 เดือน จะได้กำไรรายละ 600 บาท แบ่งให้เจ้าหน้าที่การเงินของทหารรายละ 50 บาท เหลือกำไร 550 บาท ซึ่งความจริงมิได้มีการซื้อขายเบี้ยเลี้ยงทหารดังกล่าวแต่อย่างใด โดยจำเลยบอกว่าพี่สาวของจำเลยและเพื่อนของจำเลยรวมทั้งจำเลยก็ซื้อเบี้ยเลี้ยงทหารและได้รับผลประโยชน์ตอบแทนโจทก์ร่วมหลงเชื่อจึงได้ตกลงโดยมอบเงินให้จำเลยเพื่อไปซื้อเบี้ยเลี้ยงดังกล่าวหลายครั้งครั้งที่หนึ่งวันที่ 11 มีนาคม 2540 โจทก์ร่วมซื้อเบี้ยเลี้ยงทหารจำนวน 35 ราย รายละ 2,000 บาท เป็นเงิน 70,000 บาท และได้รับผลประโยชน์วันที่ 10 เมษายน 2540 เป็นเงิน 19,250 บาท ครั้งที่สองวันที่ 11 เมษายน 2540 ซื้อเพิ่มอีก 47 ราย เป็นเงิน 94,000 บาท ได้รับผลประโยชน์วันที่ 9 พฤษภาคม 2540 เป็นเงิน 45,100 บาท ครั้งที่สามวันที่ 11 พฤษภาคม 2540 ซื้อเพิ่มอีก 24 ราย เป็นเงิน 48,000 บาท ได้รับผลประโยชน์วันที่ 10 มิถุนายน 2540 เป็นเงิน 58,300 บาท ครั้งที่สี่วันที่ 11 มิถุนายน 2540 ซื้อเพิ่มอีก 30 รายเป็นเงิน 60,000 บาท ได้รับผลประโยชน์วันที่ 10 กรกฎาคม 2540 เป็นเงิน 74,800 บาท ครั้งที่ห้าวันที่ 15 กรกฎาคม 2540 ซื้อเบี้ยเลี้ยงทหารชายแดนจำนวน 230 ราย เป็นเงิน 460,000 บาท ครั้งที่หกวันที่ 7 สิงหาคม 2540 ซื้อเบี้ยเลี้ยงทหารชุดเก่าเพิ่มอีกเป็นเงิน 64,000 บาท โดยสั่งจ่ายเช็คจำนวน 60,000 บาท ส่วนอีก 4,000 บาท หักเป็นเงินที่จำเลยยืม ต่อมาวันที่ 11 สิงหาคม 2540 โจทก์ร่วมได้รับผลประโยชน์จากการซื้อเบี้ยเลี้ยงทหารชุดเก่าจำนวน 136 ราย เป็นเงิน 74,800 บาท ส่วนเบี้ยเลี้ยงทหารชายแดนได้รับผลประโยชน์เป็นเงิน 130,000 บาท แบ่งให้จำเลย 65,000 บาท ซึ่งในวันที่ 11 สิงหาคม 2540 โจทก์ร่วมได้รับผลประโยชน์จากจำเลยอีก 139,800 บาท หลังจากนั้นจำเลยต้องจ่ายเงินซึ่งเป็นผลประโยชน์ที่ถึงกำหนดให้โจทก์ร่วม แต่จำเลยไม่ได้จ่ายให้โจทก์ร่วมจึงไม่ไว้ใจจำเลยและให้จำเลยคืนเงินค่าซื้อเบี้ยเลี้ยงทหารชายแดนจำนวน 230 ราย เป็นเงิน 460,000 บาท ให้โจทก์ร่วม จำเลยตกลงจะคืนเงินดังกล่าวให้ในวันที่ 25 กันยายน 2540 แต่เมื่อถึงกำหนดจำเลยกลับหลบหนี เห็นว่า การที่จำเลยหลอกลวงโจทก์ร่วมโดยกล่าวเท็จว่าจะนำเงินไปซื้อเบี้ยเลี้ยงทหารรายละ 2,000 บาท และจะได้ผลประโยชน์ตอบแทนรายละ 550 บาท เป็นเพียงข้ออ้างของจำเลยเพื่อจูงใจให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อและยินยอมมอบเงินให้จำเลย โจทก์ร่วมได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลย โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายที่จำเลยฎีกาว่า เบี้ยเลี้ยงทหารไม่สามารถซื้อขายได้ การซื้อเบี้ยเลี้ยงหทารจึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามโดยอ้างคำเบิกความของร้อยตรีมาโนช จิตต์ชลธี ที่ว่าเท่าที่พยานรับราชการมาไม่มีการขายเงินเดือนหรือเบี้ยเลี้ยงล่วงหน้าและไม่เคยได้ยินซึ่งก็ไม่ปรากฏว่ามีข้อห้ามการซื้อขายเบี้ยเลี้ยงทหารแต่อย่างใด การซื้อขายเบี้ยเลี้ยงทหารจึงไม่มีวัตถุประสงค์ที่ต้องห้าม ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน