แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
เมื่อจำเลยที่ 1 ถูกจับ เจ้าพนักงานตำรวจย่อมนำจำเลยที่ 1 ไปค้นหายาเสพติดให้โทษที่บ้านจำเลยที่ 1 อยู่แล้ว การที่จำเลยที่ 1 ให้ข้อมูลและพาเจ้าพนักงานตำรวจไปยึดเมทแอมเฟตามีนที่บ้านจำเลยที่ 1 ดังกล่าว ไม่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ จึงไม่มีเหตุที่จะลงโทษจำเลยที่ 1 สถานเบาตามบทบัญญัติ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 100/2
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,91 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง ส่วนรถจักรยานยนต์และโทรศัพท์มือถือของกลางโจทก์จะยื่นคำร้องขอริบตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดต่อไป
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, วรรคสอง, 66 วรรคหนึ่ง (ที่ถูก จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, วรรคสอง, 66 วรรคหนึ่ง, วรรคสอง จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, วรรคสอง, 66 วรรคหนึ่ง) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีน (จำนวน 8,000 เม็ด) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกตลอดชีวิต ความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน (จำนวน 4,000 เม็ด) จำคุก 36 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งมีโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน (จำนวน 4,000 เม็ด) ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 36 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพและจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่ง ลดโทษให้จำเลยที่ 2 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78, 53 จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 25 ปี และ 18 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 43 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 24 ปี ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า พยานหลักฐานโจทก์ยังมีข้อสงสัยตามสมควรว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง เห็นว่า จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพและโจทก์นำสืบพยานหลักฐานได้สมฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาเพียงอย่างเดียว มิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาดังกล่าวการที่จำเลยที่ 1 เพิ่งหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอ้างในชั้นฎีกาจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิด 2 กรรม นั้น สมควรได้รับการวินิจฉัยลงโทษเป็น 2 กระทงความผิดหรือไม่ เพราะส่งผลให้จำเลยที่ 1 ได้รับโทษสูงเกินไป เห็นว่า ฎีกาของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวไม่ได้โต้แย้งคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่าไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายประการใด จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คดีคงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1 ว่า สมควรลงโทษจำเลยที่ 1 สถานเบาหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาอ้างเหตุว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ถูกจับแล้ว จำเลยที่ 1 ได้แจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่าจำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนอีก 4,000 เม็ด อยู่ที่บ้านและพาเจ้าพนักงานตำรวจไปยึดเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวที่บ้านจำเลยที่ 1 อันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามยาเสพติดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 100/1 (ที่ถูก มาตรา 100/2) สมควรลงโทษจำเลยที่ 1 สถานเบา น้อยกว่าโทษขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดนั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ถูกจับ เจ้าพนักงานตำรวจย่อมนำจำเลยที่ 1 ไปค้นหายาเสพติดให้โทษที่บ้านจำเลยที่ 1 อยู่แล้ว การที่จำเลยที่ 1 ให้ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ จึงไม่มีเหตุตามบทบัญญัติดังกล่าวที่จะลงโทษจำเลยที่ 1 สถานเบา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง แม้ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาจะได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ความใหม่แทน แต่คดีนี้เมทแอมเฟตามีนของกลางที่จำเลยที่ 1 มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกิน 20 กรัม ขึ้นไป กฎหมายที่แก้ไขใหม่ตามมาตรา 66 วรรคสาม ไม่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยที่ 1 ไม่เป็นกรณีที่จะต้องแก้ไข ส่วนความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 4,000 เม็ด โดยไม่ปรากฏว่ามีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้เท่าใดกรณีต้องด้วยบทกำหนดโทษตามมาตรา 66 วรรคหนึ่งที่แก้ไขใหม่ ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงสิบห้าปี หรือปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสามแสนบาทหรือทั้งจำปรับแตกต่างจากมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ตามกฎหมายเดิมที่มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงห้าแสนบาท โทษจำคุกตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่บังคับแก่จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องรวมถึงกำหนดโทษเสียใหม่ให้เหมาะสมสอดคล้องกับกฎหมายที่แก้ไขใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ซึ่งการแก้ไขดังกล่าวให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ที่ไม่ได้ฎีกาด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) จำคุกคนละ 15 ปี ลดโทษให้จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 7 ปี 6 เดือน เมื่อรวมกับโทษข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเป็นจำคุก 32 ปี 6 เดือน ลดโทษให้จำเลยที่ 2 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้วคงจำคุก 10 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์