คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2036/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยเสนอราคาค่าจ้างเหมาดูแลรักษาความปลอดภัยตัวทรัพย์สินบริเวณอาคารที่พักข้าราชการกระทรวงยุติธรรม และโจทก์มีหนังสือถึงจำเลยตอบตกลงสนองรับราคาตามรายละเอียด และเงื่อนไขการจ้างที่จำเลยเสนอและให้จำเลยไปลงนามใน สัญญากับโจทก์พร้อมทั้งให้หาหลักประกันเป็นหนังสือมา ค้ำประกันด้วย แสดงว่าโจทก์และจำเลยมีเจตนาว่าสัญญา อันมุ่งจะทำต่อกันนั้นต้องทำเป็นหนังสือ แต่ก่อนที่ทั้งสองฝ่าย จะทำสัญญาเป็นหนังสือ มีเหตุการณ์จำเป็นโจทก์จำเลย จึงตกลงให้จำเลยส่งพนักงานของจำเลยเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ ดูแลรักษาความปลอดภัยในอาคารที่พักข้าราชการกระทรวงยุติธรรม และจำเลยได้ส่งพนักงานของจำเลยเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ ในอาคารดังกล่าวตามข้อตกลงแล้ว ดังนี้ เท่ากับว่าโจทก์ และจำเลยได้ตกลงกันใหม่โดยผ่อนผันไม่ต้องทำสัญญาเป็น หนังสือต่อกันเป็นการชั่วคราว และสัญญาดังกล่าวไม่มีกฎหมาย บังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือมิฉะนั้นเป็นโมฆะจึงถือได้ว่า โจทก์และจำเลยมีสัญญาต่อกันแล้ว โดยมีข้อตกลงตามคำเสนอ และเงื่อนไขการจ้างเดิม ดังนั้น เมื่อพนักงานของจำเลย ไม่สามารถรักษาความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินภายในอาคารที่พัก ได้ตามสัญญา จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามเงื่อนไขการจ้าง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ว่าจ้างจำเลยดูแลรักษาความปลอดภัยรวมทั้งทรัพย์สินของโจทก์ ในบริเวณอาคารที่พักข้าราชการกระทรวงยุติธรรม จังหวัดสมุทรปราการ ต่อมาอุปกรณ์ไฟฟ้าและแผงควบคุมไฟฟ้าที่ติดตั้งไว้ภายในอาคารดังกล่าวสูญหายไปขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 194,388 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยยังมิได้เข้าเป็นคู่สัญญากับโจทก์จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น โจทก์เสียหายไม่เกิน 10,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 186,240 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 กันยายน 2538จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง(ฟ้องวันที่ 30 เมษายน 2539) ต้องไม่เกิน 8,148 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีนี้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงมาว่า เมื่อวันที่ 4กรกฎาคม 2538 จำเลยเสนอค่าจ้างในการดูแลรักษาความปลอดภัยภายในบริเวณอาคารที่พักข้าราชการกระทรวงยุติธรรมที่จังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดฉะเชิงเทราต่อโจทก์ ต่อมาวันที่ 16เดือนเดียวกันจำเลยส่งพนักงานเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในอาคารดังกล่าวและคืนนั้นเองมีคนร้ายจำนวนหนึ่งเข้ามาทำลายทรัพย์สินและเอาทรัพย์สินในอาคารนั้นไปจำนวนหนึ่ง หลังเกิดเหตุจำเลยได้รับหนังสือจากโจทก์ให้ไปลงนามในสัญญากับโจทก์ภายใน 7 วันแต่จำเลยไม่ยอมลงนามด้วย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าสัญญาจ้างเหมาดูแลรักษาความปลอดภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยมีผลใช้บังคับหรือไม่ เห็นว่า จำเลยได้เสนอราคาค่าจ้างเหมาดูแลรักษาความปลอดภัยตัวทรัพย์สินบริเวณอาคารที่พักข้าราชการกระทรวงยุติธรรมที่จังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 2 หลังโดยใช้พนักงานดูแลรักษาความปลอดภัยจำนวน 4 คน เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2538 ถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2538 ค่าจ้างเหมารวม 78,000 บาท โดยมีรายละเอียดตามแผนผังและเงื่อนไขการจ้างท้ายคำเสนอเอกสารหมาย จ.5 โจทก์มีหนังสือลงวันที่ 14กรกฎาคม 2538 ถึงจำเลยตอบตกลงสนองรับราคาตามรายละเอียดที่จำเลยเสนอ และให้จำเลยไปลงนามในสัญญากับโจทก์ภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือฉบับนี้ พร้อมทั้งให้หาหลักประกันเป็นหนังสือค้ำประกันของธนาคารหรือเงินสดหรือแคชเชียร์เช็ควงเงิน 5,850 บาท และอากรแสตมป์จำนวน 122 บาท มาด้วยตามเอกสารหมาย จ.4 ข้อความตามคำสนองรับของโจทก์ข้างต้นและตามทางปฏิบัติของโจทก์ได้ความจากนายมนัส เมนปรีดาผู้รับมอบอำนาจโจทก์และนายสิริวัฒน์ ชื่นจิต ผู้ควบคุมงานก่อสร้างและผู้จัดการสนามอาคารที่พักข้าราชการกระทรวงยุติธรรมว่าการทำสัญญาระหว่างโจทก์กับบุคคลอื่นจะต้องทำเป็นหนังสือด้วยแสดงว่าโจทก์และจำเลยมีเจตนาว่าสัญญาอันมุ่งจะทำต่อกันนั้นต้องทำเป็นหนังสือ แต่ก่อนที่ทั้งสองจะทำสัญญาเป็นหนังสือดังเจตนาที่มีอยู่เดิม กลับมีเหตุการณ์จำเป็นเร่งด่วนตามคำเบิกความของนายมนัส นายศิริวัฒน์ และนายวีระยุทธ ทองสุขกรรมการผู้จัดการจำเลยว่า พนักงานดูแลรักษาความปลอดภัยชุดเดิมจะถอนตัวออกไปในวันที่ 16 กรกฎาคม 2538 โจทก์จำเลยจึงตกลงกันให้จำเลยส่งพนักงานของจำเลยเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยในอาคารที่พักข้าราชการกระทรวงยุติธรรมที่จังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดฉะเชิงเทราตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2538 เป็นต้นไป หากต่อมาโจทก์ไม่ว่าจ้างจำเลยโจทก์จะจ่ายค่าจ้างให้แก่จำเลยเป็นรายวัน แต่ถ้าตกลงว่าจ้างโจทก์จะคิดค่าจ้างให้เป็นรายเดือนและถือว่าเป็นการปฏิบัติตามสัญญาปรากฏว่าจำเลยได้ส่งพนักงานของจำเลยเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในอาคารดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2538 ตามข้อตกลงจากข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยปฏิบัติต่อกันเช่นนี้เท่ากับโจทก์และจำเลยได้ตกลงกันใหม่โดยผ่อนผันไม่ต้องทำสัญญาเป็นหนังสือต่อกันเป็นการชั่วคราวและสัญญาดังกล่าวไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือมิฉะนั้นเป็นโมฆะ จึงถือได้ว่าโจทก์และจำเลยมีสัญญาต่อกันแล้วโดยไม่มีข้อตกลงตามคำเสนอและเงื่อนไขการจ้างตามเอกสารหมาย จ.5 ดังนั้น เมื่อพนักงานของจำเลยไม่สามารถรักษาความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินภายในอาคารที่พักตามสัญญา จำเลยจึงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามเงื่อนไขการจ้าง ข้อ 4.1
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามฟ้องนั้นแม้ปัญหานี้จะเป็นปัญหาข้อเท็จจริงและต้องห้ามฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจวินิจฉัยให้เนื่องจากเป็นฎีกาที่เกี่ยวกันกับปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวข้างต้น อีกทั้งข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในสำนวนพอแก่การวินิจฉัยได้แล้ว ศาลฎีกาสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยใหม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงน่าเชื่อตามพยานหลักฐานของโจทก์ว่าโจทก์เสียหายเป็นเงิน 186,240 บาท จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 15 กันยายน 2538 ซึ่งเป็นวันผิดนัดเป็นต้นไปที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share