คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3675/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พินัยกรรมที่ทำขึ้นขัดต่อบทบัญญัติกฎหมายที่จะทำให้พินัยกรรมเป็นโมฆะนั้น ป.พ.พ. มาตรา 1705 บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วว่ามีกรณีใดบ้างที่เป็นโมฆะ แต่มิได้บัญญัติให้พินัยกรรมที่ไม่ลงลายมือชื่อผู้เขียน (หรือผู้พิมพ์) ในกรณีที่ผู้เขียนมิใช่ผู้ทำพินัยกรรม กล่าวคือทำไม่ถูกต้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1671 ตกเป็นโมฆะ ฉะนั้นเมื่อขณะทำพินัยกรรมในคดีนี้มีพยานในพินัยกรรมทั้งสี่คนอยู่พร้อมกันและผู้ตายลงลายมือชื่อในพินัยกรรมต่อหน้าพยาน 2 คน พินัยกรรมดังกล่าวจึงถูกต้องตามแบบที่ ป.พ.พ. มาตรา 1656 กำหนดไว้ และมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นทายาทโดยเป็นผู้รับพินัยกรรมของนางบัวศรี จันทร์เจริญ ซึ่งถึงแก่ความตายด้วยโรคชราที่บ้านเลขที่ 31 ถนนยุทธภัณฑ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี โดยไม่ได้แต่งตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดกไว้ ขณะมีชีวิตมีที่ดินหลายแปลงและทรัพย์สินอื่นหลายรายการ ผู้ร้องได้ติดต่อกับเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อขอโอนที่ดินมาแบ่งปันระหว่างทายาทแต่เจ้าพนักงานที่ดินไม่จัดการให้ ผู้ร้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมายที่จะเป็นผู้จัดการมรดก ขอให้ศาลแต่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนางบัวศรี จันทร์เจริญ
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านขอให้มีคำสั่งเพิกถอนพินัยกรรม และยกคำร้องขอของผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนางอรทัย แก้วปัญญาหรือบุญญาจันทร์ ผู้ร้อง เป็นผู้จัดการมรดกของนางบัวศรี จันทร์เจริญ ผู้ตาย ให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า นางบัวศรี จันทร์เจริญ ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2541 ก่อนตายนางบัวศรีได้ทำพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ร.24 ไว้ มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านว่าพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.24 ไม่ปรากฏผู้เขียนหรือผู้พิมพ์และไม่มีลายมือชื่อผู้เขียนหรือผู้พิมพ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1671 พินัยกรรมดังกล่าวสมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า พินัยกรรมที่ทำขึ้นขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายที่จะทำให้พินัยกรรมเป็นโมฆะนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1705 บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วว่ามีกรณีใดบ้างที่เป็นโมฆะ แต่ไม่ได้บัญญัติให้พินัยกรรมที่ทำไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1671 เป็นโมฆะ พินัยกรรมดังกล่าวจึงไม่เป็นโมฆะ ประกอบกับคดีนี้ผู้ร้องได้นำนายพีระพงษ์ วรรณพินิจ และนางสาวประไพ อินทรีย์ มาเบิกความยืนยันว่า ขณะทำพินัยกรรมพยานในพินัยกรรมทั้งสี่คนอยู่พร้อมกันและผู้ตายลงลายมือชื่อในพินัยกรรมต่อหน้านายพีระพงษ์และนางสาวประไพ พินัยกรรมดังกล่าวจึงถูกต้องตามแบบที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656 กำหนดไว้ และมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของผู้คัดค้านข้ออื่นอีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share