แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การร้องขอกันส่วนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 จะต้องเป็นกรณีที่มีการบังคับคดีหรือบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของผู้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา แต่คดีเรื่องนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งห้าฟ้องคดีมรดกและศาลพิพากษาให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกของ ต. แก่โจทก์ทั้งห้าตามส่วน เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตาม โจทก์ทั้งห้าจึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันตามคำพิพากษา อันเป็นการดำเนินการเพื่อแบ่งทรัพย์สินในฐานะเจ้าของรวมที่ได้รับมรดกร่วมกันเท่านั้น โจทก์ทั้งห้าและจำเลยหาใช่เจ้าหนี้หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อกันไม่ และมิใช่เป็นการยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อบังคับเอาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแต่อย่างใด ดังนั้น หากผู้ร้องเป็นทายาทคนหนึ่งของ ต. จริง ก็ชอบที่จะร้องสอดเข้ามาในคดีเพื่อขอรับส่วนแบ่งทรัพย์มรดกเสียตั้งแต่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1749 กรณีไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 ที่ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอกันส่วนในชั้นบังคับคดีได้ ส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์มรดกของ ต. ส่วนที่ตกได้แก่จำเลย ซึ่งผู้ร้องฎีกาว่าผู้ร้องมีสิทธิได้รับ 1 ใน 9 ส่วน เนื่องจากจำเลยถึงแก่ความตายนั้น ก็เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องจัดทำบัญชีส่วนเฉลี่ยและจ่ายเงินให้แก่โจทก์ทั้งห้าและกองมรดกของจำเลยต่อไปตามนัยที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 319 ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอรับส่วนแบ่งเงินดังกล่าวในชั้นนี้โดยอาศัย ป.วิ.พ. มาตรา 287 ไม่ได้เช่นเดียวกัน
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายตาม ชูวงศ์ ผู้ตาย แบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 3977 ตำบลตลาดใหญ่ (สั้นใน) อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ให้แก่โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 5 คนละ 3.1 ตารางวา และเงินคนละ 10,000 บาท ให้โจทก์ที่ 2 จำนวน 1 ใน 4 ของที่ดินดังกล่าว เนื้อที่ 3.1 ตารางวา ส่วนที่ตกได้แก่นายเติม ชูวงศ์ และเงิน 2,500 บาท หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา หากแบ่งไม่ได้ให้ขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวนำเงินมาแบ่งปันกัน จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์จึงขอให้บังคับคดี และนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 3977 ตำบลตลาดใหญ่ (สั้นใน) อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ออกขายทอดตลาด
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นทายาทโดยเป็นบุตรคนหนึ่งในจำนวน 9 คน ของนายตาม ชูวงศ์ เจ้ามรดก กับจำเลยซึ่งเป็นภริยาของนายตาม ผู้ร้องมีสิทธิรับมรดกของนายตาม 1 ใน 10 ส่วน เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกในคดีนี้ไปในราคา 980,000 บาท หักค่าธรรมเนียมแล้วคงเหลือเงินสุทธิที่ได้จากการขายทอดตลาด 931,000 บาท ผู้ร้องจึงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเป็นเงิน 93,100 บาท และเนื่องจากเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2543 จำเลยถึงแก่ความตายเงินจำนวน 93,100 บาท ที่จำเลยมีสิทธิได้รับจึงเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทของจำเลยซึ่งผู้ร้องมีสิทธิได้รับ 1 ใน 9 ส่วน เป็นเงิน 10,344 บาท ขอให้มีคำสั่งแบ่งเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดให้แก่ผู้ร้องในฐานะเจ้าของรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 103,344 บาท ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีตามคำร้องไม่เข้าหลักเกณฑ์เรื่องขอกันส่วน ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “การร้องขอกันส่วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 จะต้องเป็นกรณีที่มีการบังคับคดีหรือบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของผู้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา แต่คดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งห้าฟ้องคดีมรดกและศาลพิพากษาให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกของนายตามแก่โจทก์ทั้งห้าตามส่วน เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตาม โจทก์ทั้งห้าจึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันตามคำพิพากษา อันเป็นการดำเนินการเพื่อแบ่งทรัพย์สินในฐานะเจ้าของรวมที่ได้รับมรดกร่วมกันเท่านั้น โจทก์ทั้งห้าและจำเลยหาใช่เจ้าหนี้หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อกันไม่ และมิใช่เป็นการยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อบังคับเอาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแต่อย่างใด ดังนั้น หากผู้ร้องเป็นทายาทคนหนึ่งของนายตามจริง ก็ชอบที่จะร้องสอดเข้ามาในคดีเพื่อขอรับส่วนแบ่งทรัพย์มรดกเสียตั้งแต่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1749 กรณีไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 ที่ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอกันส่วนในชั้นบังคับคดีได้ ส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์มรดกของนายตาม ส่วนที่ตกได้แก่จำเลย ซึ่งผู้ร้องฎีกาว่าผู้ร้องมีสิทธิได้รับ 1 ใน 9 ส่วน เนื่องจากจำเลยถึงแก่ความตายนั้น ก็เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องจัดทำบัญชีส่วนเฉลี่ยและจ่ายเงินให้แก่โจทก์ทั้งห้าและกองมรดกของจำเลยต่อไปตามนัยที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 319 ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอรับส่วนแบ่งเงินดังกล่าวในชั้นนี้โดยอาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 ไม่ได้เช่นเดียวกัน ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาต้องกันมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน