คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1562/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 15 ที่บัญญัติว่า “ให้นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างชายและหญิงโดยเท่าเทียมกันในการจ้างงาน เว้นแต่ลักษณะหรือสภาพของงานไม่อาจปฏิบัติเช่นนั้นได้” เป็นการกำหนดหน้าที่ของนายจ้างที่จะต้องปฏิบัติต่อลูกจ้างให้เท่าเทียมกันในการจ้างงาน ไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อลูกจ้างเพราะเหตุที่ลูกจ้างมีเพศแตกต่างกันเท่านั้น มีข้อยกเว้นให้ปฏิบัติแตกต่างกันได้ก็ต่อเมื่อลักษณะหรือสภาพของงานไม่อาจปฏิบัติให้เท่าเทียมกันได้ ปรากฏว่าคำสั่งของผู้ร้องที่ให้ลูกจ้างเกษียณเมื่ออายุแตกต่างกัน โดยพนักงานคนงานชายและหญิงเกษียณอายุ 50 ปี บริบูรณ์ พนักงานโฟร์แมนชายและหญิงเกษียณอายุ 55 ปี บริบูรณ์ และพนักงานหัวหน้าโฟร์แมนชายและหญิงเกษียณอายุ 57 ปี เป็นการกำหนดโดยอาศัยตำแหน่งงานของลูกจ้างว่าลูกจ้างตำแหน่งใดจะเกษียณอายุเมื่อใด หาใช่เอาข้อแตกต่างในเรื่องเพศมาเป็นข้อกำหนดไม่ ลูกจ้างในตำแหน่งเดียวกันไม่ว่าชายหรือหญิงยังต้องเกษียณอายุโดยอาศัยหลักเกณฑ์เดียวกัน คำสั่งของผู้ร้องดังกล่าวจึงไม่ขัดกับ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 15 ซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 30 วรรคสอง และมิได้ตกเป็นโมฆะ

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้อง ขอให้มีคำสั่งอนุญาตให้เลิกจ้างผู้คัดค้านเนื่องจากการเกษียณอายุ
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า วันที่ 11 มิถุนายน 2518 ผู้ร้องรับผู้คัดค้านเข้าเป็นพนักงาน ทำหน้าที่ช่างซ่อมบำรุงเครื่องปั่นด้าย เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2544 ผู้คัดค้านได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการลูกจ้าง ต่อมามีการยื่นข้อเรียกร้องจากสหภาพแรงงานต่อผู้ร้องเกี่ยวกับการครบเกษียณอายุการทำงานของพนักงานแต่ละประเภท ซึ่งในเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบันยังมิได้มีการเปลี่ยนแปลงการเกษียณอายุของคนงาน ต่อมาเมื่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มีผลใช้บังคับ มาตรา 15 บัญญัติว่า ให้นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างชายและหญิงโดยเท่าเทียมกันในการจ้างงาน เว้นแต่ลักษณะหรือสภาพของงานไม่อาจปฏิบัติเช่นนั้นได้ และมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 30 การที่ผู้ร้องขออนุญาตศาลเลิกจ้างผู้คัดค้านตามเงื่อนไขเกษียณอายุตามปกติเช่นที่ผู้ร้องปฏิบัติต่อลูกจ้างทั่วไป เป็นการยกเลิกสัญญาจ้างโดยให้สิทธิลูกจ้างชายและหญิงไม่เท่าเทียมกัน ผู้คัดค้านมีอายุ 50 ปีบริบูรณ์ หากผู้ร้องไม่มีการเลือกปฏิบัติการเกษียณอายุตามลักษณะตำแหน่งงาน ผู้คัดค้านยังสามารถทำงานต่อไปได้อีก 10 ปี หากนำการเกษียณอายุของหัวหน้าแผนกขึ้นไปทั้งชายหญิง ซึ่งเกษียณอายุที่ 60 ปีบริบูรณ์ มาเป็นมาตรฐานการเกษียณอายุ ผู้คัดค้านต้องเกษียณอายุเมื่อ 60 ปีบริบูรณ์ ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องเรื่องการเกษียณอายุเป็นโมฆะ ผู้ร้องเลือกปฏิบัติการเกษียณอายุจึงเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ขอให้ยกคำร้อง
