คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1119/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในคดีผิดสัญญาเช่าซื้อและค้ำประกัน ศาลสั่งให้โจทก์ส่งต้นฉบับสัญญาต่อศาลเพื่อให้จำเลยตรวจดูก่อนจำเลยให้การ โจทก์ยื่นคำแถลงว่ายังหาต้นฉบับไม่พบ เพราะหลงไปปะปนอยู่กับเรื่องอื่น คงพบแต่สำเนา จะได้ขอนำเข้าสืบแทนต้นฉบับ จำเลยมิได้โต้แย้งอย่างใด ต่อมาศาลรับฟังสำเนาสัญญานั้นเมื่อโจทก์นำเข้าสืบก็เท่ากับศาลอนุญาตให้นำสำเนาเอกสารมาสืบได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93 (2)
สำเนาของเอกสารที่อ้างไว้ในคดีเรื่องหนึ่งแล้ว คู่ความอ้างมาเป็นพยานในคดีอีกเรื่องหนึ่งโดยชอบ ศาลย่อมรับฟังได้
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถไปจากโจทก์โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน แล้วนำสืบว่าจำเลยทำสัญญากับ อ. ตัวแทนของโจทก์ ดังนี้ ไม่เป็นการสืบแตกต่างกับฟ้องหรือนอกฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ได้เช่าซื้อรถยนต์นิสสันดีเซล ไปจากโจทก์ โดยได้ชำระค่าเช่าซื้อในวันทำสัญญาจำนวนหนึ่ง ส่วนที่เหลือจะผ่อนชำระทุกเดือน นับแต่เช่าซื้อไปแล้ว จำเลยที่ ๑ ไม่ชำระค่าเช่าซื้อตรงตามสัญญา คงชำระเพียง ๓ ครั้งเท่านั้น โจทก์จึงไปรับรถคืน ส่วนจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกัน จึงขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระกับดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายในการไปรับรถคืน
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของรถคันที่ฟ้อง จำเลยที่ ๑ ไม่เคยทำสัญญาเช่าซื้อรถดังกล่าวกับโจทก์ สำเนาสัญญาเช่าซื้อท้ายฟ้องไม่ถูกต้องตามต้นฉบับ จำเลยเคยทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์นิสสัน ดีเซลไปจากนางอุษา พรประภา เจ้าหน้าที่ของโจทก์ ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงกับนางอุษา ตลอดมา ค่าใช้จ่ายในการไปรับรถคืนนั้นจำเลยไม่รับรอง จำเลยที่ ๒ ให้การด้วยว่าไม่เคยค้ำประกันจำเลยที่ ๑ กับโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า
ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์นำสืบไม่สมฟ้องเพราะโจทก์ไม่มีต้นฉบับสัญญามาแสดงต่อศาล และโจทก์มีแต่นางอุษาคนเดียวเป็นพยาน นั้น คดีนี้โจทก์ยื่นคำแถลงก่อนจำเลยให้การว่า ตามที่ศาลสั่งให้โจทก์ส่งต้นฉบับเอกสารสัญญาเช่าซื้อต่อศาลเพื่อให้จำเลยตรวจดูก่อนยื่นคำให้การนั้น เนื่องจากต้นฉบับดังกล่าวยังค้นหาไม่พบ เพราะได้เคยนำออกแสดงแก่จำเลย และเป็นเวลาที่เจ้าหน้าที่ของโจทก์กำลังปฏิบัติงานยุ่งอยู่กับลูกค้ารายอื่น จึงหลงไปปะปนกับเรื่องอื่น คงพบแต่สำเนา จะได้ขออนุญาตนำสำเนาสืบแทนต้นฉบับ ศาลชั้นต้นให้จำเลยทราบ จำเลยมิได้โต้แย้งอย่างไร เห็นว่าที่โจทก์อ้างว่าส่งต้นฉบับสัญญาเช่าซื้อและค้ำประกันเป็นพยานไม่ได้นี้ ก็เพราะต้นฉบับหาไม่พบ ทั้งโจทก์มีพยานเบิกความยืนยันว่าสำเนาเอกสารนี้ได้คัดมาถูกต้องตรงกับต้นฉบับ และกรรมการบริษัทโจทก์ลงชื่อรับรองความถูกต้องมาแล้ว จำเลยมิได้สืบปฏิเสธความถูกต้องแต่อย่างใด จึงรับฟังสำเนาเอกสารเป็นพยานหลักฐานได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๙๓ (๒) ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์จะต้องขออนุญาตจากศาลเสียก่อน จึงจะสืบสำเนาและพยานบุคคลได้นั้น โดยได้ยื่นคำแถลงแสดงเหตุจำเป็นที่ส่งต้นฉบับเอกสารเป็นพยานไม่ได้ก่อนสืบพยานแล้ว การที่ศาลยอมรับฟังสำเนาเอกสารก็เท่ากับศาลอนุญาตให้นำสำเนาเอกสารหรือพยานบุคคลมาสืบได้ ไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๙๓ (๒)
สัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันที่จำเลยทำไว้กับบริษัทโจทก์นั้น นางอุษา พรประภา กรรมการคนเดียวเป็นผู้ลงชื่อในนามของโจทก์ ในการนี้โจทก์มีหนังสือแต่งตั้งนางอุษา เป็นผู้มีอำนาจทำนิติกรรมต่าง ๆ ผูกพันบริษัทโจทก์ได้ ปรากฏตามเอกสาร จ. ๒ ฉะนั้นการที่นางอุษา ลงชื่อในสัญญาจึงมีอำนาจทำการแทนบริษัทโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาริชย์ มาตรา ๗๙๘ และแม้จะเป็นสำเนาของเอกสารที่อ้างไว้ในคดีอื่นโจทก์ก็ได้อ้างมาเป็นพยานในคดีนี้โดยชอบ ศาลจึงรับฟังได้
ตามฟ้อง โจทก์ว่าจำเลยที่ ๑ เช่าซื้อรถไปจากโจทก์โดยจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกันแล้วโจทก์นำสืบว่า จำเลยทำสัญญากับนางอุษา ตัวแทนโจทก์ โดยนางอุษาเป็นตัวแทนมีอำนาจทำสัญญาตามหนังสือแต่งตั้งจากบริษัทโจทก์ ก็เท่ากับนำสืบตามฟ้องว่าโจทก์ให้นางอุษาเป็นคู่สัญญากับจำเลย ไม่เป็นการสืบแตกต่างกับฟ้องหรือนอกฟ้อง
ในที่สุดศาลฎีกาพิพากษายืน

Share