แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนนั้น ผู้กระทำความผิดได้คิดไตร่ตรองทบทวนแล้วจึงตกลงใจกระทำความผิด หาใช่เป็นการกระทำในลักษณะปัจจุบันทันด่วนไม่ พฤติการณ์ที่จำเลยทั้งสองตะโกนให้ของลับแล้วเดินออกจากร้านอาหารไปโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้เสียหายมาก่อน และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าหลังจากที่จำเลยทั้งสองได้ออกจากร้านอาหารไปแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ตระเตรียมการเพื่อฆ่าผู้เสียหาย การที่จำเลยที่ 1 กลับมาที่ร้านอาหารแล้วใช้อาวุธปืนยิงไปที่ผู้เสียหายในเวลาต่อเนื่องกัน จึงไม่พอที่จะให้รับฟังว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาฆ่าผู้เสียหายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
ความผิดข้อหาพาอาวุธปืนตาม ปอ. มาตรา 371 ซึ่งมีระวางโทษปรับไม่เกิน 100 บาท นั้น มีอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 95 (5) คดีนี้จำเลยที่ 1 กระทำความผิดวันที่ 15 มิถุนายน 2537 นับถึงวันฟ้องคือวันที่ 4 พฤศจิกายน 2542 คดีของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ในความผิดข้อหาดังกล่าว จึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) ชอบที่ศาลจะต้องยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดข้อหาดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 80, 83, 91, 288, 289, 371 ริบของกลาง
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371, 289 (4) ประกอบมาตรา 80 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80, 86 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน ฐานมีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานพยายามฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จำคุกตลอดชีวิต จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุกฐานพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต 3 เดือน ฐานมีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต 6 เดือน ฐานพยายามฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน 25 ปี รวมจำคุก 25 ปี 9 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 ขณะกระทำความผิดมีอายุ 18 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ให้จำคุก 16 ปี 8 เดือน จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสามแล้ว คงจำคุก 11 ปี 1 เดือน 10 วัน ริบของกลาง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 และ 86 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 12 ปี ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 ปี เมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานอื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุก 6 ปี 9 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 ลดมาตราส่วนโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 กึ่งหนึ่งแล้ว จำคุก 4 ปี ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสามแล้ว คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนสั้น ขนาด .22 ยิงนายดิลก กิจแสวง ผู้เสียหายโดยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายแต่กระสุนปืนไม่ถูกผู้เสียหาย ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนในการที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดดังกล่าว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 พยายามฆ่าผู้เสียหายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่ และจำเลยที่ 2 สนับสนุนการกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่ โจทก์มีนายดิลก กิจแสวง ผู้เสียหายเป็นพยานเบิกความว่า หลังจากที่จำเลยทั้งสองขับรถจักรยานยนต์ออกไปจากร้านอาหาร ผู้เสียหายได้ขับรถกลับบ้านและขับกลับมาที่ร้านอาหาร สักครู่จำเลยทั้งสองขับรถจักรยานยนต์มาที่ร้านอาหาร แล้วจำเลยที่ 1 เล็งอาวุธปืนมาที่ผู้เสียหายและยิงปืนใส่ผู้เสียหาย 1 นัด ส่วนนางสาวรุ่งฤดี ทิพมณฑา พยานโจทก์อีกปากหนึ่งเบิกความว่าหลังจากที่จำเลยทั้งสองออกจากร้านอาหารไปประมาณ 10 นาที ก็กลับมา แล้วจำเลยที่ 1 ยกปืนเล็งไปที่ผู้เสียหายและยิงผู้เสียหาย 1 นัด ส่วนนายสัญญา กิจแสวง พยานโจทก์อีกปากหนึ่งเบิกความว่า หลังจากที่จำเลยทั้งสองออกจากร้านอาหารไปได้ประมาณ 20 นาที จำเลยทั้งสองได้กลับมาที่ร้านอาหารอีก จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย 1 นัด เห็นว่า ระยะเวลาตั้งแต่จำเลยทั้งสองออกจากร้านอาหารไปจนถึงเวลาที่จำเลยทั้งสองกลับมาที่ร้านอาหารอีกครั้งหนึ่งตามที่ผู้เสียหาย นางสาวรุ่งฤดี และนายสัญญาเบิกความมามีความแตกต่างกันจึงไม่อาจรับฟังเป็นยุติได้ว่าเป็นระยะเวลานานมากน้อยเพียงใด แต่ก็ฟังได้ว่า เป็นระยะเวลาที่ต่อเนื่องกันนั่นเอง ศาลฎีกาเห็นว่า การฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนนั้นผู้กระทำความผิดได้คิดไตร่ตรองทบทวนแล้วจึงตกลงใจกระทำความผิด หาใช่เป็นการกระทำในลักษณะปัจจุบันทันด่วนไม่ พฤติการณ์ที่จำเลยทั้งสองตะโกนให้ของลับแล้วเดินออกจากร้านอาหารไปโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้เสียหายมาก่อน และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าหลังจากที่จำเลยทั้งสองได้ออกจากร้านอาหารไปแล้วจำเลยที่ 1 ได้ตระเตรียมการเพื่อฆ่าผู้เสียหายมาก่อน การที่จำเลยที่ 1 กลับมาที่ร้านอาหารแล้วใช้อาวุธปืนยิงไปที่ผู้เสียหายในเวลาต่อเนื่องกันดังกล่าว จึงไม่พอที่จะให้รับฟังว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาฆ่าผู้เสียหายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จำเลยที่ 1 คงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 เท่านั้น ไม่มีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80 ส่วนจำเลยที่ 2 คงมีความผิดฐานสนับสนุนจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 และ 86 เท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง กรณีจำเลยที่ 1 สำหรับความผิดข้อหาพาอาวุธปืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ซึ่งมีระวางโทษปรับไม่เกิน 100 บาท นั้น มีอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 95 (5) คดีนี้จำเลยที่ 1 กระทำความผิดวันที่ 15 มิถุนายน 2537 นับถึงวันฟ้องคือวันที่ 4 พฤศจิกายน 2542 คดีของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ในความผิดข้อหาดังกล่าว จึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) ชอบที่ศาลจะต้องยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดข้อหาดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6