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านมีว่า คำสั่งของผู้ร้องที่ 16/2546, 17/2546 และ 18/2546 ที่ได้กำหนดการเกษียณอายุของลูกจ้างไว้ไม่เท่าเทียมกัน แต่ขึ้นอยู่กับระดับตำแหน่งงานของลูกจ้างโดยกำหนดให้พนักงานคนงานชายและหญิงเกษียณอายุ 50 ปีบริบูรณ์ พนักงานโฟร์แมนชายและหญิงเกษียณอายุ 55 ปีบริบูรณ์ และพนักงานหัวหน้าโฟร์แมนชายและหญิงเกษียณอายุ 57 ปีบริบูรณ์ ขัดกับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 15 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 30 หรือไม่ โดยผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า ระดับตำแหน่งงานเป็นเรื่องเกี่ยวกับอำนาจในการจัดการและการบังคับบัญชา แต่ลักษณะหรือสภาพของงานไม่แตกต่างกัน กรณีจึงไม่เข้าข้อยกเว้นที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 15 บัญญัติไว้ คำสั่งของผู้ร้องที่ 16/2546, 17/2546 และ 18/2546 ที่ได้กำหนดการเกษียณอายุของลูกจ้างไว้ไม่เท่ากัน จึงตกเป็นโมฆะ ไม่สามารถบังคับได้ ผู้ร้องต้องเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากเหตุเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 60 ปี เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 15 บัญญัติว่า “ให้นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างชายและหญิงโดยเท่าเทียมกันในการจ้างงาน เว้นแต่ลักษณะหรือสภาพของงานไม่อาจปฏิบัติเช่นนั้นได้” ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 30 วรรคสอง ที่ว่า “ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน” บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 15 ดังกล่าวที่ให้นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างชายและหญิงโดยเท่าเทียมกันในการจ้างงานนั้น เห็นได้ชัดว่า เป็นการกำหนดหน้าที่ของนายจ้างที่จะต้องปฏิบัติต่อลูกจ้างให้เท่าเทียมกัน ไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อลูกจ้างเพราะเหตุที่ลูกจ้างมีเพศแตกต่างกันเท่านั้น มีข้อยกเว้นให้ปฏิบัติแตกต่างกันได้ก็ต่อเมื่อลักษณะหรือสภาพของงานไม่อาจปฏิบัติให้เท่าเทียมกันได้ ในกรณีนี้ปรากฏว่าคำสั่งของผู้ร้องที่ 16/2546, 17/2546 และ 18/2546 ที่ให้ลูกจ้างเกษียณเมื่ออายุแตกต่างกัน เป็นการกำหนดโดยอาศัยตำแหน่งงานของลูกจ้างว่าลูกจ้างตำแหน่งใดจะเกษียณอายุเมื่อใด หาใช่เอาข้อแตกต่างในเรื่องเพศมาเป็นข้อกำหนดไม่ ลูกจ้างในตำแหน่งเดียวกันไม่ว่าชายหรือหญิงยังต้องเกษียณอายุโดยอาศัยหลักเกณฑ์เดียวกัน คำสั่งของผู้ร้องดังกล่าวจึงมิได้ขัดกับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 15 ซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 30 วรรคสอง และมิได้ตกเป็นโมฆะดังที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ ผู้คัดค้านเป็นพนักงานระดับพนักงานคนงานครบ 50 ปี บริบูรณ์ เข้าหลักเกณฑ์การเกษียณอายุการทำงานของพนักงานคนงานตามคำสั่งของผู้ร้องที่ 16/2546 ซึ่งเป็นคำสั่งที่ใช้บังคับในระหว่างพิจารณาและกำหนดการเกษียณอายุตามคำสั่งนี้ก็มิได้น้อยกว่าที่ได้กำหนดไว้เดิมจึงมีเหตุสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้าน ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52 ได้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านชอบแล้ว อุทธรณ์ของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share