คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1416/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เหตุที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยคำพิพากษาหรือคำสั่งตามที่กล่าวไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 นั้น ศาลสูงจะหยิบยกขึ้นอ้างตามมาตรานี้ได้ จะต้องมีเหตุอันสมควร เช่นว่า ทำให้คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเสียหายในการต่อสู้คดีเป็นต้น
คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้รับคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ (มีคำฟ้องแย้งติดมาด้วย) โดยมิได้ให้โอกาสแก่โจทก์เป็นระยะเวลาตามที่มาตรา 181 กำหนดไว้นั้น ถ้าโจทก์ไม่พอใจก็ชอบที่จะคัดค้านไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 แต่กลับปรากฏว่าโจทก์ยื่นคำแก้คำให้การเพิ่มเติมและฟ้องแย้ง แสดงว่าโจทก์ไม่ติดใจแม้ในอุทธรณ์ของโจทก์ก็มิได้กล่าวถึงเรื่องนี้ รูปคดีไม่น่าจะเห็นว่าทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงเป็นเรื่องที่ศาลอุทธรณ์ไม่ควรหยิบยกเหตุนี้ขึ้นสั่งยกเลิกกระบวนพิจารณาบางส่วนของศาลชั้นต้น
คำฟ้องแย้งที่ติดมากับคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การนั้นไม่ใช่คำร้องที่อยู่ในบังคับที่จะต้องส่งสำเนาให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้าก่อนสั่งรับคำร้องนั้น
คำสั่งศาลที่ให้รับคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา

ย่อยาว

ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับปัญหากฎหมายนี้มีว่า โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดระยองกล่าวความว่า จำเลยตกลงซื้อที่ดินพร้อมอาคารจากโจทก์ ในราคา 20,000 บาท ชำระในวันทำสัญญา 4,000 บาท อีก 16,000 บาทจะชำระในวันครบประกาศขาย 30 วัน จำเลยได้รับมอบทรัพย์ให้ครอบครองครบกำหนดแล้วจำเลยไม่ชำระส่วนที่ค้าง โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาและขอให้ขับไล่จำเลย

จำเลยยื่นคำให้การต่อสู้ว่า โจทก์มาขึ้นราคาเป็น 25,000 บาทในตอนหลังจำเลยจึงยังไม่ชำระ แต่ก่อนวันชี้สองสถาน จำเลยขอแก้คำให้การเป็นว่า โจทก์ได้ตกลงขายกับจำเลยใหม่ในราคา 16,000 บาทเท่านั้น ยังค้างอยู่อีก 12,000 บาท จึงฟ้องแย้งขอให้โจทก์รับเงินที่เหลือนั้น ศาลสั่งรับคำร้องและสำเนาให้โจทก์แก้ โดยมิได้สั่งให้โจทก์คัดค้าน 3 วัน และมิได้นัดพิจารณาคำร้องนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 181(1) ซึ่งเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 แต่โจทก์ก็มิได้ว่ากระไร กลับยื่นคำแก้คำร้องเพิ่มเติมคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลย

ศาลชั้นต้นฟังตามที่จำเลยอ้าง พิพากษาให้โจทก์แพ้

โจทก์อุทธรณ์ว่าเป็นดังที่ตนกล่าวอ้างโดยมิได้เท้าความถึงเรื่องคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งให้รับคำร้องขอแก้คำให้การ

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยอมรับคำร้องแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การโดยมิได้นัดพิจารณาคำร้องและส่งสำเนาให้โจทก์ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน ซึ่งคำร้องอย่างนี้ไม่ใช่คำร้องฝ่ายเดียว เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 181 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 ศาลอุทธรณ์จึงให้ยกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาส่วนนี้เสีย ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาส่วนนี้เสียใหม่ จำเลยจึงได้ฎีกาขึ้นมา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งรับการขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การนั้น เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา หากศาลชั้นต้นสั่งโดยมิชอบ โจทก์ก็ชอบที่จะคัดค้านคำสั่งนั้นติดสำนวนไว้ หาไม่ก็ย่อมจะยกปัญหานี้ขึ้นในชั้นอุทธรณ์ในภายหลังไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 226 วรรค 2 และศาลฎีกากล่าวด้วยว่า คำฟ้องแย้งที่ติดมากับคำให้การนั้น ไม่ใช่คำร้องที่อยู่ในบังคับที่จะต้องส่งสำเนาให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้าก่อนสั่งรับ แล้ววินิจฉัยต่อไปว่า ในคดีนี้ไม่ปรากฏว่าโจทก์ติดใจคัดค้านในเรื่องแก้ไขเพิ่มเติมนี้ กลับแสดงให้เห็นว่าโจทก์ต้องการให้ศาลชี้ขาดในประเด็นที่ตนกล่าวอ้างและต่อสู้ไว้ เมื่อรูปคดีไม่น่าจะทำให้โจทก์เสียเปรียบในการต่อสู้คดี ก็ไม่มีเหตุอันสมควรที่ศาลอุทธรณ์จะพึงใช้มาตรา 243 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเพื่อหยิบยกปัญหานี้ขึ้นมาเป็นเหตุยกเลิกกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น

พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่

Share