คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 706/2507

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีอาญาที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์ข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับอุทธรณ์ชอบแล้ว ให้ยกอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์เสียนั้น หากโจทก์ฎีกาคำสั่งต่อมากล่าวเพียงคลุมๆว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายโดยมิได้ระบุข้อกฎหมายที่โจทก์ยกขึ้นอ้างอิงมาในฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225 ประกอบด้วยมาตรา 193 วรรคสองแล้ว ก็เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2506 เวลากลางวันก่อนเที่ยง ขณะโจทก์ไปติดต่อราชการกับจำเลยผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ณ สถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง จำเลยได้บังอาจหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ต่อหน้าสาธารณชนและบุคคลที่ 3 โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังจากบุคคลอื่น ๆ โดยจำเลยกล่าวว่า”ลื้อเลวมาก พูดจาโกหกพกลมไม่แน่นอน เที่ยวโกหกใครต่อใครให้ทั่วไปหมด ฯลฯ” เหตุเกิดบนสถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลแขวงพระนครเหนือพิจารณาแล้ว ไม่เชื่อว่าจำเลยกระทำผิดดังฟ้อง พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลแขวงพระนครเหนือเห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นปัญหาข้อเท็จจริงทั้งนั้น ซึ่งต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง มาตรา 22 จึงสั่งไม่รับอุทธรณ์

โจทก์อุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นชอบแล้วให้ยกอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์เสีย

โจทก์ฎีกาคำสั่งศาลอุทธรณ์ต่อมาว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย ขอให้ศาลฎีกาสั่งให้รับอุทธรณ์ของโจทก์ต่อไป

ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาคดีแล้ว เห็นว่า ฎีกาโจทก์กล่าวมาแต่เพียงคลุม ๆ ว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายกล่าวคือ อุทธรณ์โจทก์บางข้อบางประเด็นเจือสมปัญหาข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง อุทธรณ์บางข้อเช่นอุทธรณ์ข้อ 3 เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย โดยมิได้ระบุข้อกฎหมายที่โจทก์ยกขึ้นอ้างอิงมาในฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225 ประกอบด้วยมาตรา 193 วรรคสอง จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

พิพากษาให้ยกฎีกาของโจทก์เสีย

Share